ประกาศ 12 แหล่งกำเนิดมลพิษ (อาจ)ก่อโรคจากตะกั่ว
คกก.ควบคุมโรคฯจากสิ่งแวดล้อม กำหนด 12 ประเภทแหล่งกำเนิดมลพิษ ทำให้เกิดโรคจากตะกั่ว ต้องมีมาตรการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน 3 กลุ่ม ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 50,000 บาท พร้อมเพิ่มอาการ 6 โรคจากการประกอบอาชีพ-โรคจากสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมว่า ที่ประชุมได้มติเห็นชอบ 3 เรื่องสำคัญ คือ
1.ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เรื่อง ประเภท ขนาด และลักษณะของแหล่งกำเนิดมลพิษ และประเภทหรือกลุ่มของประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ พ.ศ.... ซึ่งเป็นการระบุเกี่ยวกับ ประเภท ขนาด และลักษณะของแหล่งกำเนิดมลพิษ และประเภทหรือกลุ่มของประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ
ซึ่งก่อหรืออาจก่อให้เกิดโรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว โดยกรมควบคุมโรคได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มหน่วยบริการอาชีวเวชกรรมและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม / เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ / สถานประกอบการและกลุ่มลูกจ้างแรงงานนอกระบบ และประชาชนทั่วไปแล้ว
เพิ่มอาการโรคจากการประกอบอาชีพ
2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพ พ.ศ.… ซึ่งเป็นการประกาศเพิ่มอาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพ 5 โรคเดิม คือ โรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว, โรคจากฝุ่นซิลิกา, โรคจากภาวะอับอากาศ, โรคจากแอสเบสตอส (ใยหิน) หรือโรคมะเร็งที่เกิดจากแอสเบสตอส (ใยหิน) และโรคหรืออาการสำคัญของพิษจากสารกำจัดศัตรูพืช และเพิ่มชื่ออาการสำคัญของโรคหรืออาการที่เกิดจากรังสีแตกตัวหรือจากรังสีก่อไอออน รวมทั้งให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพ พ.ศ. 2563
เพิ่มอาการโรคจากสิ่งแวดล้อม
และ 3. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.… โดยเพิ่มอาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม คือ โรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว และเพิ่มเติมชื่อและอาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อมใหม่ 1 โรค คือ โรคจากรังสีแตกตัวหรือโรคจากรังสีก่อไอออน และให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565
12 ประเภทแหล่งกำเนิดมลพิษ อาจก่อโรคจากตะกั่ว
สำหรับประเภทแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยลักษณะมีการปล่อยมลพิษ ที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดโรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว ตามที่คณะกรรมการฯเห็นชอบในครั้งนี้ มี 12 ประเภท ได้แก่
1.เหมืองแร่ตะกั่ว หรือสารประกอบตะกั่ว หรือเหมืองแร่สังกะสี หรือเหมืองแร่พลวง หรือเหมืองแร่เงิน หรือเหมืองอื่นใดที่มีการใช้ ผลิต หรือครอบครองสารตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว หรือมีการปล่อยมลพิษที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดโรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว ทุกขนาด
2.อุตสาหกรรมถลุงแร่ตะกั่ว ทุกขนาด
3.อุตสาหกรรมหลอมตะกั่ว ที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 10 ตันต่อวันขึ้นไป หรือที่มีกำลังการผลิตรวมกันตั้งแต่ 10 ตันต่อวันขึ้นไป
4.การพัฒนาปิโตรเลียม ทุกขนาด
5.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง (ที่ผลิตสารเคมีหรือใช้วัตถุดิบที่เป็นสารเคมีซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1) ที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 10 ตันต่อวันขึ้นไป
6.อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ทุกขนาด
7.อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเคมีโดยกระบวนการทางเคมี ทุกขนาด
8.โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม หรือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มีการเผาหรือฝังกลบของเสียอันตราย ยกเว้นการเผาในหม้อเผาซีเมนต์ ที่ใช้ของเสียอันตรายเป็นวัตถุดิบทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริม ทุกขนาด
9.การผลิต ประกอบ หรือซ่อมแซมตาข่าย แห หรืออวน และรวมถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทุก ขนาด
10.การทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี หรือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับสี น้ำมันชักเงา เซลแล็ก แล็กเกอร์ หรือผลิตภัณฑ์สำหรับการยาหรือการอุด หรือโรงงานทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมีที่มีการใช้ ผลิต หรือครอบครองสารตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่ว ทุกขนาด
11.โรงงานผลิตภัณฑ์ เครื่องกระเบื้องเคลือบ เครื่องปั้นดินเผา หรือเครื่องดินเผา และรวมถึงการเตรียมวัสดุเพื่อการดังกล่าว ทุกขนาด
12.โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟฟ้า (การทำหม้อเก็บพลังงานไฟฟ้า หรือหม้อกำเนิดพลังงานไฟฟ้าชนิดน้ำ หรือชนิดแห้ง และรวมถึงชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว) ทุกขนาด
ต้องเฝ้าระวังสุขภาพ 3 กลุ่มประชาชน
เจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษ จะต้องดำเนินการเฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษข้างต้น หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งมี 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีโรคหรือภาวะสุขภาพที่ได้รับสารตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่วแล้วส่งผลให้อาการหรือโรคมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง ผู้ที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กหรือภาวะขาดแคลเซียม หรือภาวะทุพโภชนาการ
2. บุคคลซึ่งมีโอกาสรับสัมผัสมลพิษซึ่งก่อหรืออาจก่อให้เกิดโรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่วเกินกว่ามาตรฐาน ตามที่กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด
3. บุคคลซึ่งมีโอกาสรับสัมผัสมลพิษหรือบุคคลซึ่งมีผลตรวจว่าพบสารมลพิษซึ่งก่อหรืออาจก่อให้เกิดโรคจากตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่วในร่างกาย ตามหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม
โดยให้มีการดำเนินการเฝ้าระวังสุขภาพในกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
1. กรณีที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ซึ่งยืนยันได้ว่ามีการปนเปื้อนสารตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่วว่ามาจากแหล่งกำเนิดมลพิษใด ให้ดำเนินการเฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษเท่าที่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการปนเปื้อนสารตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่วจากแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น
2. กรณีที่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ซึ่งยืนยันได้ว่ามีการปนเปื้อนสารตะกั่วหรือสารประกอบของตะกั่วว่ามาจากแหล่งกำเนิดมลพิษใด ให้ดำเนินการเฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษในพื้นที่รัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร จากแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น