วัยเก๋าต้องระวัง!! "โรคเก๊าท์เทียม" อาการปวด บวมอักเสบตามข้อเฉียบพลัน

วัยเก๋าต้องระวัง!! "โรคเก๊าท์เทียม" อาการปวด บวมอักเสบตามข้อเฉียบพลัน

ทำความรู้จัก "โรคเก๊าท์เทียม" หนึ่งในโรคที่เกิดในกลุ่มสูงวัย และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก ซึ่งโรคดังกล่าวมีความแตกต่างกับโรคเก๊าท์ ที่วัยเก๋าควรรู้

Keypoint:

  • รู้จัก "โรคเก๊าท์เทียม" โรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่วัยเก๋าต้องเฝ้าระวัง ปวด ข้ออักเสบ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ 
  • เช็กความต่างโรคเก๊าท์ กับโรคเก๊าท์เทียม ทั้งสาเหตุ อาการ ปัจจัย การรักษา และการป้องกัน
  • ปัจจุบันแม้จะไม่มีวิธีป้องกันป้องกันสะสมผลึกเกลือ CPPD สาเหตุของโรคเก๊าท์เทียมได้ แต่รักษาได้

จากกรณีที่ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  เดินทางเข้าพบแพทย์ และเข้ารับการรักษา อาการมือข้างขวาอักเสบ บวมและมีอาการปวดรุนแรง ภายหลังเดินทางกลับจากการลงพื้นที่ จ. พระนครศรีอยุธยา

โดยเบื้องต้น พบว่าอาการข้ออักเสบคล้ายนิ้วล็อค ไม่สามารถกำมือได้ทั้งหมดนั้น เป็นลักษณะคล้ายอาการของโรคเก๊าท์เทียม

ทว่าโรคเก๊าท์เทียม กับโรคเก๊าท์ เหมือนกันหรือไม่? เกิดจากอะไร? พฤติกรรมการใช้ชีวิตมีผลหรือไม่?  'กรุงเทพธุรกิจ' ได้รวบรวมทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “โรคเก๊าต์เทียม” โรคที่วัยเก๋าต้องเฝ้าระวัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"นายกฯ" มีอาการคล้าย "นิ้วล็อค-โรคเก๊าต์เทียม" แพทย์ ให้แอดมิทรอดูอาการ

โรคเกาต์รักษาได้ด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ต้องพึ่งยา

รู้จัก "ข้อเสื่อม - ข้ออักเสบ" โรคที่เป็นได้ทั้งเด็ก และผู้สูงวัย

ตรวจยีนแพ้ยาโรคเก๊าท์ฟรี 1 หมื่นรายเป็นของขวัญปีใหม่ 2563

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์เทียมในสูงวัย

ผศ.ดร.วิลาสินี หิรัญพานิช ซาโตะ อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายไว้ว่า โรคเก๊าท์กับโรคเก๊าท์เทียมนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งโรคเก๊าท์เทียม จะเกิดจากการสะสมผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรท "calcium pyrophosphate dehydrate (CPPD)"

โดยมักจะเกิดพยาธิสภาพขึ้นในข้อบริเวณใหญ่ๆ ของร่างกายและมักจะสะสมบริเวณเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อเท้านั้น ต่างจากโรคเก๊าท์ที่จะเกิดการตกผลึกเกลือ MSU ในบริเวณข้อและอวัยวะต่างๆ ได้หลายระบบ ผลึกเกลือชนิดดังกล่าวจะมีผลกระตุ้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการปวด บวม และอักเสบตามมา

ขณะที่ โรคเก๊าท์เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งหมายถึงภาวะที่ร่างกายมีระดับกรดยูริกในเลือด (serum uric acid, SUA) สูงกว่าปกติ (สูงกว่า 7 มก./ดล.) ทำให้เกิดการตกผลึกเกลือ "โมโนโซเดียมยูเรต" (monosodium urate; MSU) บริเวณข้อและเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย

โดยเฉพาะรยางค์ส่วนปลาย เช่น มือ และ เท้า ทั้งอาจทำให้เกิดก้อนโทฟัส (tophus) บริเวณข้อ เนื้อเยื่อผิวหนัง และท่อไตซึ่งอาจนําไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute renal failure) ได้ และการสะสมของผลึก MSU นี้ จัดเป็นสิ่งระคายเคืองต่อร่างกายที่จะกระตุ้นกระบวนการอักเสบ (inflammatory response) ทําให้เกิดภาวะข้ออักเสบเฉียบพลัน (acute arthritis) ขึ้น

 

เช็กอาการโรคเก๊าท์เทียม

ทั้งนี้ โรคทั้งสองชนิดก่อให้เกิดอาการปวดและอักเสบได้เหมือนกัน โดยโรคเก๊าท์จะก่อให้เกิดอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน บริเวณหัวมือเท้า ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าแรก (first metatarsophalangeal joint (MTP1) หรือ podagra) นอกจากนั้น พบอาการปวดได้ที่บริเวณข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้าและข้อนิ้วเท้า เป็นต้น

ดังนั้น ด้านอาการแสดงบางอย่างมีความคล้ายคลึงกับ โรคเก๊าท์ จึงถูกเรียกว่า โรคเก๊าท์เทียม แต่ในความจริงมีอาการแสดงได้หลายรูปแบบ จึงทำให้การวินิจฉัยค่อนข้างยากและสับสน อาการแสดงอาจมีรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  • ข้ออักเสบเฉียบพลัน คล้ายโรคเก๊าท์ มีปวดบวมแดงที่บริเวณข้อและเนื้อเยี่อรอบๆ ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า
  • ข้ออักเสบแบบเรื้อรัง คล้ายโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยเฉพาะที่บริเวณ ข้อมือ และข้อนิ้วมือ
  • ปวดข้อเรื้อรังแบบโรคข้อเสื่อม ข้ออาจจะถูกทำลาย และเกิดข้อผิดรูปในลักษณะที่คล้ายกับโรคข้อเสื่อมได้
  • ในบางครั้ง โรคเก๊าท์เทียม ไม่มีอาการข้ออักเสบ หรือปวดข้อ แต่พบความผิดปกติได้จากภาพถ่ายเอ็กซเรย์

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์เทียม

  • พบมากในผู้สูงอายุ
  • ชายและหญิงเกิดได้เท่าๆ กัน
  • พันธุกรรม มีบทบาทของการเกิดโรค
  • เกิดจากโรคอื่นๆ เช่น ข้อถูกทำลาย ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ในเลือดสูง หรือต่ำ  ระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำ  ธาตุเหล็กสะสมในร่างกาย และโรคเบาหวาน เป็นต้น
  • ด้านอาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่มีผลต่อโรคเก๊าต์เทียม

การวินิจฉัยโรคเก๊าท์เทียมที่แม่นยำที่สุด คือการเจาะข้อเพื่อส่งตรวจน้ำไขข้อ ซึ่งจะพบผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตในน้ำไขข้อนั้น แต่ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถเจาะข้อได้ หรือมีข้ออักเสบในตำแหน่งที่เจาะตรวจไม่ได้ หรือมาพบเเพทย์ในขณะที่อาการข้ออักเสบหายไปแล้ว อาจวินิจฉัยจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และภาพถ่ายเอ็กซเรย์ นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางราย อาจจำเป็นต้องตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค ป้องกันการสับสนจากโรคข้ออักเสบชนิดอื่น ๆ

การรักษา-ป้องกันโรคเก๊าท์เทียม

ทั้งนี้  ผู้ป่วยโรคเก๊าท์เทียม ซึ่งมีสาเหตุจากการสะสมผลึกเกลือ CPPD นั้นในปัจจุบันยังไม่มียาที่มีฤทธิ์ลดการสะสมผลึกเกลือ CPPD ดังนั้นในการรักษาโรคเก๊าท์เทียมนั้นจะใช้เฉพาะยาที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดและอักเสบเท่านั้นขณะเกิดอาการปวดเท่านั้น โดยสามารถใช้ยาระงับปวดที่ใช้รักษาอาการปวดขณะเกิดข้ออักเสบเฉียบพลันชนิดเดียวกับโรคเกาต์ เช่น ยากลุ่ม NSIADs และยาคลอจิซีน เป็นต้น

ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่สามารถไปละลายหินปูนออกจากกระดูกอ่อนได้ (ซึ่งต่างจากโรคเก๊าท์แท้ที่มียาละลายกรดยูริกออกจากเนื้อเยื่อในร่าง กายได้) ดังนั้น การรักษาโรคนี้ส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การรักษาอาการอักเสบของข้อ การป้องกันการเป็นซ้ำ และการตรวจหาโรคร่วมที่อาจพบร่วมกันโรคเก๊าท์เทียม พร้อมให้การรักษาควบคู่กันไป

สำหรับแนวทางการรักษาและป้องกันมีดังนี้ 

1. การรักษาทางยา ในรายที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะใช้ยาลดการอักเสบ เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรืออาจใช้ยาโคลชิซีน เหมือนกับการรักษาในโรคเก๊าท์แท้

2.ในรายที่มีน้ำในข้อมาก การดูดเอาน้ำไขข้อออกจะช่วยลดการอักเสบของข้อได้

3.ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อยารับประทาน อาจจำเป็นต้องใช้ยาฉีดเข้าข้อ ซึ่งการรักษาแบบนี้ไม่ควรจะกระทำบ่อย

4.การทำกายภาพบำบัด เป็นส่วนสำคัญเหมือนกับการดูแลข้ออักเสบทั่วไป

5.ค้นหาโรคที่พบร่วมกับโรคเก๊าท์เทียม พร้อมให้การรักษาที่เหมาะสม เพื่ออาจลดการตกตะกอนของผลึกเกลือที่กระดูกอ่อนผิวข้อเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรคเก๊าท์เทียมยังไม่มีวิธีที่ป้องกันสะสมผลึกเกลือ CPPD ได้ นอกจากแก้ไขที่สาเหตุของโรคที่ชักนำการสร้าง CPDD เช่น การรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น

แต่หากเกิดอาการปวดบ่อยๆ สามารถใช้ยาระงับปวดต้านอักเสบ เช่น ยาคลอจิซีน ยากลุ่ม NSAIDs ช่วยป้องกันการปวดอักเสบได้ นอกจากนั้นควรรักษาโรคเป็นสาเหตุของพยาธิสภาพโรคเก๊าท์เทียม 1 เช่น ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง และฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดต่ำ เป็นต้น

อ้างอิง: รพ.กรุงเทพ ,ศูนย์ศรีพัฒน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่