เสพติดความสมบูรณ์แบบ 'Perfectionist' ดีต่อตัวเอง-เพื่อนร่วมงานจริงหรือ?
ความสมบูรณ์แบบ 'Perfectionist' ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต หรือการทำงาน ดูจะเป็นสิ่งที่หลายๆ คนต้องการ เพราะ 'Perfectionist' เป็นการการันตีว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่ผ่านความสำเร็จ ได้รับคำชื่นชมมาแล้วจำนวนมาก
Keypoint:
- เมื่อพูดถึงคนกลุ่ม 'Perfectionist' หลาย ๆ คนมักจะเรียกพวกเขาว่า 'มนุษย์เป๊ะ' ผู้ที่นิยมความสมบูรณ์แบบจะไม่ปล่อยอะไรที่ผิดพลาด (ในความคิดของตัวเอง) ให้หลุดไปแม้แต่นิดเดียว
- ชาวเป๊ะมักจะมีลักษณะนิสัยในการทำงานที่รอบคอบ ใส่ใจรายละเอียด ชอบความท้าทาย และมีความรับผิดชอบสูง แต่หากมากเกินไปจะกลายเป็นกดดันตนเอง เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง ตามมา
- การจัดการความเป๊ะที่มากเกินไป ควรเปลี่ยนวิธีคิดให้รู้จักปล่อยวาง ไม่เปรียบเทียบหรือกดดันตัวเองจนเกินไป รู้จักระบายออกไป ให้กำลังใจลูกน้อง หาความสุขเล็กๆ และควรยึดทางสายกลาง
การเป็น 'Perfectionist' มนุษย์เป๊ะ ที่หลายๆ คนชื่นชมอาจกลายเป็นภาระอันหนักหนากับการที่ต้องแบกรับความคาดหวังจากคนอื่น เพราะคุณเป็นคนที่ใส่ใจในรายละเอียด รอบคอบ มีความรับผิดชอบสูง นิยมความสมบูรณ์แบบ และมักจะไม่ปล่อยผ่านความผิดพลาดต่าง ๆ ออกไปได้ง่าย ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์หรืองานออกมาดีที่สุด
แต่หากมากเกินไป สุดท้ายอาจจะกลายเป็นความกดดันตัวเอง ถึงความเพอร์เฟกต์จะดูเป็นความหมายในแง่ดี ทำให้ดูเป็นคนมีแบบแผนในการใช้ชีวิต แต่การ Perfectionist หรือ เป๊ะ' มากเกินไป อาจทำให้สุขภาพ (จิต) ใจ ไม่เป๊ะตามก็เป็นได้
'กรุงเทพธุรกิจ' จะชวนทุกคนมาสำรวจความสมบูรณ์แบบ ความเป๊ะ ของตัวเองว่ามีมาก มีน้อย มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร? และหากมีมากเกินไปจะส่งผลอย่างไรบ้าง? ต้องรับมือ หรือหาวิธีแก้อย่างไร?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'เป๊ะ' มาก ดีต่องาน แต่สุขภาพแย่ ทำงานหาเงินจ่ายค่าหมอแบบไม่รู้ตัว
Perfectionist ทุกอย่างในชีวิตต้องไม่ผิดพลาด แต่อาจทำใจพังไม่รู้ตัว!
สำรวจตัวเองคุณ 'เป๊ะ' นิยมสมบูรณ์ระดับไหน?
- ไม่ว่าจะทำอะไรคุณมักมีเป้าหมายที่ชัดเจน
- คุณมองเห็นความผิดพลาดเล็กน้อยที่ผู้อื่นไม่ค่อยสังเกตเห็น
- เมื่อคุณบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ คุณก็จะตั้งเป้าหมายอันใหม่ทันที
- คุณโฟกัสที่ปลายทางเท่านั้น ไม่มีคำว่าเกือบถึงสำหรับคุณ
- คุณมักโทษตัวเองเสมอ เมื่อเกิดความผิดพลาด หรือไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
- คุณรู้สึกไม่สบายใจ หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย เมื่อทำอะไรไม่ได้ดั่งใจที่ต้องการ
- คุณมักผัดวันประกันพรุ่งในการที่จะริเริ่มสิ่งใด เพราะกังวลว่าจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
- คุณอาจจมกับการทำสิ่งใดนาน เพียงเพราะคิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ สิ่งนี้ยังทำได้ไม่ดีพอ
- คุณกำหนดวิธีการที่เฉพาะเจาะจงในการลงมือทำบางอย่าง ที่บางครั้งดูละเอียดมากเกินไปสำหรับคนอื่น
- คุณใช้เวลามากจนถึงกับอดหลับอดนอน กับการทำให้บางอย่างสมบูรณ์แบบ
เช็กที่มาของความสมบูรณ์แบบ คุณมีกี่ข้อ
- เคยถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับความสนใจ
พื้นฐานของคนเราต้องการการมีสังคม การที่ถูกละเลยไม่ได้รับความสนใจในวัยเด็กก็เป็นหนึ่งสาเหตุที่กระตุ้นให้เราหันมาพัฒนาตัวเอง เพื่อให้เป็นจุดสนใจ ได้รับความรักและคำชื่นชม
- ครอบครัวคาดหวัง ทำอะไรต้องเนี๊ยบ
เพราะความสำเร็จของลูกเป็นสิ่งที่ทำให้พ่อแม่สุดแสนจะภูมิใจ ทำให้หลายครอบครัวสร้างเงื่อนไขให้ลูกโดยไม่รู้ตัวว่าจะต้องประสบความสำเร็จ จนท้ายที่สุดลูกก็ต้องตะเกียกตะกายทำให้ได้ตามที่ถูกคาดหวัง จนเกลียดความผิดพลาดในที่สุด
- โดนเปรียบเทียบอยู่เป็นประจำ
เป็นสิ่งที่ดีที่จะยกเอาคนที่ประสบความสำเร็จมาเป็นแรงบันดาลใจ แต่ไม่ใช่! การที่เอาความสำเร็จนั้นมากดดัน เปรียบเทียบ ทำไมไม่เป็นแบบนั้น แบบนี้ เป็นอีกสิ่งที่ทำให้คุณกลายเป็น Perfectionist โดยไม่รู้ตัว
เนี๊ยบมากไปเกินไป เสี่ยงสุขภาพจิตพัง
ชีวิตที่รายล้อมไปด้วยความสำเร็จที่น่ายกย่อง ความเข้มแข็งที่เฉิดฉายในสายตาของคนภายนอก แต่กลับรู้สึกว่างเปล่า อ้างว้าง อยู่ภายใน สิ่งนี้นี่แหล่ะที่ ดร. Margaret R Rutherford จิตแพทย์ผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้มากว่า 25 ปี นิยามว่าเป็น
"กลุ่มอาการซึมเศร้าที่มาจากการเสพติดความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectly Hidden Depression"
กลุ่มอาการนี้ดูเหมือนจะมีอาการแสดงออกที่ไม่รุนแรง คุณอาจไม่ได้มีความรู้สึกจมดิ่ง คุณอาจไม่เคยต้องเสียน้ำตา รวมถึงไม่เคยมีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายปรากฎขึ้นในความทรงจำใดๆ เพราะคุณเก็บซ่อนความหดหู่เอาไว้ภายใต้ความสำเร็จ ความเครียดที่สั่งสมจะค่อยๆ กัดกร่อนคุณจากภายใน จากทั้งความคาดหวังในตัวเอง และความคาดหวังในสังคม
คุณไม่เคยเปิดโอกาสให้ตัวเองได้มีอิสระหลุดจากรอบของความสมบูรณ์แบบ คุณก้าวเดินไปทุกๆ วัน กับคำว่า ต้องทำได้ดีกว่านี้ ควรทำแบบนี้จะดีกว่า เป็นวังวนอย่างไม่จบสิ้น สิ่งเหล่านี้นี่แหล่ะที่สร้างความปวดร้าว การสูญเสียอิสระในการใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นที่พร้อมจะนำไปสู่อาการซึมเศร้าแฝงได้โดยไม่รู้ตัว
ข้อดีของการเป็น 'มนุษย์เป๊ะ' ที่ทุกคนต้องการ
- ผลงานที่ยอดเยี่ยม
คนที่เป็น Perfectionist ทั้งหลายมักจะเป็นคนที่ตั้งเป้าหมายสูง มีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะทำให้สำเร็จ และก็มักจะสำเร็จออกมาเป็นอย่างดีซะด้วย เพราะความทุ่มเทพยายามอย่างเหลือล้นในการมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมกันความละเอียดรอบคอบในการตรวจเช็คทุกอย่างเพื่อให้ไม่มีข้อผิดพลาด หรือถึงจะมีก็จะน้อยมากที่สุด
- งานเสร็จทันกำหนด
เพราะคนที่เป็น Perfectionist มักมาพร้อมความรับผิดชอบสูงมาก Deadline คือ Deadline เมื่อถึงเวลางานต้องเสร็จ คนที่มีนิสับรักความสมบูรณ์แบบ Perfectionist ที่มาพร้อมการวางแผนงานมาอย่างดี มักจะกำหนด Deadline ของแต่ละขั้นตอนไว้อย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบโดยรวม และยังเผื่อเวลาไว้แก้ปัญหา เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุดตามที่ตั้งใจไว้
- สร้างสรรค์นวัตกรรมชั้นยอด
คนที่มีลักษณะ Perfectionist จะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถเปลี่ยนโลก หรือเปลี่ยนองค์กรไปเลยก็ได้ เพราะพวกเขาเหล่านี้จะมีโฟกัสสูงมาก ตั้งใจทำอะไรแล้วทำจริงแบบกัดไม่ปล่อย ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือในแง่ของการแก้ปัญหา เหล่า Perfectionist ก็จะสามารถคิดค้นนวัตกรรมหรือวิธีการเพื่อมาแก้ปัญหานั้น ๆ ให้จนได้
- เป็นผู้นำชั้นดี
นอกจากจะมีมาตรฐานสูงแล้ว Perfectionist ยังจะเป็นพวกนักพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพราะชอบกำหนดไปเป้าหมายแล้วทำให้ได้ เมื่อสำเร็จแล้วก็จะกำหนดเป้าหมายต่อไป รวมไปถึงมีความมั่นใจและยังพร้อมทุ่มเททำงานอย่างไม่ลดละเพื่อให้สำเร็จอีกด้วย ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นพลังงานที่พร้อมจะแผ่ออกไปให้ทีมและคนรอบข้าง เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้อง ทั้งในแง่ของการไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ มุ่งมั่นทำงานให้สำเร็จ มีวินัยสูง และความมั่นใจที่จะนำทุกคนให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
- บุคลิกดี 'เป๊ะ' ทุกสถานการณ์
เพราะว่าเป็นคนมีวินัยและมาตรฐานสูง ชาว Perfectionist เลยมักไม่ค่อยปล่อยตัวให้ดูไม่ดี เรียกได้ว่าเสื้อผ้าหน้าผมต้องเป๊ะอยู่เสมอ บวกกับบุคลิกภาพที่ดูมั่นใจแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเดินอยู่ในบริษัท หรือไปประชุมกับลูกค้าที่ไหน ก็สามารถสร้างความประทับใจให้กับคนที่พบเจอได้ไม่ยาก
หากบริษัทใด หรือองค์กรไหน มีผู้บริหาร และพนักงาน Perfectionist ย่อมจะได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมายแน่นอน
ข้อเสียของการเป็น perfectionist
เมื่อมีข้อดี ก็ย่อมมีข้อเสียเช่นเดียวกัน ซึ่งข้อเสียของเหล่า Perfectionist นั้นมีไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบ ก็มักจะตามมาด้วยอาการเครียดและกดดันตัวเอง ซึ่งเรารู้กันดีอยู่แล้วว่าความเครียดส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ
- เกิดภาวะซึมเศร้า ผลเสียต่อจิตใจ
จากการศึกษาของ Dr. Thomas Curran นักจิตวิทยาและอาจารย์จาก University of Bath ประเทศอังกฤษ ได้อธิบายถึงอันตรายของการเป็น Perfectionist ไว้ว่า เป็นต้นกำเนิดของปัญหาทางสุขภาพจิตที่อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า เนื่องจากการยึดติดในความสมบูรณ์แบบมากเกินไป จนเกิดเป็นความกังวล ความกดดัน ทั้งต่อตัวเองและเพื่อนร่วมงาน และยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็น ไบโพล่า (Bipolar) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ซึ่งมีสาเหตุมาจากอาการวิตกกังวลมากเกินไปอีกด้วย
- ความเครียดสะสม นำไปสู่โรคร้าย
นอกจากผลเสียทางสุขภาพจิตแล้ว การเป็น Perfectionist ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายร่วมด้วย โดยเฉพาะการเกิดความเครียดสะสมที่อาจนำไปสู่การเป็นโรคทางกายต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นโรคอันตรายอื่น ๆ ได้อีกมากมาย
- ใช้เวลาในการทำงานมากเกินความจำเป็น
อีกหนึ่งผลเสียที่เกิดจากความเป็น Perfectionist ในการทำงานก็คือ พนักงานเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะใช้เวลาในการทำงานมากเกินความจำเป็น เพราะมัวแต่ใส่ใจในรายละเอียดที่ไม่จำเป็นมากเกินไป หรือบางคนอาจจะเป็นคนที่กังวลว่ายังไม่มีความพร้อมในการทำงานมากพอ รอจังหวะที่ใช่ก่อนลงมือทำ จนทำให้พลาดโอกาสดี ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย
- เกิดภาวะกดดันตัวเอง เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง
นอกจากนั้น ยังส่งผลเสียต่อเพื่อนร่วมงานและลูกน้องที่ทำงานร่วมกันด้วย เพราะพนักงาน Perfectionist ที่ยึดติดความสมบูรณ์แบบ นอกจากจะกดดันตัวเองแล้ว ยังอาจจะแผ่ความกดดันนี้ไปสู่เพื่อนร่วมทีม หรือลูกน้องในทีมให้มีความเครียดไปตาม ๆ กัน ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมโดยรวมของบริษัท ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ในภายหลัง
ปรับวิธีคิด ลดตึงเครียด จากความเป๊ะ
ไม่ว่าจะเป็นตัวคุณเองที่เป็น Perfectionist ที่มากเกินไป หรืออาจจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายที่คุณกำลังทำงานอยู่ด้วยมีแนวโน้มที่เป็นมนุษย์ 'เป๊ะ'มากเกินไปจนทำให้บรรยากาศในที่ทำงานตึงเครียดเกินความจำเป็น และเริ่มส่งผลเสียต่อคุณแล้วล่ะก็ สามารถรับมือกับปัญหานี้โดยเริ่มพัฒนาจากการ 'ปรับวิธีคิด' โดย
- ลองมองภาพรวมของงาน มากกว่าที่จะมองเพียงแค่ข้อผิดพลาด และดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจจะไม่ได้ส่งผลต่องานโดยรวมเท่าไหร่นัก
- แทนที่จะกดดันตัวเองและทีมให้ต้องทำในสิ่งที่ถูกตลอดเวลา ก็ลองคิดว่าทุกอย่างย่อมเกิดข้อผิดพลาดกันได้ และทุกปัญหามีทางออกเสมอ
- มองปัญหาในแง่มุมใหม่ ว่าเรื่องนี้สอนอะไรเราบ้าง และเราจะนำสิ่งนี้ไปพัฒนาต่ออย่างไรได้บ้าง
- เตรียมแผนสำรองไว้คอยรับมือความผิดพลาดต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ
- ลองตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ง่าย ๆ ในระหว่างการทำโปรเจค แทนที่จะมุ่งไปที่เป้าหมายใหญ่เมื่องานสำเร็จทีเดียว วิธีนี้จะช่วยให้คุณและทีมได้ชื่นชมกับความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ตลอดการทำงาน และยังเป็นการเติมกำลังใจชั้นดีอีกด้วย
- รู้จักการเห็นอกเห็นใจทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เพราะสิ่งนี้จะช่วยลดความแข็งกระด้าง รวมถึงอารมณ์หงุดหงิด กดดัน และความตึงเครียดที่เกิดจากการยึดติดในความเพอร์เฟกต์ได้
อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบ Perfectionist เป็นการทำงานที่ใช้แรงผลักดันให้เกิดความสมบูรณ์แบบ ถึงแม้จะทำให้เนื้องานออกมาไม่มีที่ติ แต่ก็สามารถสร้างความเครียดให้กับตนเองและคนรอบข้างได้ไม่น้อย ซึ่งมนุษย์เป๊ะนั้น ก็มีลักษณะเด่นที่ส่งผลดีและเสียกับการทำงาน ดังนี้
- ความรับผิดชอบสูง...แต่...มักจะทุ่มเทกับงานมากเกินไป จนอาจกระทบความสัมพันธ์กับผู้อื่น
- ใส่ใจทุกรายละเอียด...แต่...สร้างความกดดันให้กับตัวเองและคนใกล้ชิด
- พัฒนาตัวเองในด้านใดด้านหนึ่งจนชำนาญ...แต่...ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ ไม่ยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ไม่ฟังความคิดเห็นใคร
- เป็น 1 ในลักษณะของผู้บริหาร....แต่...กลัวความผิดพลาด ขาดความคิดสร้างสรรค์ ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวยอมรับความผิดพลาดไม่ได้
- ถนัดการทำงานภายใต้ความกดดันและท้าทาย...แต่...เครียดง่าย ไม่มีคำว่า Relax
จะเห็นว่า ความ Perfectionist ที่ถูกนำมาใช้ในการทำงานนั้น ช่วยทำให้งานบรรลุผลได้ดีทีเดียว แต่หากมีมากเกินไปจะรบกวนการดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ครอบครัวและคนใกล้ชิดได้ หากคร่ำเคร่งกับความสมบูรณ์แบบมากแล้วเกิดความผิดพลาด ผิดหวังขึ้นมา จะนำพาไปสู่โรคซึมเศร้าและอาจเป็นฉนวนให้คิดฆ่าตัวตายได้
ดังนั้น การปรับตัวเองเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับมนุษย์เป๊ะ โดยเฉพาะการเปลี่ยนวิธีคิดให้รู้จักปล่อยวาง ไม่เปรียบเทียบหรือกดดันตัวเองจนเกินไป คล้ายกับการนำธรรมะเข้าข่มจิตใจ ค่อย ๆ ปล่อยวาง ยอมรับพื้นฐานและความเป็นไปของโลก
ทุกครั้งที่เกิดข้อผิดพลาด จากที่เคยเอาแต่โทษตัวเอง จนลุกลามสร้างความเครียดให้กับคนรอบข้าง ควรพูดคุยกับคนสนิทเพื่อระบายออกไป และเริ่มรับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ลืมที่จะให้อภัยตัวเอง แล้วนำมุมมองของคนอื่นมาปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น
อะไรที่พลาดสามารถแก้ไขได้ เตรียมแผนสำรองไว้เสมอ เมื่อเราปล่อยวางจากความกดดันแล้วก็ถึงเวลาต้องยอมรับว่า ใคร ๆ ก็พลาดกันได้ ไม่มีใครที่ดีพร้อม 100% แต่เมื่อทำผิดแล้วต้องแก้ไข ไม่หนีปัญหา
ใช้ความกดดันและจัดการความเครียดให้เป็นเส้นชัย ด้วยคติ 'เป้าหมายมีไว้พุ่งชน' แต่เราจะพุ่งไปหามันอย่างฉลาด หากเป็นหัวหน้าทีม ก็เป็นโอกาสดีที่จะใช้ความเป๊ะกับการทำงานกับทีม ช่วยกันทำงาน ช่วยตรวจสอบคุณภาพงาน แล้วก็อย่าลืมที่จะให้กำลังใจลูกน้อง
ไม่ลืมที่จะมองหาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัว เพราะทำงานด้วยความสมบูรณ์แบบ ส่วนใหญ่จะปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ จนบางคนอาจไร้ความสุขในการทำงาน ลองเว้นวรรคสักนิด มองหาไอเดียความสุขในที่ทำงาน หรือกิจกรรมสนุก ๆ หลังเลิกงาน ไป hangout กับเพื่อนร่วมงานบ้างก็เป็นความคิดที่ดี
ความต้องการความสมบูรณ์แบบ หรืออะไรก็แล้วแต่ หากมีมากเกินพอดีจนจัดการมันไม่ได้ จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะนอกจากตัวเราจะจมดิ่งสู่ความเครียดขั้นรุนแรงแล้ว ยังกระทบคนรอบข้างที่เรารักและรักเรา ดังนั้นไม่ว่าการทำงาน การเรียน หรือการดำรงชีวิตก็ควรยึดทางสายกลาง ทำอะไรแต่พอดีจะดีที่สุด
อ้างอิง: โรงพยาบาลพญาไท , SkillLane , JobsDB by SEEK , Krungsri Plearn เพลิน