ไทย 1 ใน 5 ประเทศ นโยบาย 'ลดโลกร้อน'ขั้นต่ำสุด ระดับไม่เพียงพอขั้นวิกฤติ
ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศ ที่มีนโยบายและแนวทางปฏิบัติลดโลกร้อนอยู่ในขั้นต่ำสุด ระดับไม่เพียงพอขั้นวิกฤติ ขณะที่ภาคประชาชนยื่น 23 ข้อเสนอถึงภาครัฐแก้ปัญหามองทุกมิติ ทบทวนคาร์บอนเครดิต
Keypoints:
- นโยบายและแนวทางปฏิบัติในการลดโลกร้อนของประเทศไทย เป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ถูกจัดอยู่ในระดับไม่เพียงพอขั้นวิกฤต ซึ่งเป็นขั้นต่ำที่สุด
- การแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5ในประเทศไทย ถูกมองว่าชี้จำเลยที่ไม่ตรงจุดทั้งหมด โยนบาปให้ภาคเกาตรกรรมทั้งหมด ขณะที่แหล่งกำเนิดจากโรงงานอุตสาหกรรมกลับถูกมองผ่าน ไม่อยู่ในแผนการแก้ปัญหาทั้งที่มีกว่า 1 แสนแห่ง
- ภาคประชาชน ยื่น 23 ข้อเสนอถึงรัฐบาลและฝ่ายค้าน ครอบคลุมนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาพรวม นโยบายทบทวนคาร์บอนเครดิต นโยบายทบทวนคาร์บอนเครดิต
เมื่อเร็วๆนี้ ภาคประชาสังคม นักวิชาการที่ขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากฐานชุมชนและคนชายขอบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีสนับสนุนต่าง ๆ ร่วมกันจัดเวที “ประชาชนสู้โลกเดือด” หรือ COP ภาคประชาชน ภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “ความท้าทายนโยบายโลกและไทยในภาวะโลกเดือด”
ไทย 1 ใน 5 ระดับต่ำสุดนโยบายลดโลกร้อน
ประสาท มีแต้ม นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาสภาคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า นับถึงกันยายน 2564 ประเทศไทยได้รับการประเมินจากองค์กรclimate Action Tracker ให้เป็น 1 ใน 5 ของประเทศที่มีนโยบายและการกระทำในการลดโลกร้อนในระดับไม่เพียงพอขั้นวิกฤตซึ่งเป็นขั้นต่ำที่สุด อยู่กลุ่มเดียวกับอิหร่าน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย และสิงคโปร์
โดยประเทศที่ดีที่สุดบรรลุเป้าหมายมีเพียงประเทศแคมเรีย ที่เป็นประเทศเล็กในแอฟริกา ส่วนประเทศอังกฤษอยู่ระดับเกือบจะเพียงพอ สหรัฐอเมริกาอยู่ในระดับไม่เพียงพอ และประเทศส่วนใหญ่ล้มเหลวหมด
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) 2015-2030ของสหประชาชาตินั้น เรื่องการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดและเข้าถึงได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดและจะเป็นต้นเหตุของเป้าหมายอื่นๆ โดย SWB 100 % หรือซูเปอร์พาวเวอร์(Super Power)ที่ประกอบด้วย โซลาร์เซลล์ ลม และแบตเตอรี่ จะเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่จะเปลี่ยนโลกและต้นทุนของพลังงานเหล่านี้จะลดลงอีก 80 %
ชี้จำเลยฝุ่นPM2.5ไม่ครบ แก้ปัญหาไม่สำเร็จ
วันเดียวกัน มีการสรุปบทเรียนการแก้ปัญหาฝุ่นPM 2.5 ที่ผ่านมาด้วย โดยเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ฝุ่นPM2.5 มีการโยนบาปให้กับภาคเกษตรทั้งหมด เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น เนื่องจากประเทศไทยมีรายงานว่าการปล่อยPM2.5สู่สิ่งแวดล้อมจากภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพียง 5-7 % ขณะที่ข้อมูลในต่างประเทศไม่มีประเทศใดระบุว่า ต่ำกว่า 10 % ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับ 30-50 %
ทั้งนี้ ผลจากการศึกษาสมุทรสาครสีเขียวเรื่องของการปล่อยPM2.5จากทุกภาคส่วนที่มีการปล่อยทั้งจากรถยนต์ การเผาขยะ การเผาภาคเกษตร โรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ประมาณ 6,000กว่าแห่งในจ.สมุทรสาคร พบว่า เมื่อคำนวณรวมทั้งหมดปรากฎว่าPM2.5 จากภาคอุตสาหกรรมสูงถึงประมาณ 40,000 ตันต่อปี ขณะที่ PM 10 สูงถึง 70,000ตันต่อปี ส่วนภาคเกษตรมีการปล่อยประมาณ 190กว่าตันต่อปี ภาคขนส่ง รถยนต์ต่างๆปล่อยอยู่ที่ระหว่าง 200-400 ตันต่อปี และการเผาขยะก็อยู่ประมาณเท่านี้
อีกทั้ง การเผาภาคเกษตร หรือไฟป่าเป็นไปตามฤดูกาล ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยอากาศออกมา 24 ชั่วโมงใน 365 วัน ขณะที่ประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 120,000-140,000 กว่าแห่ง จะมีโรงงานที่ปล่อยอากาศออกสู่สิ่งแวดล้อมประมาณ 70,000 กว่าแห่ง กระจายทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเรื่องใหญ่ ไม่เพียงปริมาณที่ปล่อยออกมา แต่พบสารที่ปนอยู่ในPM2.5 เป็นโลหะหนักบางตัวด้วย
“สังคมไทยถูกทำให้เรื่องของแหล่งกำเนิดมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรรมหายไปจากการแก้ปัญหาPM2.5 ไม่มีการพูดถึงในแผนการจัดการของภาครัฐ เมื่อเป็นเช่นนี้ส่งผลให้ไม่เพียงแก้ปัญหาPM2.5ไม่ได้แล้ว ยังเป็นการโทษผิด จะต้องนำเรื่องนี้มาร่วมในการแก้ปัญหาที่สำคัญด้วย เพราะเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่า PM2.5 จากการเผาภาคเกษตรและไฟป่า”เพ็ญโฉมกล่าว
23 ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย
ภายหลังการประชุมมีการจัดทำคำประกาศ เวทีนโยบายและวิชาการสาธารณะ
กู้วิกฤติโลกเดือดและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยมือประชาชน (COP28 ภาคประชาชน) โดยในส่วนของข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยและพรรคฝ่ายค้าน รวม 23 ข้อ ประกอบด้วย
1.สร้างความสมุดลในนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐ โดยเพิ่มสัดส่วนการสนับสนุนนโยบายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาชน ชุมชน เกษตรกร คนจน ให้สมดุลกับนโยบายลดก๊าซเรือนกระจก
3.ปรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDC) จากเดิมที่กำหนดเป้าหมายคาร์บอนเป็นกลางในปี 2050 และก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 โดยปรับเป็นคาร์บอนเป็นกลางในปี 2030 และก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2040 โดยเริ่มลดในปี 2024 ทันที ไม่ต้องรอถึงปี 2030
4.ทิศทางหลักของการลดก๊าซเรือนกระจก ควรมุ่งลดภาคที่ปล่อยคาร์บอนเป็นหลัก ได้แก่ ภาคพลังงานฟอสซิล อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารขนาดใหญ่ โดยตรง สู่ Real ZERO (ไม่ใช่ NET ZERO) โดยไม่ใช้ระบบชดเชย (offset) คาร์บอนเครดิตมาเบี่ยงเบนความรับผิดชอบ
5.นำข้อเสนอนโยบายโดยคณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงแห่งสหประชาชาติ ด้านข้อตกลง Net Zero ที่เกี่ยวกับภาคเอกชน 2020 มาเป็นฐานนโยบาย ได้แก่ ห้ามไม่ให้หน่วยงานรัฐและเอกชนอ้างบรรลุ Net Zero ในขณะที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานฟอสซิล ห้ามไม่ให้เอกชนซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการลดปล่อยคาร์บอนในกิจกรรมการผลิตของตน เป็นต้น
6.พัฒนาร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นใหม่โดยประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อสร้างระบบความรับผิดชอบแก่ภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ปรับลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเอง ไม่ใช้ระบบตลาดคาร์บอนที่นำมาสู่การฟอกเขียวได้
7.บรรจุการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไว้ในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทุกประเภท รวมไปถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA)
8.ยุตินโยบายและการดำเนินงาน มาตรการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้และการเกษตร
9.ทบทวนโครงสร้างและแนวทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (BCG โมเดล) ที่เอื้อผลประโยชน์ทับซ้อนและฟอกเขียวภาคทุนที่จะเอาป่าของประเทศมาอ้างคาร์บอนเครดิต
10.กำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะภาคส่วนสำคัญคือ พลังงานฟอสซิล อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการคุมอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาฯ
11.ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และการคลัง โดยเฉพาะหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon tax) สำหรับผู้ปล่อยแกสเรือนกระจกและผู้ก่อมลพิษอื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัว ไปใช้เทคโนโลยีที่สะอาด ในขณะเดียวกันต้องนำภาษีที่เก็บได้นำไปใช้สำหรับการปรับตัวของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
12. ทบทวนกฎหมาย กลไกนโยบายการจัดการป่าทั้งหมดให้กระจายอำนาจ และรับรองสิทธิการจัดการป่าของชุมชนและพื้นที่สีเขียวของประชาชน
13.ทบทวนแนวทางบรรลุเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียว โดยเน้นไปที่การส่งเสริมบทบาทของภาคชุมชน ประชาชนในการจัดการป่า
14.ปรับเปลี่ยนแบบแผนเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวปล่อยแกสเรือนกระจก ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นเกษตรกรรมเชิงนิเวศในรูปแบบต่างๆ ไม่ส่งเสริมรูปแบบเกษตรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
15.รัฐควรมีนโยบายส่งเสริมเกษตรนิเวศ ซึ่งเป็นระบบเกษตรที่คำนึงถึงระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ และอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ
16.เปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดภายในปี 2040 เริ่มจากเร่งปลดระวางถ่านหินให้หมดภายในปี 2027
17.ปฏิรูปโครงสร้างระบบพลังงานไฟฟ้า หยุดลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการขนาดใหญ่แห่งใหม่ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังนํ้าขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้าน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนกว่าไฟฟ้าสำรองจะลดลงสู่มาตรฐาน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนอย่างเสรีและเป็นธรรม เร่งเดินหน้านโยบาย Net-metering หรือระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า พัฒนาระบบซื้อ-ขายส่งไฟฟ้าที่เป็นธรรม เจรจาลดภาระที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ที่มีอยู่
18.ทบทวนการพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงการขนาดใหญ่ทั้งหมดที่ทำลายนิเวศ สร้างก๊าซเรือนกระจก
19.ให้รัฐดำเนินนโยบายคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิชุมชน
20.มีนโยบายการบูรณาการมิติเความเสมอภาคระหว่างเพศ
21. พัฒนาระบบการเงินเรื่องโลกร้อนที่มุ่งส่งเสริมชุมชนและประชาชนในการสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ปรับตัว และมีบทบาทลดก๊าซเรือนกระจก เช่น กองทุนปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองทุนลดความสูญเสียและเสียหาย
22. มีนโยบาย มาตรการคุ้มครอง ฟื้นฟู ชดเชยความสูญเสีย เสียหายของประชาชนต่อผลกระทบภาวะโลกเดือด มี
23.รัฐต้องพัฒนาให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ เพื่อเกษตรกรโดยได้วางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสม รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เช่น น้ำท่วม แล้ง ฝน เป็นต้น