“โภชนบำบัด” คืออะไร? เมื่ออาหารช่วยเยียวยาโรคทางจิตเวชได้!
นอกจากการใช้ยาและการรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ จะช่วยรักษาผู้ป่วยจิตเวชให้หายป่วยได้แล้ว ยังมีการดูแลเรื่องอาหารการกินเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาอาการของโรคได้อีก
คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าการรักษาผู้ป่วยทางจิตเวชในปัจจุบันเน้นการให้ความรู้ คำปรึกษา ทำจิตบำบัด และการใช้ยารูปแบบต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่แท้จริงแล้วยังมี “โภชนบำบัด” หรือ Nutrition Therapy เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการวางแผนเมนูอาหาร ให้คำปรึกษาด้านอาหารเพื่อปรับให้เหมาะสมกับอาการป่วยของแต่ละโรค
โภชนบำบัดนั้นเหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคทางกายร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต มีภาวะน้ำหนักเกิน เป็นต้น ไปจนถึงผู้ที่มีพฤติกรรมกินอาหารผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะจิตใจ (Eating disorder) อาจทำให้มีพฤติกรรมกินอาหารมากหรือน้อยเกินไป ส่งผลต่อน้ำหนักที่ผิดปกติและมีภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยมารับคำปรึกษาจาก “นักกำหนดอาหาร” ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านโภชนาการและสารอาหาร มีหน้าที่ให้โภชนบำบัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
โดยประเมินภาวะโภชนาการ สอบถามพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนการให้โภชนบำบัดที่เหมาะสม และเริ่มให้คำปรึกษาทางโภชนาการ ปรับพฤติกรรมการกิน วางแผนรายการอาหาร จัดมื้ออาหารทั้งมื้อหลักและมื้อว่างระหว่างวัน ไปจนถึงจำนวนมื้ออาหารที่เหมาะสมกับพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน
หลังจากนั้นผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์และนักกำหนดอาหารตามนัดอย่างต่อเนื่องเพื่อทำการประเมินว่าหลังจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินแล้ว มีผลต่อโรคที่รักษาอยู่ไปในทิศทางใด และที่สำคัญต้องสังเกตว่าผู้ป่วยมีความรู้สึกเชิงบวกต่อการกินอาหารมากขึ้นหรือไม่
แล้วโรคทางจิตเวชแบบใด ? จำเป็นต้องใช้โภชนบำบัด ในการรักษา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นมาให้รู้ ดังนี้
1. Anorexia Nervosa หรือโรคคลั่งผอม
เป็นโรคที่คนในสังคมค่อนข้างรู้จักเป็นอย่างดี เพราะมีศิลปิน หรือผู้มีชื่อเสียงหลายคนป่วยเป็นโรคนี้และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งผู้ป่วยมักคิดว่าตนเองอ้วนอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดและเกิดพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ถูกต้อง หมกหมุ่นกับปริมาณแคลอรี ทำให้จำกัดการกินและประะเภทอาหาร เพื่อให้น้ำหนักลดลงได้มากที่สุด เป็นสาเหตุให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ โดยร้อยละ 90-95 ของผู้ป่วยเป็นหญิงที่มีอายุอยู่ระหว่าง 13-30 ปี
2. Bulimia Nervosa
ผู้ป่วยจะกินอาหารเยอะมาก ควบคุมการกินอาหารไม่ได้ แต่หลังกินแล้วรู้สึกผิด จึงพยายามควบคุมน้ำหนักโดยการล้วงคอให้อาเจียนหรือใช้ยาระบาย เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่มักสัมพันธ์กับความเครียดที่เพิ่มขึ้น กลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่จะเป็นหญิงสาวในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
3. Binge Eating Disorder
ผู้ป่วยจะกินอาหารเร็วกว่าปกติในปริมาณมากทั้งที่ไม่รู้สึกหิว ควบคุมตนเองไม่ได้ ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและอ้วนก่อนวัยอันควร พบบ่อยในช่วงอายุ 12-25 ปี และเพศหญิงเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าเพศชาย 1.5-6 เท่า แม้ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่ความเครียด ความผิดหวังจากการลดน้ำหนัก ไม่มั่นใจรูปร่าง รวมถึงโรคไบโพลาร์และโรคซึมเศร้า อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้
4. Night Eating Syndrome
ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกหิวในมื้อเช้า และกินได้น้อยในระหว่างวัน แต่เมื่อหลังหกโมงเย็นเป็นต้นไปจะรู้สึกหิวและกินอาหารเป็นจำนวนมาก ในบางรายมีการสะดุ้งตื่นกลางดึกเพื่อมาหาของกินมากกว่า 3 ครั้งต่อคืน และรู้สึกว่าการกินอาหารมื้อดึกช่วยคลายเครียดได้ ถ้าไม่ได้กินตอนดึกจะนอนไม่หลับ แม้อาการนี้จะพบได้เพียงร้อยละ 1-3 ของจำนวนประชากร แต่ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและโรคประจำตัว เช่น นอนไม่หลับ เครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล รวมถึงวัยทำงานก็สามารถเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้มากโดยไม่รู้ตัว
ไม่ใช่แค่โรคทางจิตเวชเท่านั้น แต่ “โภชนบำบัด” มีความสำคัญอย่างต่อการรักษาโรคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ได้แก่ โรคทั่วไป โรคติดเชื้อ การผ่าตัด หรือการดูแลแผลบาดเจ็บ โดยโภชนบำบัดเป็นการรักษาสมดุลหรือการเพิ่มคุณค่าทางสารอาหารให้ร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดสารอาหาร และช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อส่วนที่สึกหรอ
นอกจากนี้ยังมีการใช้โภชนบำบัด ในการให้อาหารทางปาก (Oral nutritional supplements) ทางสายยาง (Enteral Nutrition) หรือให้ผ่านทางสายสวนหลอดเลือดดำ (Parenteral Nutrition)ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้งานระบบย่อยอาหารได้
สำหรับผู้ป่วยทางจิตเวชที่ใช้โภชนบำบัดเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาจำเป็นจะต้องมีวินัยในการกินมากพอสมควร รวมถึงต้องไปพบจิตแพทย์และนักกำหนดอาหารตามนัดทุกครั้งเพื่อรับการประเมินว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ เพื่อทำการปรับเมนูอาหารให้เหมาะสม ยิ่งมีวินัยและความอดทนมากเท่าไรก็จะมีโอกาสหายจากโรคสูงขึ้น
อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลมนารมย์ และ B BRAUN