"แพทองธาร”ปาฐกถาแรก “30 บาท รักษาทุกโรค สู่ 30 บาท รักษาทุกที่
27 ก.ย.นี้ “นายกฯแพรทองธาร” ปาฐกถาเวทีแรก เปิดงาน “30 บาท รักษาทุกที่ กทม.” ปลื้ม เป็นจังหวัดนำร่องที่ 46 ตอกย้ำดูแลสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมเพิ่มบริการ“แพทย์ทางไกล-เจาะเลือดที่บ้าน -รถรับส่งผู้ป่วย-รถทันตกรรมเคลื่อนที่”
วันที่ 15 กันยายน 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2567 นี้ จะมีการเปิดงาน “30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร” โดยจะเป็นจังหวัดนำร่องที่ 46 ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ หลังได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความพร้อมที่จะให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯได้ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมเปิดตัวตราสัญลักษณ์ (Logo) “30 บาทรักษาทุกที่” อย่างเป็นทางการ เพื่อใช้ในการรับรองคุณภาพและการเข้าร่วมโครงการฯ ของหน่วยบริการทั่วประเทศ รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในการเข้ารับบริการของประชาชน
การเปิดงานครั้งนี้ จะเป็นการตอกย้ำการเดินหน้านโยบายนี้ของรัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรี นอกจากจะมอบป้ายและโล่ตราสัญลักษณ์ 30 บาทให้ผู้แทน 7 หน่วยนวัตกรรมบริการแล้ว ยังจะปาฐกถา “จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่” เพื่อให้เห็นการผลักดันโครงการที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งหมดนี้ เป็นการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของรัฐบาล ในการดูแลสุขภาพประชาชนไทย พร้อมเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ในการเข้าถึงสิทธิและบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท
ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในส่วน สปสช. ที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบายฯในพื้นที่ กทม. ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการภายใต้บทบาทและหน้าที่ของ สปสช. ทั้งการเพิ่มหน่วยบริการนวัตกรรม ให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ การจัดหาหน่วยบริการทุติยภูมิเพิ่มเติม เพื่อลดความแออัดหน่วยบริการตติยภูมิ ยกระดับ Contact Center 1330 เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยแก้ปัญหาต่างๆให้กับประชาชนและหน่วยบริการ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของหน่วยบริการในพื้นที่ กทม. เพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนระบบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก รวมถึงการจัดระบบสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ส่วนการเข้ารับบริการของประชาชน จะเริ่มที่หน่วยบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิก่อน นอกจากการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำตามสิทธิของท่านแล้ว ยังสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการนวัตกรรม 7 แห่ง ประมาณ 1,500 แห่ง ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ใช้เพียงบัตรประชาชน โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ ได้แก่ ร้านยาคุณภาพ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น และคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมอีก 10 บริการเชิงรุกที่ช่วยอำนวยความสะดวก และลดความแออัดได้อีก เช่น บริการการแพทย์ทางไกล เจาะเลือดที่บ้าน รถรับส่งผู้ป่วย รถทันตกรรมเคลื่อนที่ และตู้เทเลเมดดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนของโรงพยาบาลรัฐสังกัดต่างๆนั้น เป็นหน่วยบริการในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิจะเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องใช้ใบส่งตัว