วิกฤติฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ นักวิชาการฯเปิด 4 แนวทางที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือล่าสุด (28 มี.ค.2566) สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นะ 4 แนวทางการป้องกันและแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชน เผยต้องทำอย่างเร่งด่วน
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ ล่าสุด (28 มี.ค.2566) สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย แนะ 4 แนวทางการป้องกันและแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
เฟซบุ๊ก ของนักวิชาการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พูดถึงประเด็นฝุ่น PM 2.5 ระบุว่า มุมมองในการป้องกันและแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ
1. ฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือสูงขนาดนี้ (ตั้งแต่ 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรติดต่อกัน) ต้องถือว่าเป็นภัยพิบัติหรือสาธารณภัยตามมาตรา 4ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ที่จังหวัดหรือท้องถิ่นสามารถออกประกาศเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยเพื่อนำงบประมาณออกมาช่วยเหลือพี่น้องไม่ให้ตายผ่อนส่งแบบนี้
2.การป้องกันสุขภาพของประชาชนที่ต้องรีบทำด่วน คือ
- อพยพเด็กเล็ก คนป่วย คนชราและคนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ไปอยู่ในอาคารที่จัดทำเป็นห้องปลอดฝุ่น PM 2.5 หรือห้อง Clean Room ซึ่งเป็นห้องติดแอร์ที่มีการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ด้วยแผ่นกรองอากาศชนิด HEPA (High Efficiency Particulate Air Filter) ซึ่งเป็นแผ่นกรองอากาศคุณภาพสูงทำมาจากเส้นใยไฟเบอร์กลาส (Fiberglass) ถักทอจนมีขนาดที่เล็กมากๆจนมีความสามารถในของการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กมากๆได้เป็นอย่างดี ห้องปลอดฝุ่นดังกล่าวต้องเร่งทำอย่างเต็มที่
- จังหวัดต้องแจกหน้ากรองกรองฝุ่นชนิด N-95 ให้ประชาชนใช้ทุกคน (ไม่ใช่หน้ากากอนามัย)
- สั่งให้ทุกคน Work from home และลดการเผาในที่โล่งทุกแห่ง
3.การจัดการเพื่อลดฝุ่นควันในพื้นที่
- ประกาศให้ประชาชนทราบและระดมกำลังทุกภาคส่วนออกไปจับผู้ที่แอบเผานำมาลงโทษอย่างจริงจังรวมทั้งเร่งดับไฟป่าและไฟที่เกิดจากการเผาอื่นๆในพื้นที่
- แจ้งไปยังเลขาสำนักงานอาเซียนและขอความร่วมมือให้เพื่อนบ้านลดการเผาลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- PM 2.5 เชียงรายวิกฤติหนัก 18 อำเภอ เช็ก 10 อันดับมลพิษทางอากาศมากสุดในไทย
4.ระยะยาวหรือปีต่อไป
- กำหนดระยะเวลาห้ามเผาให้ชัดเจน เช่น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงๆ รวมทั้งต้องมีมาตรการช่วยเหลือให้มีการไถกลบตอซังฟางข้าวหรือรับซื้อไปใช้โรงไฟฟ้าชีวมวลต่อไป
- กระจายงบประมาณในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่ง และมอบอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายจับกุมผู้ลักลอบเผาในพื้นที่รวมทั้งจัดสรรงบประมาณดับไฟในพื้นที่ด้วยโดยจังหวัดทำหน้ากำกับตรวจสอบให้เป็นไปตามเป้าหมาย
- รัฐบาลเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่อง Contact farming จะไม่รับซื้อผลิตผลทางการเกษตรที่ปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมายและผลิตผลที่มาจากการเผาตอซังและวัสดุเหลือใช้ทาง การเกษตร เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชผลที่ประทศไทยส่งเสริมให้ปลูกรวมกัน 8 ชนิดและรัฐบาลต้องบังคับให้ภาคเอกชนไทยทำตามนโยบายดังกล่าวด้วย