"แพทองธาร" ปาฐกถาแรก “30 บาทรักษาทุกที่” ทุกจังหวัดในปี 67

"แพทองธาร" ปาฐกถาแรก “30 บาทรักษาทุกที่” ทุกจังหวัดในปี 67

“แพทองธาร” ประกาศภายในปี 67 “30 บาทรักษาทุกที่” ทั่วประเทศ ผล 8 เดือนทำแล้ว 46 จังหวัด ประชาชนพึงพอใจ 98% ลดเวลารอคิวลง 50% ลดค่าใช้จ่ายครั้งละ 160 บาท ย้ำคน กทม.เจ็บป่วยเล็กน้อยไปรับบริการหน่วยบริการใกล้บ้านที่มีสัญลักษณ์ติดไว้

KEY

POINTS

  • 30 บาทรักษาทุกที่ “นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร” ประกาศภายในปี 2567 ครอบคลุมบริการทุกจังหวัดทั่วประเทศ จาก 8 เดือนทำแล้ว 46 จังหวัด
  • 30 บาทรักษาทุกที่ ประชาชนพึงพอใจ 98 % ลดเวลารอคิวลง 50 % ลดค่าใช้จ่ายครั้งละ 160 บาท 1 ใน 4 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดไปรับบริการในคลินิกเอกชนใกล้บ้านแทนการมาที่ รพ.
  • 30 บาทรักษาทุกที่ กทม. ย้ำคนสิทธิบัตรทอง 30 บาทอยู่ใน กทม.เจ็บป่วยเล็กน้อยไปรับบริการหน่วยบริการใกล้บ้านที่มีสัญลักษณ์ติดไว้ได้ทันที ไม่เสียค่าใช้จ่าย 

เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2567 ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ ในการเปิดงาน 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาเรื่อง “จาก 30 บาทรักษาทุกโรคสู่ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า” ว่า  จาก 30 บาทรักษาทุกโรค มาถึงวันนี้ 23 ปี 30 บาทรักษาทุกที่

ซึ่งจังหวัดอื่นๆ มีสาธารณสุขได้ปรับปรุงถึงจุดที่มากแล้ว ไม่ต้องมี รพ.ใหญ่เป็นทางเลือกเท่านั้น แต่ไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ที่มี 7,000 กว่าแห่งได้ ไป รพ.อำเภอมากกว่า 800 แห่ง  ถือว่า กทม.ยังขาดแคลนบริการสาธารณสุขระดับต้น และระดับกลางมากกว่าต่างจังหวัด แต่ตอนนี้ 30 บาทรักษาทุกที่ มาถึง กทม.แล้ว

“คนใน กทม.เวลาเจ็บป่วย ตัวร้อน ปวดท้อง เสียเวลาไปรอใน รพ.รัฐใหญ่ บางคนมีทุนทรัพย์ก็ไป รพ.เอกชน แค่ป่วยโรคเล็กๆ ทำให้ต้องเสียเงินพอสมควร ซึ่งใน กทม.เรื่องสาธารณสุขสำคัญมาก เพราะคนที่อยู่ กทม.ไม่มีทางเลือกที่จะไปที่ไหนต้องไป รพ.  รอนาน และต้องพาญาติมาด้วยเสียเวลาทั้งวัน” น.ส.แพทองธาร กล่าว

น.ส.แพทองธาร กล่าวด้วยว่า  ถ้าป่วยขั้นพื้นฐานเข้าไปในคลินิก หรือร้านขายยาควรได้รับการรักษาแบบเดียวกันคือ ได้ยาที่มีคุณภาพ และไปเฝ้าระวังระยะการป่วยที่บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาไปรพ.ใหญ่ ซึ่งทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักขึ้นจากการต้องดูแลอาการป่วยเล็กน้อย เพราะ รพ.ใหญ่เหมาะกับโรคเฉพาะทาง และร้ายแรง เช่น มะเร็ง หัวใจ เปลี่ยนไต เป็นต้น 

 “ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ จากนี้คน กทม.ที่เจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการสาธารณสุขได้เลย เช่น ร้านขายยาใกล้บ้าน คลินิกเวชกรรมใกล้บ้าน คลินิกทันตกรรมใกล้บ้าน รถโมบายตรวจเลือด ตู้คีออสในห้างหรือสถานีรถไฟ สามารถปรึกษาแพทย์ผ่านเทเลเมดิซีน โดยมองหาสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ จะได้รับบริการทันที โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย”น.ส.แพทองธาร กล่าว   

30 บาทรักษาทุกที่ ลดเวลา-ลดเงิน

การดำเนินงานตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา 30 บาทรักษาทุกที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีผลงาน คือ ประชาชนหันไปรับบริการในคลินิกเอกชนใกล้บ้านถึง 1 ใน 4 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดแทนการมาที่ รพ. ช่วยลดความแออัด ลดเวลารอตรวจ ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์

ที่สำคัญ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเฉลี่ย 160 บาท/ครั้ง ช่วยลดระยะเวลารอคอยในโรงพยาบาลลง 50% จากเฉลี่ย 127 นาที เหลือ 56 นาที และหากไปรับบริการที่คลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการจะมีระยะเวลารอคอยไม่เกิน 30 นาทีเท่านั้น อีกทั้งยังลดภาระการขาดงานของผู้ป่วย และญาติ และผู้รับบริการกว่า 98% พึงพอใจกับนโยบายนี้เป็นอย่างมาก

“ขอให้มั่นใจว่าในปีนี้ รัฐบาลจะสามารถขยาย 30 บาท รักษาทุกที่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกตารางนิ้วในประเทศไทย และให้คนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแล”น.ส.แพทองธาร กล่าว 

ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 67

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ มีเป้าหมายที่จะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดภายในปี 2567  เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทั้งประเทศ ส่วนการคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ กรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่ 46 จะช่วยให้ประชาชนในกรุงเทพมหานคร  ไม่ว่าจะมีสิทธิบัตรทองอยู่ที่จังหวัดใด เพียงใช้บัตรประชาชนใบเดียว ก็สามารถเข้ารับบริการสุขภาพได้

 ทั้งที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ และหน่วยบริการ ระดับปฐมภูมิทุกแห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา 77 แห่ง และคลินิกชุมชนอบอุ่น 280 แห่ง  รวมถึงสามารถเข้ารับบริการได้ที่ หน่วยบริการนวัตกรรม ที่มีตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ปรากฏอยู่
\"แพทองธาร\" ปาฐกถาแรก “30 บาทรักษาทุกที่” ทุกจังหวัดในปี 67

3 ปัจจัยหลัก 30 บาทรักษาทุกที่ กทม.

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการนี้สำคัญมาก โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่สำคัญ คือ 1. ใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมโยง 2. การเชื่อมโยงข้อมูลโรงพยาบาล และ 3. ระบบปฐมภูมิที่เข้มแข็ง อาทิ มีหน่วยสาธารณสุขนวัตกรรม ร้านขายยาที่ใกล้บ้าน ทำให้ประชาชนไม่ต้องตื่นมาตี 3 ตี 4 เพื่อไปรอคิวการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลใหญ่ นี่คือหัวใจของ 30 บาท เป็นหัวใจที่จะสร้างความมั่นคง ความสะดวก และประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน  ถ้าประชาชนมีสุขภาพดีจะช่วยกันในการพัฒนาประเทศต่อไป

“เรื่องสุขภาพเป็นหัวใจของการลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากหากประชาชน เจ็บป่วยก็ไม่สามารถทำงานหารายได้ ก็จะเป็นวงจรให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ กทม.มีโรงพยาบาลชั้นดีจำนวนมาก แต่ก็มีประชากรแฝงถึง 10 ล้านคน ขณะที่ ปัญหาสาธารณสุขไม่ได้น้อยกว่าจังหวัดอื่น หรืออาจจะมากกว่า” นายชัชชาติ กล่าว

30 บาทรักษาทุกที่ กทม. เปิดตัวสมบูรณ์แบบ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการเปิดตัว 30 บาทรักษาทุกที่ กทม.อย่างสมบูรณ์แบบ หมายถึงระบบการเชื่อมข้อมูล ระหว่างหน่วยบริการเพื่อให้ประวัติ ผู้ป่วยไปในทุกที่ที่หน่วยรับบริการ และหากประชาชนจะไปให้ดูที่ ตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งสนับสนุนให้ประชาชนไปรับบริการใกล้บ้าน และในหน่วยบริการปฐมภูมิในรูปแบบต่างๆ

“หากเป็นผู้ป่วยบัตรทองที่อยู่ต่างจังหวัดแต่มาอยู่ใน กทม. สามารถเข้ารับบริการที่ร้านยาได้ แม้ตอนนี้มีปัญหาเล็กน้อยในการเชื่อมต่อข้อมูลจากต้นสังกัด เพราะถ้าไม่ได้อยู่ในจังหวัดที่นำร่องการเชื่อมข้อมูลอาจจะยุ่งยาก แต่ในแง่บริการยืนยันว่าสามารถมารับบริการได้ ถ้าอยู่ในจังหวัดนำร่องจะง่ายขึ้นในการรับบริการ ซึ่งทั้ง 45 จังหวัดเชื่อมข้อมูลทั้งหมดแล้ว” นพ.จเด็จ กล่าว 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์