“ชีวิตนี้ไม่ได้มีแค่งาน จงแคร์คนรอบข้างบ้าง” สิ่งที่ ‘เกตส์’ อยากบอกกับตัวเองวัยยี่สิบ
เปิด 5 บทเรียนชีวิตที่บิล เกตส์ (Bill Gates) ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์อยากบอกกับตัวเองตอนเด็ก ตั้งแต่วิธีเลือกงานแรก การเริ่มทำสิ่งใหม่ ไปจนถึงการแคร์คนรอบข้าง
ผู้อ่านหลายคนคงเคยมีจุดหนึ่งในชีวิตที่อยากรู้ “ข้อเท็จจริง” บางอย่างที่มันเกิดขึ้นกับเราแล้วตั้งแต่ช่วงวัยยี่สิบต้นๆ ซึ่งบิล เกตส์ (Bill Gates) ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ก็ไม่ต่างกัน และเขาก็มีความรู้สึกเสียใจกับบางสิ่งบางอย่าง หนึ่งในนั้นคือการไม่ตระหนักได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า งานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานบทความหนึ่งในช่วงที่เกตส์กล่าวสุนทรพจน์ให้ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นแอริโซนาผ่านการเล่าบทเรียนชีวิตห้าข้อที่เขาคิดว่าเขาน่าจะรู้ตั้งแต่ช่วงเวลาที่กำลังจะเรียนจบมหาวิทยาลัย โดยเกตส์เริ่มสุนทรพจน์ว่า
“บทเรียนอะไรที่คนที่ดรอปเรียนจะรู้บ้างเกี่ยวกับการเรียนจบมหาวิทยาลัย” คำตอบคือ “ไม่มากนัก” เพราะเกตส์ออกจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดเพื่อก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์
1. งานแรกไม่ใช่ที่สุดของชีวิต
บทเรียนแรกที่เกตส์เล่าให้บรรดานักศึกษาฟังคืออาชีพแรกที่คุณเลือกไม่จำเป็นต้องเป็นอาชีพที่คุณทำมันไปตลอดชีวิตก็ได้ “คุณอาจจะได้รับแรงกดดันมากมายช่วงนี้ โดยเฉพาะแรงกดดันที่บอกให้คุณรีบตัดสินใจเลือกงาน และคุณอาจคิดว่าอาชีพแรกที่คุณเลือกจะเป็นอาชีพที่อยู่กับคุณตลอดไป แต่คำแนะนำของผม คือไม่จำเป็น”
โดยเกตส์เสริมว่า การหมั่นประเมินเป้าหมายของตัวเองอยู่บ่อยๆ เป็นสิ่งที่ดี และมันก็โอเคที่ท้ายที่สุดคุณจะเลือกทำในสิ่งที่คุณไม่ได้จินตนาการไว้ตั้งแต่ตอนแรก
2. อย่ากลัวที่จะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่
จงใจดีกับตัวเองเพราะไม่เป็นอะไรเลยถ้าสิ่งที่คุณวางแผนไว้จะไม่เป็นไปตามสิ่งที่คิด แต่เหนือสิ่งอื่นใดจงจำไว้ว่าอย่าปิดกั้นตัวเองจากประสบการณ์ใหม่ๆ โดยเกตส์อธิบายเสริมว่า หลังจากที่เขาออกจากมหาวิทยาลัย เขาคิดว่าเขารู้ทุกอย่าง แต่ความเป็นจริงคือ
“สิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนรู้สิ่งใหม่คือ เรียนรู้ว่าเราไม่รู้อะไร ไม่ใช่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้ว”
ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์คนนี้เสริมว่า “ในอนาคตพวกคุณจะเจอปัญหาที่คิดว่าด้วยความสามารถปัจจุบัน คุณไม่สามารถแก้ไขมันได้แน่ คำแนะนำของผมคือหายใจลึกๆ อย่ากังวล จงบังคับตัวเองให้ค่อยๆ คิดหาวิธีจากนั้นให้ไปหาบุคคลต้นแบบเพื่อเรียนรู้จากเขา”
3.อย่าคิดถึงแต่ตัวเอง หัดช่วยผู้อื่นบ้าง
เกตส์เป็นหนึ่งบุคคลที่ค่อนข้างเอื้อเฟื้อเพื่อแผ่และชื่อของเขามักไปอยู่บนพาดหัวหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะโครงการด้านการกุศลเพื่อสังคม และในสุนทรพจน์ครั้งนี้เกตส์ก็เล่าให้นักศึกษาฟังถึงความสำคัญของการใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น โดยย้ำกับเหล่าบัณฑิตว่า “ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยการสร้างความแตกต่าง”
เกตส์เสริมว่า “เมื่อไรก็ตามที่คุณใช้เวลาของตัวเองเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาสำคัญของโลก สิ่งนั้นจะกระตุ้นให้คุณอยากใส่แรงกายแรงใจเพื่อทำมันออกมาให้ดีที่สุด และนอกจากสิ่งนั้นจะทำให้คุณเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นแล้ว ปัญหาเหล่านั้นยังทำให้คุณใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความหมายมากกว่าเดิม”
4. เน็ตเวิร์คคือสิ่งที่จำเป็น
เกตส์ย้ำเตือนเหล่าบัณฑิตว่าเพื่อที่นั่งข้างๆ คุณวันนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อร่วมชั้นหรือเพื่อร่วมมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่คือ “เครือข่ายสังคม” ที่ท้ายที่สุดจะทำให้คุณไปถึงจุดหมายอะไรบางอย่างเพราะผู้คนเหล่านั้นจะกลายไปเป็นอนาคตผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เพื่อร่วมงาน คนที่คอยซัพพอร์ตคุณ ผู้ให้คำแนะนำหรือให้ข้อมูล
“ใบปริญญาที่คุณถือติดอกลงไปจากเวทีวันนี้ไม่สำคัญหรือมีคุณค่าเท่ากับใครที่คุณเดินลงเวทีไปแล้วนั่งข้างๆ ด้วยแน่นอน”
5. ชีวิตนี้ไม่ได้มีแต่ "งาน งาน งาน"
สุดท้ายเกตส์เล่าว่าต้องไม่ลืมว่ามีสิ่งที่สำคัญมากกว่าการทำงาน และทุกคนจำเป็นต้องปล่อยให้ตัวเองหยุดพักบ้างถ้าจำเป็น พร้อมกันนั้นเกตส์อธิบายถึงช่วงแรกๆ ที่เขากลายไปเป็นผู้ประกอบการ เขามักอยู่ที่ออฟฟิศมืดค่ำและส่งข้อความไปหาลูกน้องดึกๆ ดื่นๆ
“แรกๆ ผมอยู่ออฟฟิศดึกดื่น ส่งข้อความสั่งงานลูกน้องมืดค่ำ แต่หลังจากมีลูกผมก็รู้ว่ามันมีสิ่งสำคัญอื่นมากกว่าการทำงาน หนึ่งในนั้นคือการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และให้รางวัลกับความสำเร็จบ้าง”
อ้างอิง