หลบหลีกความจริงที่เลวร้าย | บวร ปภัสราทร

หลบหลีกความจริงที่เลวร้าย | บวร ปภัสราทร

นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล กล่าวไว้ว่า คนเรากลัวเสียเงินร้อยบาท มากกว่าดีใจที่ได้เงินพันบาท ความกลัวที่จะสูญเสียในสิ่งที่มีอยู่ หรือกลัวว่าสิ่งที่เชื่อจะไม่เป็นความจริง หรือจะเป็นความจริงที่เลวร้าย

หลายคนจึงหลบหลีกที่จะรับฟังความจริงที่บ่งบอกว่า ตนเองกำลังจะสูญเสียสิ่งนั้นไป ยอมทนอยู่กับมโนมากกว่าที่จะทนรับความจริง

ฝรั่งเห็นนกกระจอกเทศมักจะหลบหัวลงไปในพื้นทรายเวลาที่มีภัยมาใกล้ตัว เลยสรุปว่าเหมือนกับคนที่หลีกความจริงที่ไม่ตรงกับที่ตนเองอยากเห็นอยากฟัง แล้วเรียกพฤติกรรมนี้ว่า Ostrich Effect

ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย เป็นแค่การหลอกตนเองชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เพราะในที่สุดความจริงก็จะปรากฏให้เห็นในทางใดทางหนึ่ง นกกระจอกเทศถูกสิงโตเล่นงานได้ทั้งๆ ที่หัวยังซุกอยู่ใต้ทราย

พฤติกรรมการหลบหลีกข้อมูล ที่บ่งบอกความจริงมีหลายแบบ ตั้งแต่ไม่ยอมรับรู้ว่ามีแหล่งข้อมูลข่าวสารที่บอกความจริงที่ตนไม่ต้องการรับรู้อยู่เลย

ถ้ารู้ว่าชั่งน้ำหนักแล้วจะบอกว่าตัวเองอ้วนเกินไปแล้ว ก็ไม่ยอมมีเครื่องชั่งน้ำหนักติดบ้านไว้ ไปจนกระทั่งแกล้งตีความข้อมูลที่บอกความจริงไปในทางอื่น

ข้อมูลบอกว่าคนไม่ชอบ ก็ตีความไปว่าเป็นข้อมูลที่ศัตรูปรุงแต่งขึ้นมา สิ่งที่ตามมาคือการตัดสินใจที่ผิดพลาด จากการที่เลือกรับทราบเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่ถูกใจตนเองเท่านั้น

หลบหลีกความจริงที่เลวร้าย | บวร ปภัสราทร

คนดังจำนวนไม่น้อยหมดแสงไปเพราะไม่เชื่อเรื่องเรตติงที่สื่อมวลชนนำเสนอ ยังหลงว่ายังเป็นคนดังของผู้คนอยู่เช่นเดิม เลยไม่ปรับตนเองให้เปลี่ยนไปตามความนิยมที่เปลี่ยนแปลงไป

เบอร์หนึ่งมากมายที่โดนเบอร์สองแย่งเก้าอี้ไปโดยไม่ทันรู้ตัว เพราะเบอร์หนึ่งทำตัวเหมือนนกกระจอกเทศ ปฏิเสธทุกข้อมูลที่บ่งบอกว่าตนเองกำลังมีผลงานที่ย่ำแย่ลงแล้ว

โดยหลอกตนเองว่าทุกอย่างที่บอกว่าตนแย่นั้นเป็นข้อมูลเท็จ เลือกฟังแต่เฉพาะคำยกยอสรรเสริญจอมปลอมจากคนหวังประโยชน์เท่านั้น

เราชอบคำเยินยอ มากกว่าการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ทั้งๆ ที่ลึกๆ แล้วก็รู้ดีว่าคำเยินยอเหล่านั้นเกินเลยความจริง

คำถามคือทำอย่างไรเราจึงจะไม่ครอบงำตัวเราเองไว้กับข้อมูลที่ชอบ ข้อมูลที่อยากเชื่อ ทำอย่างไรที่จะตัดสินใจบนข้อมูลจริง

คำตอบคือให้ตั้งคำถามกับตนเอง 5 คำถาม ได้แก่ ยังมีข้อมูลข่าวสารอะไรบ้างหรือไม่ที่หากได้รับมาแล้ว เราจะตัดสินใจได้ดีขึ้น ถ้าตอบว่ามี ให้ถามคำถามที่สองว่า เราได้พยายามที่จะหาข้อมูลข่าวสารนั้นมาใช้ หรือเรากำลังหลบหลีกข้อมูลข่าวสารนั้น

ถ้าตอบว่ากำลังพยายามหาอยู่ก็สบายใจได้ว่าไม่น่าจะเหมือนนกกระจอกเทศแล้ว แต่ถ้าตอบว่ากำลังหนีข้อมูลนั้นอยู่ ให้ถามคำถามที่สามว่า ทำไมเราจึงต้องหลบหลีกข้อมูลนั้น ถ้าคำตอบออกมาทำนองว่า ฟังแล้วเสียกำลังใจ ฟังแล้วไม่เป็นประโยชน์กับการตัดสินใจ ฟังแล้วมีแต่ข้อมูลที่ศัตรูสร้างขึ้น

แสดงว่าเรากำลังจะกลายเป็นนกกระจอกเทศเอาหัวซุกทรายไปแล้ว ซึ่งอาจกลับตัวได้จากคำถามที่สี่ คือถ้าไม่รับรู้ข้อมูลนั้นแล้ว เราเสี่ยงที่จะเสียอะไรบ้าง คำถามที่ห้าคือยิ่งได้ข้อมูลนั้นมาช้ามากขึ้น ประโยชน์ของข้อมูลนั้นจะลดลงมากน้อยแค่ไหน เพื่อลดความรีรอที่จะรับรู้ข้อมูลความจริงนั้น

ถ้ามีเงินคริปโทอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วได้พบข่าวคราวความเสี่ยงเกี่ยวกับเงินคริปโทปรากฏขึ้นเป็นระยะๆ คนหนึ่งกลัวเสียเงินแล้วใช้ความกลัวนั้นมาปิดหูปิดตาไม่รับรู้ข่าวสารความเสี่ยงเหล่านั้น

หลอกตนเองว่าความเสี่ยงไม่มีอยู่จริง อีกคนหนึ่งกล้าเผชิญหน้าว่าความเสี่ยงมีมากน้อยแค่ไหน คงเดาไม่ยากว่าคนแรกหรือคนที่สองมีโอกาสตัดสินใจแล้วเสียเงินไปเปล่าๆ มากกว่ากัน

พยายามตั้งคำถามจากเรื่องเล็กไปหาเรื่องใหญ่ ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องใหญ่เหมือนกับถามเรื่องเสียเงินเป็นล้าน ทำใจยอมรับข้อมูลความจริงได้ยากกว่าถามเรื่องเงินพันเงินหมื่น

ความกลัวเสียหายเพิ่มขึ้นตามขนาดของเรื่องนั้นอย่างทวีคูณ คือถ้าเรื่องใหญ่ขึ้นเป็นสองเท่า เราจะกลัวเพิ่มขึ้นสี่เท่า ยิ่งกลัวมากก็ยิ่งหลอกตนเองมากขึ้น

เชื่อสุดใจว่าใครคนหนึ่งดีแสนดี จะปิดหูปิดตาไม่รับรู้ความจริงอย่างไร คนไม่ดีก็ไม่กลายเป็นคนดีขึ้นมาได้.

คอลัมน์ : ก้าวไกลวิสัยทัศน์

รศ.ดร.บวร ปภัสราทร

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี