สธ.เปลี่ยน 7 อธิบดีจากทั้งหมด 8 กรม โชว์กึ๋น 5 คนใหม่ขับเคลื่อนภารกิจ

สธ.เปลี่ยน 7 อธิบดีจากทั้งหมด 8 กรม  โชว์กึ๋น 5 คนใหม่ขับเคลื่อนภารกิจ

สธ.ยุค “สมศักดิ์”เปลี่ยน 7 อธิบดีจากทั้งหมด 8 กรม ทัพใหม่ขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขปี 68  ขณะที่ 5 อธิบดีโชว์กึ๋นแถลงนโยบายเร่งภารกิจ ตอบโจทย์สุขภาพประชาชน-เศรษฐกิจสุขภาพ

KEY

POINTS

  • ในปีงบประมาณ 2568 กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในยุครัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ชื่อ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” มีการปรับเปลี่ยนอธิบดีใหม่ 7 กรมจากที่มีทั้งหมด 8 กรม
  • 5 อธิบดีใหม่เผยนโยบายและแนวการดำเนินงานเร่งขับเคลื่อนอีก 1 ปีจากนี้  อย.มุ่งเป้าลดเวลาประเมินผลิตภัณฑ์ สบส.ส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 
  • กรมแพทย์แผนไทยฯยกระดับภูมิปัญญาไทยสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กรมอนามัยส่งเสริมสุขภาพลดโรคNCDs กรมการแพทย์ยึดแนว AI 3

นับตั้งแต่ 1 ต.ค.2567 เริ่มต้น ปีงบประมาณ 2568 อธิบดีกรมต่างๆในสธ.ที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายแทนผู้ที่เกษียณรวม 7 คนเข้ารับตำแหน่งอธิบดีในกรมใหม่ และมีการมอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนแต่ละกรม สอดรับนโยบายสาธารณสุข 2568 

1.นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล จากรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็น อธิบดีกรมควบคุมโรค 

2.พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ จากอธิบดีกรมการแพทย์ เป็น อธิบดีกรมอนามัย 

3.นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จากอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็น อธิบดีกรมการแพทย์ 

4.นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ จากรองปลัดสธ. เป็นเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา 

5.นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน จากผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็น อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 

6.นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ จากรองปลัดสธ. เป็น อธิบดีกรมสุขภาพจิต 

7.นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ จากผู้ตรวจราชการสธ. เป็น อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

อย.11 นโยบายใน 1 ปี

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มอบนโยบายการดำเนินงานปีงบประมาณ 2568 ซึ่งจะครอบคลุม 11 ประเด็นหลักภายในระยะเวลา 1 ปี  โดยในส่วนของเป้าประสงค์หลัก ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค การอนุมัติ อนุญาตที่เป็นมาตรฐาน สากล ทันสมัย โปร่งใส ด้วยการ ผลักดันให้เกิดระบบการพิจารณาอนุญาตที่เป็นสากล (Good Review Practice)  ลดระยะเวลาในการประเมินผลิตภัณฑ์สุขภาพให้รวดเร็วขึ้น มากกว่า20 %

จัดทำระบบการติดตามสถานะการขออนุญาตที่คาดการณ์เวลาในการอนุมัติได้อย่างแม่นยำ โดยระบบนี้จะเริ่มใช้ได้อย่างสมบูรณ์ภายในเดือนธันวาคม 2567 ,ปรับปรุงรูปแบบการทำงานโดยเชื่อมโยงและบูรณาการทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน (End-to-End) เพื่อให้การทำงานครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพ ,สนับสนุนนโยบายลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ช่วยลดโรคออกสู่ตลาดมากขึ้น

เป้าประสงค์หลัก ร่วมสร้างความมั่งคั่ง ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และบริการสุขภาพ เศรษฐกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดย สร้างระบบการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมสินค้ามูลค่าสูง ,ส่งเสริมผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานรากให้ได้มาตรฐาน อย. และส่งสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ , ส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ให้เข้าสู่ธุรกิจเพิ่มขึ้น 

และเป้าประสงค์หลัก เป็นการพัฒนาองค์กรสมรรถนะสูง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนองค์กรบนพื้นฐานข้อมูลที่ชัดเจน ,พัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญ เพื่อรองรับการพัฒนาองค์กรในอนาคต ,พัฒนาองค์ความรู้ สร้างงานวิจัยใหม่ ๆ เพื่อพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค   และ วางแผนให้มีผลิตภัณฑ์สุขภาพเพียงพอทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน

AI3แนวทางกรมการแพทย์

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวถึงแนวทางการบริหารเพื่อนำนโยบายสธ.สู่การปฏิบัติ ด้วย แนวทาง AI3 A: Advance in core business ก้าวนำทุกความเชี่ยวชาญ

I1: Integrated services ผสานการดูแลผู้ป่วยในทุกมิติ  คือ

1. Inter-hospital integrated บูรณาการการดูแล โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

2. Inter-division integrated นำความเชี่ยวชาญผสานระบบสุขภาพอย่างครอบคลุม 

3. Western – Oriental medicine integrated ผสานความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์และภูมิปัญญาไทย เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

I2 : Insight & data driven organization ขับเคลื่อนองค์กรด้วยคุณค่าจากข้อมูลคุณภาพ

I3: Impact at country level สร้างผลลัพธ์เชิงประจักษ์เพื่อยกระดับสุขภาพประเทศไทย

พัฒนากฎหมายรับ Medical & Wellness Hub

นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) วางนโยบายไว้ 7 เรื่อง  ประกอบด้วย

1.สนับสนุนนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชน ใบเดียว นำแอปพลิเคชัน “Smart อสม.” เชื่อมโยงข้อมูลการรักษา อำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการ 

2.ส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เน้นพัฒนา Medical Hub และ Wellness Hub ให้เห็นผลภายใน 1 ปี พัฒนากฎหมายรองรับการแข่งขัน และยกระดับผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 

3.สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน ผลักดันพ.ร.บ.อสม.

4.สนับสนุนการต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งในการจัดการสุขภาพ และสนับสนุน อสม. ให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรค NCDs คัดกรองสุขภาพประชาชนเพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม และส่งเสริมการสร้างอาสาสมัครประจําครอบครัว (อสค.) เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน    

5.สนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ส่งเสริมกิจการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง การผลิตและจ้างงานผู้ดูแลสุขภาพ

6.สนับสนุนมาตรฐานสถานพยาบาล 

7.สร้างขวัญกำลังใจบุคลากรและพัฒนาองค์กรให้มีความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ (Trust) 

ยกระดับภูมิปัญญาเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพ

นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตั้งเป้านโยบายยกระดับภูมิปัญญาไทยสู่การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพ ผ่านกลยุทธ์ 3 สร้าง ประกอบด้วย

1.สร้างความร่วมมือ นำองค์ความรู้ภูมิปัญญา มาวิจัยให้เกิดนวัตกรรมบริการและผลิตภัณฑ์ ยกระดับมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นสู่การนำไปใช้ในระบบบริการสุขภาพและเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการใช้ประโยชน์การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกแบบครบวงจร

2.สร้างความเชื่อมั่น ด้วยนวัตกรรม งานวิจัยประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาสมุนไพรในกลุ่มอาการที่พบบ่อย บูรณาการสู่การใช้ประโยชน์จริงในระบบบริการสุขภาพ

3. สร้างมาตรฐานและยกระดับบริการทางการแพทย์ ส่งเสริมภาพลักษณ์ เพิ่มมูลค่าของบริการด้านการแพทย์แผนไทย นวดไทย สมุนไพร และการแพทย์ทางเลือก รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

“กำหนดเป้าหมายในปี 2570 ขนาดตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น กว่า 104,000 ล้านบาท สำหรับผลที่คาดว่าได้รับจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพร เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และ ชาวต่างชาติ ไม่น้อยกว่า 19,099,508 คน มีการคาดการณ์ในเรื่องเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพร ไม่น้อยกว่า 7,346 ล้านบาท”นพ.สมฤกษ์กล่าว 

ส่งเสริมสุขภาพลดโรคNCDs

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย มอบนโยบายว่า กรมอนามัยมุ่งมั่นผลักดัน คนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพทุกมิติ เพื่อลดโรคไม่ติดต่อที่สำคัญ (NCDS) ผลักดันแนวคิดเวชศาสตร์วิถีชีวิต และสุขภาพองค์รวม สู่การปฏิบัติ สนับสนุนแนวคิดสุขภาพดีสิทธิประโยชน์เพิ่ม  ,จัดระบบบริการสุขภาพเพื่อกลุ่มและพื้นที่พิเศษ ยกระดับ สถานชีวาภิบาล กุฏิชีวาภิบาล เพื่อกลุ่มเปราะบาง และส่งเสริมการผลิตและจ้างงานผู้ดูแลสุขภาพในชุมชน (Caregiver) 

และเรื่องที่สำคัญ คือ สมุนไพรไทยเพื่อสุขภาพซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนไทย กรมอนามัยจะเร่งดำเนินการผลักดันร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ นําเอาสมุนไพรจากอาหารเพื่อสุขภาพมาวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ เสริมคุณค่าให้สมุนไพรไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ รวมทั้งขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ ผ่านโครงการ Long Life Thai Fit เพื่อให้คนไทยสุขภาพดีลดจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ครบทุกรอบด้าน