สาวออฟฟิศต้องรู้ “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” เกิดได้จากหลายสาเหตุ
หลายคนอาจเข้าใจว่าการอั้นฉี่ หรือ “กลั้นปัสสาวะ” เป็นประจำ ส่งผลให้เป็นโรค “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” แต่ความจริงยังมีหลายปัจจัย แม้แต่กางเกงในก็สำคัญ!
ผู้หญิงวัยทำงานหลายคนอาจมีความจำเป็นต้อง “กลั้นปัสสาวะ” ในบางสถานการณ์ เช่น รถติด ประชุมยาว หรืออยู่ในที่ ที่ไม่เหมาะกับการปัสสาวะได้อย่างถูกสุขอนามัย เช่น ห้องน้ำสาธารณะที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้เลือกที่จะ “กลั้นปัสสาวะ” แล้วไปทำธุระที่บ้านแทน เมื่อทำแบบนี้บ่อยๆ รู้ตัวอีกทีก็ทำเป็นประจำจนส่งผลให้เป็นโรค “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” ในเวลาต่อมา
ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบมากกว่าผู้ชาย
เนื่องจากมีท่อปัสสาวะสั้นกว่า ทำให้เสี่ยงติดเชื้อง่ายกว่า รวมถึงพฤติกรรมของสาวๆ บางอย่าง ก็มีส่วนทำให้เป็นโรคดังกล่าวได้ง่ายขึ้น เช่น การสวมกางเกงในที่รัดเกินไป, การเช็ดทำความสะอาดอวัยวะเพศ และก้นผิดวิธี, ไม่ล้างอวัยวะเพศทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ ก็เป็นสาเหตุให้ป่วยโรคนี้ได้ง่ายเช่นกัน
แต่ถ้าให้พูดกันตามตรง หลายคนอาจหลีกเลี่ยงการอั้นฉี่หรือกลั้นปัสสาวะได้ยาก เพราะการใช้ชีวิตปัจจุบันบางสถานการณ์ก็ไม่เอื้อให้เข้าห้องน้ำได้ง่าย เช่น รถติดแต่ไม่มีห้องน้ำใกล้เคียง ก็เป็นเรื่องยากที่จะปัสสาวะสำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่รวมไปถึงผู้ชายบางคนด้วย
สำหรับ “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” คือ โรคในกลุ่ม “ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ” (urinary tract infection หรือ UTI) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากบริเวณรอบท่อปัสสาวะ เกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะท่อปัสสาวะสั้น และอยู่ใกล้ช่องคลอดกับทวารหนัก ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะได้ง่าย ส่วนผู้ชายมีท่อปัสสาวะยาวกว่า และอยู่ห่างจากทวารหนัก โอกาสที่เชื้อโรคจะผ่านเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะจึงมีน้อยกว่ามาก
เช็กอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบเบื้องต้น
หากเริ่มสงสัยว่าตนเองเข้าข่ายป่วยเป็นโรคนี้หรือไม่ สามารถเช็กอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบเบื้องต้นได้ดังนี้
- ปัสสาวะบ่อย แต่ครั้งละทีละน้อยๆ มีอาการคล้ายถ่ายปัสสาวะไม่สุด
- ปวดบริเวณท้องน้อย ในลักษณะปวดแสบ ขัด ขณะปัสสาวะโดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด
- ปัสสาวะขุ่น บางครั้งมีกลิ่นผิดปกติ หากอาการหนักอาจมีเลือดปนมากับปัสสาวะด้วย
ไม่ใช่แค่การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานที่หลายคนเผลอทำจนเป็นนิสัย เช่น ไม่ยอมลุกมาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนระหว่างหลับ หรือนั่งติดโต๊ะทำงานเป็นเวลานานตอนกลางวัน ที่ทำให้เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงยุคนี้เริ่มป่วยโดยไม่รู้ตัว ได้แก่
- กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุให้เชื้อโรคในปัสสาวะเจริญเติบโตได้ดี
- ดูแลรักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี โดยเฉพาะการทำความสะอาดผิดวิธี เช่น เช็ดก้นจากด้านหลังมาด้านหน้าทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย รวมถึงการไม่ล้างทำความสะอาดหลังมีเพศสัมพันธ์ทันทีสวนล้างช่องคลอดด้วยยาปฏิชีวนะ ทำให้แบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคถูกกำจัดออกไป จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ใส่กางเกงในรัดบริเวณอวัยวะเพศมากเกินไป
- การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
- การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เมื่อฮอร์โมนเพศหญิงลดลงทำให้ความชุ่มชื้นบริเวณเยื่อบุช่องคลอด และเยื่อบุท่อปัสสาวะซึ่งช่วยป้องกันการติดเชื้อลดลงตามไปด้วย
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากควบคุมโรคได้ไม่ดีก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ
- ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน
- การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน
หากใครที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ควรรีบปรับปรุงพฤติกรรมการเข้าห้องน้ำเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ เพราะด้วยกายภาพของผู้หญิงก็มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำการดูแลตัวเองเพิ่มเติมจากแพทย์ดังนี้
- ไม่กลั้นปัสสาวะ ถ้าปวดปัสสาวะต้องบังคับตัวเองให้เข้าห้องน้ำทันที หรือเร็วที่สุด
- ในผู้สูงอายุหลายคนเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะนอนหลับเป็นเวลานาน โดยไม่ลุกไปปัสสาวะระหว่างคืน จึงไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานผลไม้ที่มีน้ำมากๆ ก่อนเข้านอน
- ทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยการเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง
- ไม่สวนล้างช่องคลอดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ใช้แค่สบู่ธรรมดาล้างภายนอกก็พอ
- หลังมีเพศสัมพันธ์ ควรปัสสาวะทิ้ง และทำความสะอาดร่างกายทันที
- ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน เพราะหากควบคุมไม่ได้ก็จะติดเชื้อซ้ำ
- ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หากมีการติดเชื้อซ้ำบ่อย อาจจำเป็นต้องใช้ยาปรับฮอร์โมน แต่การใช้ฮอร์โมนอาจมีผลข้างเคียงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
- ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาปรับภูมิต้านทาน จำเป็นต้องปรับยาตามดุลยพินิจของแพทย์
ในบางคนอาจมีปัจจัยบางอย่างที่ไม่สามารถทำตามได้ทุกข้อ แต่ข้อที่สำคัญที่สุดคือ การล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกวิธีเพื่อลดการติดเชื้อ และหากเริ่มรู้สึกตัวว่ามีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะหากรักษาไม่ทันอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น กรวยไตอักเสบ (pyelonephritis) อาจทำให้ไตเสียหายถาวร หรือ ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นต้น
อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์