ผลงานเด่น“ขบวนการแพทย์ชนบท” จนได้รับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024
“ขบวนการแพทย์ชนบท” ประเทศไทย ได้รับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024 จากการขับเคลื่อนงานอย่างยาวนานครึ่งศตวรรษ ผลงานเด่น 3 เรื่องสำคัญ สร้างระบบสาธารณสุขทั่วถึง ,สร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเฝ้าระวังป้องกันการคอร์รัปชัน
KEY
POINTS
- “ขบวนการแพทย์ชนบท” ประเทศไทย ได้รับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024 จากการขับเคลื่อนงานอย่างยาวนานครึ่งศตวรรษ
- ผลงานเด่น “ขบวนการแพทย์ชนบท” 3 เรื่องสำคัญ สร้างระบบสาธารณสุขทั่วถึง ,สร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเฝ้าระวังป้องกันการคอร์รัปชัน
- ชมรมแพทย์ชนบท เผย"ขบวนการแพทย์ชนบท" ขับเคลื่อนต่อเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้เข้มแข็ง
รางวัลแมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award) เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้มีผลงานดีเด่นต่อมนุษยชาติในทวีปเอเชีย เริ่มให้รางวัลตั้งแต่ปีค.ศ.1957 เพื่อระลึกถึงคุณความดีและความตั้งใจของประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ แห่งประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในปี 2024 “ขบวนการแพทย์ชนบท” ประเทศไทยได้รับรางวัลนี้ นับเป็นบุคคล/องค์กรรายที่ 25 ของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลนี้ โดยจะเข้ารับรางวัลในวันที่ 16 พ.ย.2567 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
นิยามขบวนการแพทย์ชนบท
นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวว่า รางวัลนี้มอบให้ “ขบวนการแพทย์ชนบท” ซึ่งนิยามว่ากลุ่มคนจำนวนมากมุ่งพัฒนาทำงานเพื่อการสาธารณสุขในชนบท ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่
1.แพทย์ชนบท ผู้ที่ออกไปทำงานในชนบท ซึ่งมีมายาวนานรุ่นบุกเบิกน่าจะราวปี 2498-2499 โดยในปี 2519 ได้ก่อตั้งสหพันธ์แพทย์ชนบท ปี2521 เปลี่ยนชื่อเป็นชมรมแพทย์ชนบท และปี 2525 ก่อตั้งมูลนิธิแพทย์ชนบท
2.ผู้เข้าใจและสนับสนุนแพทย์ชนบททั้งในภาครัฐและโรงเรียนแพทย์ ที่เป็นแนวร่วมอย่างกว้างขวาง
3.ภาคประชาสังคมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องและร่วมขับเคลื่อน
“การทำงานขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขของขบวนการแพทย์ชนบท ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน แต่มีการดำเนินงานอย่างต่อเรื่องมาครึ่งศตวรรษ”นพ.วิชัยกล่าว
3 ผลงานสำคัญ ขบวนการแพทย์ชนบท
ผลงานสำคัญที่มีการระบุไว้ในการได้รับรางวัล 3 เรื่อง ประกอบด้วย
1.ความพยายามอย่างยาวนานในการสร้างระบบสาธารณสุขจนกระทั่งทั่วถึงทั้งประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้งบประมาณสถานีอนามัยขั้น 1 หรือรพ.อำเภอตอนนั้นได้ 10,000 บาทต่อปี ดูแลประชากรราว 80,000 คน เฉลี่ยได้ 13สตางค์ต่อคนต่อปี จนสมัยม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับงบฯเพิ่มเป็น 4 แสนบาท เฉลี่ย 50บาทต่อคนต่อปี
โดยพยายามให้เกิดวิธีจัดสรรที่เป็นธรรมด้วยการผลักดันให้สร้างรพ.ทุกอำเภอ สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ชมรมแพทย์ชนบทได้ร่วมลงชื่อเสนอให้ศ.นพ.เสริม พริ้งพวงแก้วเป็นรมว.สธ. และรัฐบาลได้ประกาศนโยบายให้สร้างรพ.ทุกอำเภอและสถานีอนามัยทุกตำบลทั่วประเทศ
2.เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เพราะต้องการที่จะทำลายกำแพงการเงินในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลของประชาชน
3.การต่อต้านการทุจริต ด้วยเพราะงบประมาณประเทศมีจำกัด โดยการเปิดโปงทุจริตยา 1,400 ล้านบาท และโครงการไทยเข้มแข็ง
การพัฒนาระบบสุขภาพไทย
ขณะที่ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวว่า การพัฒนาระบบสุขภาพไทย ประเด็นแรก การพัฒนาในช่วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมามีการสร้างและพัฒนาเครือข่ายออกไปทั้งในและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่และนอกพื้นที่ชุมชนชนบท แต่ยังคงสนับสนุนระบบสุขภาพชนบทและรับใช้ขุมชน สังคมในระดับปฏิบัติงานในพื้นที่จนมาถึงการขับเคลื่อนในระดับนโยบาย
ประเด็นที่ 2 พัฒนาการของระบบสุขภาพไทยมีความก้าวหน้าไปมาก มีความมั่นคงด้านสุขภาพอยู่ในแถวหน้าของโลกมีอย่างน้อย 3 ปัจจัย คือ การปฏิรูปโครงสร้างครั้งสำคัญในกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในปี 2517 บูรณาการงานรักษาพยาบาลเข้ากับงานส่งเสริมป้องกันฟื้นฟู เกิดเป็นเอกภาพ ,ระบบสุขภาพมูลฐานที่เข้มแข็ง เช่น มีอสม.ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคน และระบบงานด้านระบาดวิทยามีคุณภาพมาตรฐานสากล
ประเด็นสุดท้าย ทิศทางการปฏิรูปของระบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน
จากพื้นที่ผลักดันสู่นโยบาย
ด้านนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบทคนปัจจุบัน กล่าวว่า รางวัลนี้มอบให้กับขบวนการแพทย์ชนบทที่มีบทบาทการขับเคลื่อนมายาวนาน 48 ปีนับตั้งแต่ปี 2519 เกิดกลุ่มสหพันธ์แพทย์ชนบท และเปลี่ยนเป็นชมรมแพทย์ชนบทในปี 2521 จนถึงปัจจุบัน เป็นภาพของกลุ่มคนหลากหลายที่ทำงานในชนบท รวมถึงเครือข่ายวิชาชีพต่างๆ วิชาชีพสุขภาพ ภาคประชาชนและประชาสังคมที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ เกิดนโยบายที่สำคัญในแง่ของกฎหมาย 7 ฉบับ
เช่น พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ 2 ฉบับ ,พ.ร.บ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.),พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และพ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 เป็นต้น รวมถึง การต่อต้านการทุจริต
“ขบวนการแพทย์ชนบทครอบคลุมคนเป็นหมื่นๆคนที่ร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งมูลนิธิแมกไซไซบอกว่า ขบวนการแพทย์ชนบทสามารถนำรูปธรรมจากพื้นที่มาสู่การขับเคลื่อนนโยบายสำเร็จ เกิดเป็นกฎหมายและมีผลเคลื่อนทั่วประเทศ”นพ.สุภัทรกล่าว
ขับเคลื่อนระบบปฐมภูมิ
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า สิ่งที่จะมีการดำเนินการต่อไป ประเด็นสำคัญของชมรมแพทย์ชนบทที่ทำมาโดยตลอด คือ ลดความเหลื่อมล้ำ จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ส่วนกรณีการแก้ปัญหาเรื่องทุจริต เนื่องจากงบประมาณประเทศมีจำกัด เพราะฉะนั้น หากลดปัญหาคอร์รัปชั่นได้ ก็จะสามารถกระจายงบประมาณได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เป็น 2 เรื่องที่สำคัญ อย่างเช่น เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ หาวิธีในการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญจะทำเรื่องงานปฐมภูมิ เพื่อให้การใช้งบประมาณได้อย่างเหมาะสม เพราะว่าเริ่มต้นจากรากฐานที่แข็งแรง ทำให้บริการปฐมภูมิมีประสิทธิภาพ โรคยากๆซึ่งใช้ทรัพยากรสูงมากจะเกิดน้อยลง วิถีชีวิตของประชาชนเจริญมากขึ้นไป เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการไปเรื่อยตราบใดที่ยังมีการคนยากคนจนอยู่ในชนบท โดยต้องปรับให้มีรากฐานที่แข็งแรง หลังจากที่มีรากฐานทางการเงินการคลังที่แข็งแรงแล้ว จึงต้องปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สำหรับผลงานเด่นของขบวนการแพทย์ชนบท
1.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเทศไทยเริ่มมีโครงการสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย(สปน.)ให้รักษาฟรีตั้งแต่ 2524 แต่ยังเป็นการสงเคราะห์และครอบคลุมประชากรเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ขบวนการแพทย์ชนบทได้พยายามผลักดันแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในลักษณะที่เป็นสิทธิในการได้รับการดูแลจากรัฐ ไม่ใช่การสงเคราะห์
จนในปี 2543 นพ.สงวน นิตยารัมพงศ์และคณะได้เข้าไปนำเสนอแนวคิดกับพรรคการเมืองต่างๆ และพรรคไทยรักไทยให้ความสนใจ ในปี 2544 ได้นำมาผลิตเป็นนโยบาย 30บาทรักษาทุกโรค และผลักดันเกิดเป็นพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
2.เปิดโปงทุจริตยา 1,400 ล้าน ชมรมแพทย์ชนบทเริ่มเปิดโปงขบวนการทุจริตยา 1,400 ล้านบาท ในปี 2541 และรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มีนพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธานชี้ชัดว่ามีการทุจริต มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่มีนพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน สรุปหลักฐานว่ารพ.ต้องซื้อยาแพงกว่าปกติ 50-300 % ในพื้นที่ 34 จังหวัด ความเสียหายกว่า 181.7 ล้านบาท จนในที่สุด 28 ต.ค.2546 ศาลฎีกา แผนกคดีอาญานักการเมือง ได้ตัดสินจำคุกนักการเมืองอดีตรมว.สธ.เป็นเวลา 15 ปี
3.การทำซีแอลสิทธิบัตรยา ปี 2549 นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สธ.ได้ประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตร(Compu;sory Licensing:CL) ของยารักษาโรคเอดส์และยาละลายลิ่มเลือด รวม 3 รายการ ต่อมาในปี 2551 ได้ประกาศเพิ่มกับยาบำบัดโรคมะเร็ง อีก 4 รายการรวมเป็น 7 รายการ ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาเพื่อช่วยชีวิตและประหยัดงบประมาณได้ราว 1 แสนล้านบาท
4.โครงการไทยเข้มแข็ง ปี 2552 รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเงินกู้ โครงการ “ไทยเข้มแข็ง” โดยได้จัดสรรให้สธ.เป็นงบสิ่งก่อสร้างที่พักพยาบาล ครุภัณฑ์ทางการแพทย์หลายรายการ รวมงบประมาณที่ต้องกู้กว่า 86,000 ล้านบาท แต่ชมรมแพทย์ชนบทเห็นถึงสัญญาณบอกเหตุว่าจะมีการแสวงหาผลประโยชน์ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดรายการที่ไม่ตรงกับความต้องการของพื้นที่
โดยเฉพาะรายการก่อสร้างที่กำหนดราคาที่สูงเกินราคากลางสำนักงบประมาณ 30% จนรัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จนพบว่ามีมูลความจริงหลายประการ ส่งผลให้เหลืองบประมาณต้องกู้เพียง 18,000 ล้านบาท และเป็นเหตุให้รมว.และรมช.สธ.ลาออก