องค์กรสุขภาพดี แหล่งชาร์ตพลัง 'หมอตั้ว' @เอเดลไวซ์ เดนทัลเฮ้าส์
"ผู้บริหารยุคใหม่ ต้องเข้าถึงได้ง่าย แก้ปัญหาทั้งเรื่องของงานและจิตใจ เป็นที่อุ่นใจของพนักงาน เป็นนักแก้ปัญหาในองค์กร ทำให้ทุกคนสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกัน ทำให้เป็นองค์กรสุขภาพดี"
KEY
POINTS
- ปัจจุบันมีสถานพยาบาลภาครัฐราว 1,000 แห่ง ในขณะที่มีคลินิกทันตกรรม 6,447 คลินิก คลินิกเฉพาะทางทันตกรรมอีก 143 คลินิก ภาพรวมตลาดกำลังคนภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น
- ศูนย์ทันตกรรมเอเดลไวซ์ เดนทัลเฮ้าส์ ให้ความสำคัญการบริหารคน เพราะหากคนมีคุณภาพ การบริการก็จะมีคุณภาพไปด้วย ยิ่งงานบริการ "คน” เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจให้อยู่รอด
- ผู้บริหารยุคใหม่ ต้องเข้าถึงได้ง่าย สนิทสนม พูดคุยกับทุกคน แก้ปัญหาทั้งเรื่องของงานและจิตใจ เป็นที่อุ่นใจของพนักงานทุกคน ทุกเจนอย่างเท่าเทียม
ตลาดการให้บริการด้านทันตกรรมมีมูลค่าตลาดกว่า 6,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนในโรงพยาบาลในประเทศไทยคิดเป็น 10 % และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 'ศูนย์ทันตกรรมเอเดลไวซ์ เดนทัลเฮ้าส์' จึงเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่อยากจะสร้างคลินิกที่มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ ให้การรักษาที่พิถีพิถันทุกขั้นตอน ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่สุด ในราคาที่เข้าถึงได้
เพราะว่าปัจจุบันผู้คนได้ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพปากและฟันมากขึ้น และศูนย์ทันตกรรมหลายแห่งมีการให้บริการที่หลากหลาย แม้ว่าทันตแพทย์ของประเทศจำนวนกว่า 20,000 คน จะอยู่ในภาครัฐและเอกชนในสัดส่วนใกล้เคียงกันราว 50 % และทันตแพทย์ภาครัฐก็ให้บริการทันตกรรมภาคเอกชนนอกเวลาราชการ ทำให้ทิศทางตลาดแรงงานทันตกรรมในภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากปัจจุบันมีสถานพยาบาลภาครัฐราว 1,000 แห่ง ในขณะที่มีคลินิกทันตกรรม 6,447 คลินิก คลินิกเฉพาะทางทันตกรรมอีก 143 คลินิก เห็นได้ชัดว่าภาพรวมตลาดกำลังคนภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น
ขณะที่การเข้าถึงบริการทันตกรรมของคนไทย ผลสำรวจอนามัยและสวัสดิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 9.6 ในจำนวนนี้ร้อยละ 65-70 ใช้สิทธิเบิกจ่ายกองทุนสุขภาพ โดยผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการมีอัตราการเข้ารับบริการมากที่สุดร้อยละ 14.8 ประกันสังคมร้อยละ 12.3 บัตรทองร้อยละ 8.5
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เช็กก่อนเสี่ยง อ้วนแค่ไหน ถึงเข้าเกณฑ์ ‘โรคอ้วน’ น้ำหนักเกิน
JobsDB by SEEK แนะแรงงานไทย พร้อมสู้ทันยุคเทคโนโลยี เร่งพัฒนาศักยภาพ
'พัฒนาคน' หัวใจงานบริการคุณภาพ
หลังจากเปิดให้บริการศูนย์ทันตกรรมเอเดลไวซ์ เดนทัลเฮ้าส์ มา 4 ปี “หมอตั้ว -ผศ.ทพ.ดร.อธิคม สุรินทร์ธนาสาร ผู้อำนวยการการแพทย์ ศูนย์ทันตกรรมเอเดลไวซ์ เดนทัลเฮ้าส์” ให้สัมภาษณ์ กรุงเทพธุรกิจ ว่าการจะทำให้ศูนย์ทันตกรรม ได้รับความไว้วางใจจากคนไข้มาใช้บริการ ต้องทำให้คนไข้รู้สึกว่ามาแล้วได้รับการดูแล รักษาที่ดี มีความสบายใจ ไม่กลัว หรือวิตกกังวลที่จะต้องมาเจอหมอ ทีมแพทย์ นอกจากมีความเชี่ยวชาญแล้ว ต้องจิตใจดี พูดคุยกับคนไข้อย่างเป็นกันเอง เช่นเดียวกับพยาบาล เจ้าหน้าที่ต้องให้ความใส่ใจคนไข้ ซึ่งการที่ทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่จะมีใจบริการคนไข้ได้เริ่มจากการมีความสุขกับงานที่ตัวเองทำ
โดยจะให้ความสำคัญการบริหารคน เพราะหากคนมีคุณภาพ การบริการก็จะมีคุณภาพไปด้วย ยิ่งในงานบริการ "คน” เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดในยุคที่มีศูนย์ทันตกรรม คลินิกทันตกรรมทั่วทุกมุมเมือง ผู้บริหารต้องสร้างบรรยากาศการทำงานให้สบายๆ ให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข เข้าถึงได้ง่าย เป็นมิตรกับทุกคน และเปิดกว้างความคิดเห็น แพทย์ พยาบาล และพนักงานทั้ง 20 กว่าคนมีมุมมองการทำงานที่ไม่แตกต่างกัน จะคัดเลือกคนที่มี DNA ตรงกับองค์กร เป็นพนักงานที่มีความสุขและอินกับงานที่ทำ
บริการเหนือคาดหวังคนไข้
การจะทำให้องค์กรอยู่รอดและเติบโตได้ต้องพัฒนาคนให้มีศักยภาพ พนักงานที่มีตั้งแต่อายุ 20 ปีไปจนถึง 50 ปี ทุกคนมีความหลากหลายและเป็นไปตามลักษณะเจเนอเรชั่นของตนเอง สิ่งที่องค์กรต้องทำ คือทำให้ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน มองว่าศูนย์ทันตกรรมแห่งนี้เป็นของทุกคน เป็นแหล่งความสุขที่ทุกคนต้องสร้างร่วมกัน
“พนักงานทุกแผนก จะมี DNA ชัดเจนในความพยายามบริการเหนือกว่าความคาดหวังของคนไข้ เพราะการทำฟันอาจจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับหลายคน เราจะไม่เรียกคนไข้ แต่พยายามเรียกชื่อแทน เพื่อให้เขารู้สึกว่าสบายใจ และเราจะเอาใจใส่ ยิ้มแย้ม ทุกคนจะสนุกในการทำงาน ซึ่งหากพนักงานมีอัตลักษณ์เหล่านี้ เวลาทำงานพวกเขาก็จะปล่อยพลังบวกใส่คนไข้ คนไข้ก็จะอยากรักษา และพร้อมรับฟังในสิ่งที่พนักงานอธิบาย” หมอตั้ว กล่าว
การรักษาเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณคนไข้ พนักงานทุกคนจึงต้องเข้าใจทิศทางขององค์กรว่าการบริการที่ดีเป็นอย่างไร และต้องทำให้คนไข้เข้าใจวิธีการดูแลรักษาฟันและสุขภาพช่องปาก พนักงานทุกคนจะได้รับการอบรมทักษะการสื่อสาร การบริการด้วยใจ ต้องพร้อมอธิบายคนไข้ แม้จะต้องอธิบายซ้ำๆ เพื่อลดความกังวล ความกลัวให้กับคนไข้ ทำให้คนไข้รู้สึกเหมือนพูดคุยกับคนในครอบครัว
AI แทนงานบริการแทนคน
ตอนนี้แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไปมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการดูแลรักษาฟันมากขึ้น แต่ AI ไม่สามารถเข้ามาแทนที่คนได้ หากทุกคนมีทักษะในการปรับตัว เวลามีอะไรใหม่ๆ ต้องเรียนรู้ อย่าไปยึดติดรูปแบบเดิมๆ
พนักงานทุกคนไม่กลัวว่า AI จะมีแทนที่ เพราะ เป็นงานบริการทางการแพทย์ และความเป็นคนไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการบริการด้วยใจ การเอาใจใส่คนไข้ อัธยาศัยที่ดี การสื่อสารพูดคุยอย่างเข้าใจ ให้กำลังใจคนไข้ ล้วนเป็นสิ่งที่ AI มาแทนที่ไม่ได้
แต่ทั้งนี้ผู้พนักงานจะได้รับการดูแลที่ดีก่อนที่จะไปดูแลคนไข้ ผู้บริหารจะให้ความสำคัญในการพูดคุยกับพนักงาน เปิดกว้างทางความคิด พนักงานทุกคนสามารถเสนอความคิดได้ เพราะพวกเขาใกล้ชิดกับคนไข้ งานบริการบางอย่างก็ต้องปรับตามความต้องการของคนไข้
โดย จะนำ AI จะมาช่วยในเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์ หรือการจัดทำข้อมูลต่างๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องงานบริการ คนยังเป็นส่วนสำคัญที่สุด
"ศูนย์ทันตกรรมเอเดลไวซ์ จะมีโปรแกรมฝึกอบรมทักษะต่างๆ ให้ตามความสนใจของพนักงาน ให้พวกเขาได้ปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สร้างคนให้เหมาะสมกับองค์กร มีสวัสดิการวันหยุดเพิ่มตามวันเกิด และการดูแลพนักงานอย่างดี เพราะถ้าพนักงานได้รับสิ่งดีๆ จากองค์กร อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี แบบครอบครัว ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกันจะทำให้พวกเขามีแรงมีพลังในการทำงานมากขึ้น”หมอตั้ว กล่าว
ไม่มีผิดถูกทุกคนเท่าเทียมกัน
ขณะนี้คนแต่ละเจนจะมีความแตกต่างกัน ยิ่งเด็กรุ่นใหม่เจน Z พวกเขาจะมีอัตลักษณ์ มุมมองความคิดที่อาจไม่เหมือนคนเจนอื่นๆ แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาทำงานไม่ได้ เพียงแต่หัวหน้างานต้องเข้าใจ ซึ่งใครๆ ก็สามารถเลือกงานได้หากมีความสามารถ และมีเคมีเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร ไม่ได้มองว่าคนรุ่นใหม่จะแตกต่างกับคนรุ่นอื่น แต่ผู้บริหาร หัวหน้างานต้องเข้าใจพวกเขา คนรุ่นใหม่อาจต้องการอิสระในการทำงาน ต้องการความสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิต ผู้บริหารต้องเป็นตัวประสานทำให้คนหลากหลายเจนช่วยกันทำงาน เป็นทีมเดียวกัน
“ที่นี่มีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัยน้อยมาก เราพยายามทำให้ทุกคนมองหาข้อดีของอีกเจน และยอมรับความคิดแตกต่างอย่างนอบน้อมต่อกัน ในแต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือนจะมีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน โดยจะทำทุกอย่างให้จบเร็วที่สุด เปิดช่องให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และทุกเรื่องต้องจบบนโต๊ะประชุม ทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่มีคำว่าผิดถูก ทุกคนเท่าเทียมกัน”หมอตั้ว กล่าว
ทุกคนสร้าง Work life balance ได้
ทุกคนสามารถสร้าง Work life balance ให้แก่ตัวเองได้ เพียงแต่คำนิยามหรือการสร้างความสมดุลของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน อย่างหมอตั้ว มองว่าการทำงาน ทำให้มีความสุข สนุก เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตกับตัวเอง หรือคนที่ชอบอิสระ ทำงานส่วนน้อยไปเที่ยวส่วนใหญ่ นั้นก็เป็นความสมดุลของพวกเขา ไม่มีอะไรผิด หรืออะไรถูก ถ้ามีการวางแผนที่ดี และไม่สร้างภาระให้แก่ตัวเอง ครอบครัว หรือใครก็สามารถทำได้ จะบอกพนักงานเสมอว่า การทำงานที่ดีจะต้องเป็นงานที่ทำให้ตัวเองมีความสุข สนุกในแต่ละวัน และพยายามสร้างศูนย์ทันตกรรมเอเดลไวซ์ ให้เป็นแหล่งทำงานที่ช่วยชาร์ตพลังให้ทั้งพนักงานและคนไข้
“ผู้บริหารยุคใหม่ ต้องเข้าถึงได้ง่าย สนิทสนม พูดคุยกับทุกคน แก้ปัญหาทั้งเรื่องของงานและจิตใจ เป็นที่อุ่นใจของพนักงาน ไม่ได้มองว่าเป็นหัวหน้างานแต่มองว่าเป็นผู้ประสาน นักแก้สถานการณ์ แก้ปัญหาในองค์กร ทำให้ทุกคนสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกัน มองจุดแข็ง ข้อดีของแต่ละคนมาเชื่อมเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้ศูนย์ทันตกรรมแห่งนี้เป็นองค์กรสุขภาพดี” หมอตั้ว กล่าวทิ้งท้าย