เลี่ยงอาหาร 8 กลุ่ม ป่วย “สะเก็ดเงิน” กว่า 1.7 ล้าน ดื้อยา 30 % ดัน "ยาชีวโมเลกุล"
ไทยป่วย “สะเก็ดเงิน” กว่า 1.7 ล้านเตรียมผลักดัน “ยาฉีดชีวโมเลกุล”เข้าบัญชียาหลักฯ ช่วยผู้ป่วยกลุ่มดื้อยาราว 30 % เข้าถึงการรักษา กรมการแพทย์เร่งศึกษาดูแลแบบผสมผสานแพทย์ตะวันตก-แผนไทย ก่อนออกเป็นแนวทางรักษา แนะเลี่ยงอาหารแสลง 8 กลุ่ม
KEY
POINTS
- คนไทยป่วย “สะเก็ดเงิน” กว่า 1.7 ล้าน คิดเป็น 1-2 %ของประชากร ภาระค่าใช้จ่ายรักษาของผู้ป่วยเฉลี่ย 3,000 บาทต่อครั้ง เป็นผู้ป่วยกลุ่มดื้อยาราว 30 %
- เตรียมผลักดัน “ยาฉีดชีวโมเลกุล”เข้าบัญชียาหลักฯ ช่วยผู้ป่วยสะเก็ดเงิน เข้าถึงการรักษา กรมการแพทย์เร่งศึกษาดูแลแบบผสมผสานแพทย์ตะวันตก-แผนไทย ก่อนออกเป็นแนวทางรักษาร่วม
- รักษาสะเก็ดเงินแบบแพทย์แผนไทย มีทั้งยาทา ยากิน พอก-แช่ยาสมุนไพร พร้อมแนะ 8 กลุ่มอาหารแสลง ต้องเลี่ยง
วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้มีมติให้เป็น"วันโรคสะเก็ดเงินโลก" เพื่อรณรงค์ให้สังคมเข้าใจว่า โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ แม้จะรักษาไม่หายขาด
สำหรับในปี 2567 สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดงานวันสะเก็ดเงินโลก (World Psoriasis Day 2024) ภายใต้แนวคิด “Psoriatic Disease and the Family” หรือ “ครอบครัวรวมจิต ดูแลชิดใกล้ ห่วงใยโรคสะเก็ดเงิน” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ครอบครัวของผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ"สะเก็ดเงิน" ทำให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินและครอบครัวของผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ป่วยสะเก็ดเงินกว่า 1.74 ล้าน 1-2 %ของประชากร
เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2567 ที่สถาบันโรคผิวหนัง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเปิดงานวันโรคสะเก็ดเงินโลกว่า สะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังที่การสาธารณสุขทั่วโลกให้ความสำคัญ ด้วยอาการของโรคผิวหนังที่แสดง เช่น มีผื่นที่กระจายทั่วตัว แห้งลอกเป็นขุย ตุ่มหนอง เป็นแผลพุพอง และอาจมีภาวะแทรกซ้อนโรคร่วมในอวัยวะส่วนอื่นๆที่รุนแรงร่วมด้วย โดยเฉพาะความพิการในระบบข้อต่อต่างๆ จึงทำให้คนทั่วไปที่พบเห็นรังเกียจคิดว่าเป็นโรคติดต่อ ทำให้ได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตการเข้าสังคม การประกอบอาชีพ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต สภาพจิตใจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและโรคอื่นๆร่วมด้วย
"ผู้ป่วยสะเก็ดเงิน"มากกว่า 125 ล้านคนทั่วโลก ที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ ในประเทศไทยข้อมูลจาก Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ. 2565 พบว่ามีผู้ป่วยสะเก็ดเงิน 1,748,704 คน คิดเป็น 1-2 %ของจำนวนประชากร เฉพาะที่สถาบันโรคผิวหนัง ในปี 2567 มีผู้ป่วยสะเก็ดเงินเข้ารับการรักษา 20,576 visit เป็นอันดับที่ 3 ของผู้ป่วยโรคผิวหนังที่มารักษาเป็นผู้ป่วยนอก และเมื่อวิเคราะห์ค่าใช้ในการรักษาผู้ป่วยต่อครั้งของผู้ป่วยที่มารักษา พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,077 บาทต่อครั้ง
การรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน คือ
1. ยาทาภายนอก เช่น ยาทาสเตียรอยด์ ยาทากลุ่ม วิตามินดี ยาทากลุ่มน้ำมันดิน สามารถเบิกเบิกค่ารักษาได้ทุกสิทธิ ยกเว้นยาทากลุ่ม Vitamin D3 Analogue, Cream Base ในสิทธิบัตรทอง
2. ยารับประทาน เบิกค่ารักษาได้ทุกสิทธิ
3. การฉายแสงอาทิตย์เทียม เบิกค่ารักษาได้ทุกสิทธิ
4. ยาฉีดชีวโมเลกุล เฉพาะสิทธิจ่ายตรงที่สามารถเบิกค่ารักษาตามข้อบ่งชี้ได้บางตัวยา ส่วนสิทธิประกันสังคมและสิทธิบัตรทอง เบิกไม่ได้
นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มว่า ผู้ป่วยและครอบครัวที่เผชิญกับโรคสะเก็ดเงินสมควรได้รับการสนับสนุนต่อเนื่อง ในการสร้างความตระหนักและความเข้าใจต่อผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินว่าพวกเขาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว รวมทั้งสร้างฐานข้อมูลความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วย ในการพูดคุยกันอย่างเปิดเผยถึงโรคดังกล่าว เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น ให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้การแสดงออกถึงความต้องการและความจำเป็นต่าง ๆ ของตนให้สังคมได้รับรู้
ดันยาฉีดชีวโมเลกุลเข้าบัญชียาหลักฯ
ด้านนพ.จินดา โรจนเมธินทร์ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่รักษาด้วยยาพื้นฐานอย่างดีแล้วไม่ได้ ซึ่งต้องยาฉีดชีวโมเลกุล แต่ปัจจุบันยานี้ยังไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ สมาคมฯได้มีการหารือกับสถาบันโรคผิวหนัง เพื่อผลักดันให้ยากลุ่มนี้เข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ
เพื่อที่จะทำให้สามารถเบิกจ่ายยานี้ได้ตามสิทธิประโยชน์ 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง 30บาท) ส่งผลให้คนไข้ที่จำเป็นต้องใช้ยานี้สามารถเข้าถึงยา ไม่ต้องจ่ายเงินเอง
ยาฉีดชีวโมเลกุล จะทำให้ภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดอาการอักเสบของสะเก็ดเงินลดลงและดีขึ้น แต่ยากลุ่มนี้มีหลากหลายบริษัท และรูปแบบในการใช้จะไม่เหมือนกัน บางตัวฉีดทุกสัปดาห์ บางตัวฉีดทุก 2 สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ้นการฉีดยาก็ห่างออกไปแต่ข้อจำกัดของยากลุ่มนี้ คือ ยาที่ยังมีราคาสูง เข็มละราว 10,000 บาท ขณะเดียวกันก็มีผลข้างเคียงบางอย่างจากที่ยาไปกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงมีข้อจำกัดในคนไข้บางกลุ่มที่ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ เช่น มีโรคติดเชื้อซ่อนเร้นอยู่ วัณโรค เป็นต้น
เพราะฉะนั้น การใช้ยากลุ่มนี้จะไม่ได้นำมาใช้เป็นยาตัวแรกในการให้การรักษากับผู้ป่วยสะเก็ดเงิน จะต้องมีการใช้ยาเบื้องต้นอย่างดีแล้วไม่ได้ผล จึงจะมีการพิจารณาใช้ยาฉีดกลุ่มนี้ต่อไป โดยจะต้องมีการตรวจร่างกาย เจาะเลือด เอ็กซเรย์ เพื่อดูว่าคนไข้เหมาะสมหรือไม่ มีข้อห้ามในการใช้ยาหรือไม่
“ที่สำคัญ ยาฉีดกลุ่มนี้ทำให้โรคสงบดีขึ้น แต่ไม่ได้การันตีว่าจะทำให้หายจากโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งการทำให้โรคสงบ บางคนอาจจะ 1-2 ปี บางตัวก็แนะนำให้ใช้แบบโดสน้อยๆแต่ใช้ต่อเนื่อง มีหลากหลายยี่ห้อมาก”นพ.จินดากล่าว
ผู้ป่วยสะเก็ดเงิน 30 %ดื้อยาพื้นฐาน
พญ.เบ็ญจ์สชีว์ ปัทมดิลก นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ยาชีวโมเลกุลมีหลายตัว เมื่อสมาคมฯมีการต่อรองราคายาแล้ว ตัวที่ราคาดีที่สุดเหมาะสมกับประเทศไทย ก็จะผลักดันเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติทำให้ผู้ป่วยสะเก็ดเงินในทุกสิทธิการรักษาเข้าถึงยาได้ โดยไม่ต้องเสียเงินเอง ซึ่งปัจจุบันยานี้มีเพียงผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการเท่านั้นที่ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่จะพิจารณาเป็นรายกรณีตามข้อบ่งชี้ที่มีการกำหนดไว้ ส่วนประกันสังคมจะขึ้นกับนโยบายของรพ.แต่ละแห่ง
“คนไข้ที่จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ต้องมีความรุนแรงสะเก็ดเงินระดับปานกลาง ถึงรุนแรงมาก ซึ่งมีประมาณ 30 % ของคนไข้สะเก็ดเงินทั้งหมด”พญ.เบ็ญจ์สชีว์
แพทย์แผนไทย รักษาสะเก็ดเงิน
ขณะที่ในทางการแพทย์แผนไทยนั้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกระบุว่ามีการกล่าวถึงโรคผิวหนังที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโรคสะเก็ดเงิน ไว้ในพระคัมภีร์วิถีกุฏฐโรค คือ โรคเรื้อน รักษายาก แต่มีโอกาสหาย เมื่อวิเคราะห์อาการเทียบเคียงกับโรคสะเก็ดเงินแล้วพบว่าใกล้เคียงกับ เรื้อนมูลนกหรือเรื้อนกวาง เป็นโรคที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ (อุปปาติกะ) ร่วมกับพฤติกรรมเสี่ยงส่งผลต่อธาตุในร่างกายทำให้มีความผิดปกติของเลือด และน้ำเหลือง เกิดรอยโรคที่แสดงออกมาทางผิวหนัง ทำให้ผิวหนังพิการ เป็นผื่นปื้นหนาหลุดลอก แม้เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดแต่สามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการของโรคได้
สำหรับการรักษาโรคสะเก็ดเงินจะต้องมีการตรวจประเมิน วิเคราะห์อาการของโรคโดยแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อเลือกใช้ยาที่เหมาะสมและมีความปลอดภัย โดยยาสมุนไพรที่ใช้มีทั้ง
- ยาใช้ภายนอก เช่น ยาประสะผิวภายนอก ดับพิษที่ปะทุออกภายนอก ลดอาการผื่นแดงและอักเสบ ยาครีมบัวบก ช่วยการสมานแผลป้องกันการติดเชื้อ เจลว่านหางจระเข้ เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวช่วยให้สะเก็ดอ่อนนุ่ม ทิงเจอร์ทองพันชั่ง แก้อาการผื่นคันตามร่างกาย
- ยาสมุนไพรรับประทานได้แก่ ยาเบญจโลกวิเชียร หรือ ยาห้าราก สรรพคุณกระทุ้งพิษ ถอนพิษ ยาเขียวหอม แก้ตัวร้อน แก้พิษภายใน ยาบำรุงโลหิต สรรพคุณบำรุงโลหิต หรือการใช้ยาปรุงเฉพาะรายซึ่งเป็นยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
- อาจมีการทำหัตถการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การพอกยาสมุนไพร การแช่ยาสมุนไพร เป็นต้น โดยการใช้ยาจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เพราะยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผื่นปะทุขึ้นหรือมีอาการไข้ได้
8 กลุ่มอาหารแสลงกระตุ้นสะเก็ดเงิน
คำแนะนำการปฏิบัติตัว ควรรู้จักผ่อนคลายความเครียดและกังวลต่างๆ ,นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและควรนอนก่อนเที่ยงคืน หลีกเลี่ยงการแกะเกาบริเวณที่เป็นรอยโรค ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย ทำความสะอาดเสื้อผ้าและที่นอนให้สะอาด และอาหารบางประเภทจะกระตุ้นการอักเสบมีผลต่อรอยโรค ทำให้ผื่นเป็นมากขึ้นหรือหายได้ช้า ถือเป็นเป็นอาหารแสลงควรงด ลด เลี่ยง ประกอบด้วย
1.เนื้อสัตว์ใหญ่ คาว ย่อยยาก เช่น เนื้อวัว
2.เนื้อสัตว์ปีก เช่น เนื้อไก่ เนื้อเป็ด
3.อาหารทะเล เช่น กุ้ง หมึก ปูม้า หอยแครง
4.ปลาไม่มีเกล็ด เช่น ปลาดุก ปลาไหล
5.อาหารหมักดอง หน่อไม้
6.เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
7.ผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน เงาะ ขนุน ลำไย
8.อาหารผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น ไส้กรอก แหนม