"ชินวัตร" รีเทิร์น รีแบรนด์ “30 บาท” #3 บริหารงบ" หลักประกันสุขภาพทุกสิทธิ"

"ชินวัตร" รีเทิร์น รีแบรนด์ “30 บาท” #3 บริหารงบ" หลักประกันสุขภาพทุกสิทธิ"

20 ปี “30 บาทรักษาทุกโรค” ช่วยครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากจ่ายค่ารักษาพยาบาล ลดลงเหลือเพียง 1.78 % แต่ยังมี 4 ปัญหาอุปสรรคสำคัญที่กำลังเผชิญ หนึ่งในแนวทางแก้ปัญหา มีการเสนอเรื่องมอบให้ “บอร์ด สปสช.บริหารงบประมาณหลักประกันสุขภาพของทุกคนทุกสิทธิ”

KEY

POINTS

  • "30 บาทรักษาทุกโรค" 20 ปีช่วยครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยในปี  2531 ก่อนมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ที่ 709,000 ครัวเรือน(7.94%) เหลือ 418,600 ครัวเรือน (1.78%)
  • “ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค” ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2564-2567 ดำเนินการ 5 นโยบายสำคัฐ มุ่งเน้นเรื่อง “รักษาที่ไหนก็ได้” ล่าสุดปี 2567 “30 บาท รักษาทุกที่ บัตรประชาชนใบเดียว”
  • 30 บาทรักษาทุกโรค วิเคราะห์กำลังเผชิญ  4 ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ หนึ่งในแนวทางของการแก้ปัญหามีการพูดถึงเรื่อง “การเสนอ ครม.ให้มอบหมายให้บอร์ด สปสช.บริหารจัดการงบประมาณสำหรับประชากรไทยทุกคนทุกสิทธิ ปูทางสู่ประเทศไทยมี “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือUHC”

“กรุงเทพธุรกิจ” นำเสนอมาแล้ว 2 ตอนสำหรับ “ชินวัตร” รีเทิร์น รีแบรนด์ “30 บาท” เกี่ยวกับข้อเสนอแนวทางการพัฒนาปรับปรุง “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค” โดยเฉพาะมิติที่ต้องอาศัยการขับเคลื่อน ผลักดันจากภาคการเมือง เนื่องจากที่ “แพทองธาร ชินวัตร”เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นลูกสาวของ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้ที่เคยใช้นโยบาย “30บาทรักษาทุกโรค” หาเสียงจนได้คะแนนนิยมถล่มทลายมาแล้ว   

ในตอนที่ 3 เป็นการวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และข้อเสนอต่อแนวทางแก้ไข  

30 บาทรักษาทุกโรค ลดวิกฤติการเงิน

ช่วงปี  2531 ก่อนที่จะมีการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ครัวเรือนที่เจอวิกฤติทางการเงินจากจ่ายค่ารักษาพยาบาล อยู่ที่ 709,000 ครัวเรือน คิดเป็น 7.94% ในปี 2545 ที่มี 30 บาท อยู่ที่663,000 ครัวเรือน คิดเป็น 4.06 % และในปี 2565 เหลือ 418,600 ครัวเรือน คิดเป็น 1.78%

นอกจากนี้ ยังทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการ การรักษาพยาบาลได้มาก และครอบคลุมขึ้น ผ่านการเพิ่มสิทธิประโยชน์ และการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย  ในปีงบประมาณ 2566 ผู้มีสิทธิ 47.218 ล้านคน ได้ลงทะเบียนสิทธิ 46.934 ล้านคน คิดเป็นความครอบคลุม 99.40 % ได้รับการจัดสรรงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 204,140.03 ล้านบาท คิดเป็น 6.41% ของงบประมาณประเทศ อัตราเงินเหมาจ่ายรายหัว  3,385  บาทต่อคนต่อปี

  • ผู้ป่วยใช้บริการผู้ป่วยนอก  170.39 ล้านครั้ง อัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอก 3.628 ครั้ง/คน/ปี  
  • ใช้บริการผู้ป่วยใน 6.094 ล้านครั้ง อัตราการใช้บริการผู้ป่วยใน  0.130 ครั้ง/คน/ปี
  •  ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรักษา ผู้รับบริการยื่นคำร้อง 1,558 คน เข้าเกณฑ์ 1,206 คน วงเงินชดเชยราว 282 ล้านบาท
  • ขณะที่ผู้ให้บริการยื่นคำร้อง  31,684 คน เข้าเกณฑ์ 22,096 คน วงเงินชดเชยราว 169.7 ล้านบาท ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดจากติดโควิด98.35%

4 ปี 5 นโยบายยกระดับ 30 บาท

ระหว่างปี 2564-2567 มีการ “ยกระดับ 30 บาท”ด้วยนโยบายสำคัญ 5 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ ได้แก่

1.OP anywhere หรือรับบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ ระหว่างปี  2564-2566 มีการรับบริการ 1,552,653 คน 2,844,083 ครั้ง  ในหน่วยบริการ4,076 แห่ง

2.IP anywhere หรือผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ระหว่างปี 2564-2566  ได้รับบริการ 3,864,424 ครั้ง คิดเป็น 36.52 %ของจำนวนบริการผู้ป่วยใน

3.CA anywhere หรือโรคมะเร็งรับบริการที่ไหนก็ได้ โดยปี 2564 ผู้ป่วยรับบริการ 141,622 คน ปี 2565 ผู้ป่วยรับบริการ 201,061 คน และปี 2566 ผู้ป่วยรับบริการ 251,177 คน

4.ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน  ระหว่างปี  2564-2566 มีการเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ 4,908,129 ครั้ง การใช้สิทธิทันทีภายใน 1 วัน 21.88%  ใช้สิทธิภายใน 2-7 วัน  2.06 % ใช้สิทธิภายใน8-14 วัน 1.38 %
และ5.รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เริ่มในปี 2567 ระยะที่ 1 นำร่อง 4 จังหวัด ระยะที่ 2 เพิ่มเป็นครอบคลุม 12 จังหวัด  

ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 3 ครอบคลุม 46 จังหวัด โดย30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพ จะเป็นจังหวัดที่ 46 รอการเปิดคิกออฟอย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อรัฐบาลชุดใหม่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว และระยะที่ 4 ดำเนินการในอีก 31 จังหวัดที่เหลือ ตามแผนจะให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2567

4 อุปสรรคดำเนินงาน 30 บาทรักษาทุกโรค

อย่างไรก็ตาม ในรายงานการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 มีการวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ระบุไว้ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.มีการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อแนวทางการจัดบริการด้านสุขภาพ และการบริหารจัดการงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ทั้งในระดับรัฐบาล หน่วยงาน และครัวเรือนเพิ่มขึ้น  

2.มีความไม่ชัดเจนทางกฎหมาย ประเด็นการจ่าย ชดเชยบริการสิทธิNonUC ที่ต้องรอความชัดเจน ในทางปฏิบัติทำให้การใช้จ่ายงบประมาณกองทุน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามแผนที่ 1313 กำหนด

3.ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่ร่วมขับเคลื่อนระบบ หลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ ซึ่ง ทุกเครือข่ายได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีแต่ การทำงานยังเป็นรูปแบบเดิม จำเป็นต้องปรับ ให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของ ประชาชน

และ4.เทคโนโลยีที่มีอยู่และการเชื่อมโยงข้อมูลกับ หน่วยงานต่างๆ ยังมีข้อจำกัด ทำให้การใช้ ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ สำหรับประชาชน หน่วยบริการ และการประเมินผลลัพธ์ระบบ หลักประกันสุขภาพ มีความก้าวหน้าค่อนข้างน้อย

สปสช.บริหารงบฯ ประกันสุขภาพทุกสิทธิ

สำหรับแนวทางของการแก้ปัญหามีการระบุไว้หลายส่วน อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนฯ ด้วยการพัฒนาการยืนยันตัวตนเข้ารับบริการ ตรวจสอบการเบิกจ่ายแบบ Real Time ใช้ปัญญาประดิษฐ์ตรวจสอบการจ่ายชดเชย (AIAudit) ,พัฒนารูปแบบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการที่ถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพื่อ ลดความเสี่ยง และปัญหาทางการเงินของหน่วย บริการ , พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยี นวัตกรรมขั้นสูงเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและรักษาพยาบาล

รวมถึง เสริมสร้างความเข้มแข็ง ขยายเครือข่าย และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีเครือข่ายทุก ภาคส่วนที่ร่วมขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพ และบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศและการบริหาร จัดการBig data เพื่อให้มีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ในการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง

ที่สำคัญคือ การให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช)เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)มอบหมายให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ ครม.มอบหมายตามมาตรา 18 (14) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้บริหารจัดการงบประมาณสำหรับประชากรไทยทุกคนทุกสิทธิ โดยครอบคลุม “กลุ่มที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทอง 30บาท (NonUC)”ด้วย

สปสช.ไม่ได้ดูแล แต่ 30 บาทรักษาทุกโรค

หากเป็นเช่นนั้น “สปสช.”จะเป็นหน่วยงานบริหารงบประมาณประกันสุขภาพของประเทศที่มีอยู่ราว 12 สิทธิ รวมถึง กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐที่ใหญ่ 2 กองทุน อย่างสวัสดิการข้าราชการ ผู้มีสิทธิในปี 2566 ราว 5.3 ล้านคน  มีกรมบัญชีกลางดูแล และประกันสังคมที่มีอยู่ราว 12.85 ล้านคน มีสำนักงานประกันสังคมดูแลด้วยหรือไม่?
ส่วนสิทธิหลักประกันสุขภาพอื่น อย่างเช่น  บุคคลที่มีปัญหาสถานะ และสิทธิราว 718,732  คน,สิทธิพนักงานส่วนท้องถิ่น ราว 681,009 คน ,สิทธิครูเอกชน ราว81,319 คน  และคนไทยในต่างประเทศ ราว10,432 เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน สปสช.ก็ให้การดูแลสิทธิเหล่านี้แล้ว

\"ชินวัตร\" รีเทิร์น รีแบรนด์ “30 บาท” #3 บริหารงบ\" หลักประกันสุขภาพทุกสิทธิ\"
ขณะที่ในส่วนของการให้บริการเรื่องของ “การส่งเสริมป้องกันโรค” ก็มีการตีความกฎหมายให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถให้บริการเรื่องนี้แก่ “คนไทยทุกคนทุกสิทธิ” และดำเนินการแล้วเช่นกัน โดยในปีงบฯ 2566 มีเงินส่วนนี้ราว 21,381 ล้านบาทใช้สำหรับคนไทยทุกคน 
      แนวทางนี้สอดรับกับความหวังของภาคประชาสังคมในตอนที่ 2 “ชินวัตร” รีเทิร์น รีแบรนด์ “30 บาท” ที่อยากจะให้ประเทศไทยเกิด “หลักประกันสุขภาพระบบเดียว” เกิดเป็น “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือUHC”

30 บาทรักษาทุกโรคร่วมจ่าย ได้ 2 กรณี

ทว่า ข้อเสนอจากผู้ให้บริการ ในตอนที่ 1 ชินวัตร  รีเทิร์น รีแบรนด์ “30 บาท” ซึ่งมองว่า “ถึงเวลาที่จะให้ผู้ป่วยมีสิทธิร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในส่วนเกินจากสิทธิที่ได้รับฟรี เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากขึ้น” นั้น

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เคยกล่าวไว้ว่า  ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.หลักประกันฯ ระบุถึงการร่วมจ่ายค่าบริการรายครั้งตามที่บอร์ดสปสช.กำหนด ซึ่งปัจจุบันกำหนด 30 บาท นอกจากนี้ ยังสามารถทำได้ในการจ่ายเพิ่มการบริการที่เป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวก เช่น ห้องพิเศษ ซึ่งไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์พื้นฐาน เป็นต้น 
“กฎหมายมีความประสงค์ในเรื่องการร่วมจ่าย ต้องเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ส่วนการจ่ายร่วมในเรื่องการรับบริการรักษาพยาบาลเพิ่ม หรือจ่ายเพิ่มเลือกเทคโนโลยีการรักษาจะทำไม่ได้ ยกเว้นจำเป็นต่อการรักษา ซึ่งแพทย์ต้องวินิจฉัย” นพ.จเด็จ กล่าว 

อ่านเพิ่มเติม :

"ชินวัตร" รีเทิร์น รีแบรนด์ “30 บาท” #1 ถึงเวลาควรให้ผู้ป่วยมีสิทธิร่วมจ่าย
“ชินวัตร” รีเทิร์น รีแบรนด์ “30บาท” #2 ต้องครอบคลุม “ทุกคนบนแผ่นดินไทย”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์