"การแพทย์จีโนมิกส์" เตรียมดันเข้าสู่บริการ “มะเร็งรังไข่-มะเร็งลำไส้”

"การแพทย์จีโนมิกส์" เตรียมดันเข้าสู่บริการ “มะเร็งรังไข่-มะเร็งลำไส้”

กรมการแพทย์ เตรียมดันการแพทย์จีโนมิกส์ เข้าสู่บริการ “มะเร็งรังไข่-มะเร็งลำไส้” พร้อมเดินหน้า “จีโนมิกส์ ไทยแลนด์”ระยะ 2 ถอดรหัสพันธุกรรมคนไทยอีก 50,000 ราย

นพ.สกานต์ บุญนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวภายในการสัมมนาวิชาการด้านจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ (GENOMICS AND PRECISION MEDICINESEMINAR 2024) จัดโดยกรมการแพทย์ เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ขณะนี้ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยนำเรื่องการแพทย์จีโนมิกส์ มาใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น  การถอดรหัสพันธุกรรม สามารถบอกความเสี่ยงก่อโรคต่างๆ อย่างโรคมะเร็ง หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก็สามารถบอกว่าเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย ซึ่งเมื่อทราบข้อมูลตรงนี้ในระยะยาวจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอย่างมาก 

“ปัจจุบันการใช้ประโยชน์การแพทย์จีโนมิกส์ เช่น การประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านม จากยีน BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งอยู่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาทแล้ว สามารถตรวจได้ในโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ตามแต่ละจังหวัดทั่วประเทศแล้ว  นอกจากนี้ จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ ยังช่วยในการบอกยามุ่งเป้าสำหรับมะเร็งเต้านมอีกด้วย และในอนาคตอันใกล้กรมเตรีบมจะผลักดันใช้ประโยชน์ในโรคอื่นๆ เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ เป็นต้น” นพ.สกานต์ กล่าว

ด้าน รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวว่า  ที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินโครงการ จีโนมิกส์ไทยแลนด์ (Genomics Thailand) เป็นโครงการวิจัยด้านสุขภาพที่รวบรวมฐานข้อมูลพันธุกรรมขนาดใหญ่ของคนไทย ผ่านระยะแรกไปแล้วด้วยการเก็บข้อมูลเป้าหมาย 50,000 ราย จากนี้จะดำเนินการในระยะที่ 2  อีกจำนวน 50,000 ราย ขณะนี้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) อยู่ระหว่างการเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี( ครม.)

“หลังจบโครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ระยะที่ 2 จะทำให้มีข้อมูลพันธุกรรมของคนไทยรวม 100,000 ราย ถือว่ามีจำนวนมากเกือบเท่ากับข้อมูลจีโนมิกส์ของอังกฤษที่มี 110,000 ราย ถือ เป็นก้าวสำคัญของไทยในการทำข้อมูลด้านพันธุกรรมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต” รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจีโนมิกส์ไทยแลนด์ระยะที่ 1 ข้อมูล ณ ม.ค.2567 ดำเนินการแล้ว  44,264 ราย  ในผู้ป่วย 5 กลุ่มโรค แยกเป็น โรคหายาก 16,259 ราย โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 13,153 ราย โรคมะเร็ง 8,727 ราย โรคติดเชื้อ 2,875 ราย  ผู้ป่วยแพ้ยา 2,619  ราย และอื่นๆ