คลิก!!วิจัยเทรนด์ผู้บริโภค 'อาหารและเครื่องดื่ม'ช่วยเยียวยาจิตใจ
'มินเทล' เผยผลงานวิจัยบทบาทอาหารและเครื่องดื่มด้านการเยียวยาจิตใจ ไฮไลท์ใหม่หวังช่วยแบรนด์เข้าถึงเทรนด์ผู้บริโภคไทยทุก Gen ที่มีไลฟ์สไตล์ อารมณ์และความชื่นชอบไม่เหมือนกัน
Keypoint:
- 'สุขภาพจิต' ปัญหาที่คนทุกวัยกำลังประสบพบเจอ ยิ่งในภาวะที่ถูกกดดันทั้งหน้าที่การงาน การเรียน รายได้ ทำให้หลายๆ คนเกิดภาวะความเครียดจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า
- มินเทล ได้มีการศึกษาวิจัยอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยเยียวยาจิตใจของผู้คนในแต่ละGen พบว่าผู้บริโภคเกินครึ่งที่กำลังมองหาอาหารและเครื่องดื่มช่วยลดภาวะความตึงเครียด
- แต่ละGen ต้องการเครื่องดื่มและอาหารแตกต่างกัน Gen X ต้องการฟังก์ชั่นที่ดีต่อสุขภาพเรื่องชะลอวัย Gen Z และผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล ชอบเรื่อง 'การดื่มด่ำกับอารมณ์'
ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และไม่ได้เป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัว โดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกและคนไทยต่างเผชิญหน้ากับวิกฤตโควิด 19 ระบาดรุนแรง ทำให้สภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเดินไปข้างหน้าต้องหยุดชะงักและถดถอยลงอย่างรวดเร็ว
สถานะการเงินในกระเป๋าของผู้คนเริ่มถูกสั่นคลอน การงานที่คิดว่ามั่นคงกลับพลิกไปสู่ภาวะการตกงานโดยไม่ทันตั้งตัว ผู้คนทั่วโลกรวมถึงคนไทยเข้าสู่สถานการณ์ความตึงเครียดจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า มากขึ้นทุกวัน
จากการเปิดเผยข้อมูลด้านงานวิจัยและผลการสำรวจเรื่อง 'ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมองหาอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสนับสนุนการให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตและโอกาสที่แบรนด์ต่าง ๆ จะเข้าถึงเทรนด์นี้ได้อย่างไร โดยวางตำแหน่งและขับเคลื่อนความแตกต่างในพื้นที่สุขภาพจิต' ของRashmika Khanijou นักวิเคราะห์อาวุโส แผนกอาหารและเครื่องดื่ม มินเทล รีพอร์ทส์ ประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
Mintel เผย เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกประจำปี 2565
ผลสำรวจชี้ 'ผู้บริโภคไทย' ฮิตใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คซื้อ ‘สินค้าความงาม’
ผลวิจัยชี้ คนไทย 8 ใน 10 มีปัญหา "สุขภาพจิต" กลุ่ม "เจน Z" รู้สึกโดดเดี่ยวที่สุด
คนแต่ละGen มีปัญหาสุขภาพจิต ต้องการบริโภคต่างกัน
ภายในงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย หรือ THAIFEX 2023 พบว่า จำนวน 1 ใน 7 ของผู้บริโภคไทยเคยประสบปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงความตึงเครียด มีอาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มั่นใจในตนเอง และหมดไฟในการทำงาน อาการเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคพยายามแสวงหาแบรนด์ที่สามารถเข้ามาช่วยทำให้เกิดความสบายใจ และบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากความเครียดได้ในแต่ละวัน
Rashmika แนะว่าถ้ามีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มชนิดใด ที่สามารถเข้ามาช่วยทำให้สุขภาพจิตของผู้คนดีขึ้น หรือ มีคุณสมบัติ และส่วนผสมที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค รวมถึงมีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่ผู้บริโภคเชื่อมโยงถึงการมีสุขภาพจิตที่ดีได้ ก็จะเป็นโอกาสทางตลาดที่ดีของแบรนด์นั้น ๆ ที่จะเข้าช่วงชิงยอดขาย และเข้าถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคเนื่องจากสภาวะจิตใจของผู้บริโภคไทยจำนวนเกือบครึ่ง คือ 49 % ระบุว่าพวกเขามีสุขภาพจิตที่ ‘ดี’ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
ขณะที่อีก 16 % บอกแค่ว่าพวกเขามีสุขภาพจิตที่ 'ดีมาก' ซึ่งเท่ากับเป็นการตระหนักรับรู้ว่าพวกเขาไม่ได้มีสภาพจิตใจที่ดีดั่งที่ควรจะเป็น
จากรายงานของมินเทลเปิดเผยว่าผู้บริโภคไทยกลุ่ม Gen Z มีสภาวะจิตที่ถดถอย เมื่อเปรียบเทียบกับผู้บริโภคกลุ่มที่อายุมากกว่า ซึ่ง 39 % ของ Gen Z มีความรู้สึกโดดเดี่ยว เรียกได้ว่าเป็น Gen ที่มีความโดดเดี่ยวมากที่สุด เมื่อเทียบกับ 27 % ของผู้บริโภครวมทั้งหมด
'กลิ่น' อาหารและเครื่องดื่ม ช่วยทำให้เกิดสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
โดยปัจจุบันนี้ผู้บริโภคไทยจำนวนมากกว่าครึ่ง คือ 51 % จากผลสำรวจของมินเทล โกลบอล คอนซูเมอร์ ผู้บริโภคองค์รวม 2566 พบว่า เป็นกลุ่มที่พยายามหาวิธีในการลดความเครียดด้วยการให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อการเยียวยาจิตใจ หรือ คอมฟอร์ท ฟู้ด ( Comfort Food ) ดังนั้นอาหารคอมฟอร์ท ฟู้ด ( Comfort Food ) จะเข้ามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการช่วยสนับสนุนสุขภาพจิตที่ดีให้กับผู้บริโภคไทย
ที่ผ่านมา จากผลงานวิจัยของ มินเทลพบว่าผู้บริโภคจำนวน 46 % ใช้คอมฟอร์ท ฟู้ด หรือ อาหารเพื่อการเยียวยาจิตใจเป็นตัวช่วย โดยระยะเวลาของการใช้คอมฟอร์ท ฟู้ด อยู่ที่ 6 เดือน และสิ่งที่ผู้บริโภคนิยมใช้มากที่สุดกว่า 56 % คือ การพูดคุยกับครอบครัว และเพื่อน รองลงมาคือ การเข้าร่วมกิจกรรมสร้างความบันเทิง คิดเป็น 51 %
Rashmika กล่าวเสริมถึง เทรนด์ของผู้บริโภคตามแต่ละช่วงอายุเพื่อช่วยให้แต่ละแบรนด์ผลิตภัณฑ์สามารถเสาะหาโภชนาการแบบองค์รวมได้ออกมาดียิ่งขึ้น สำหรับกลุ่มผู้บริโภคไทย Gen X ต้องการอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่เกี่ยวกับเรื่องชะลอวัย ยิ่งเป็นผู้บริโภค Gen X มากกว่าครึ่ง คือ 54 % เชื่อว่าอาหารและเครื่องดื่มสามารถเข้ามาช่วยเรื่องการปรับปรุงสุขภาพจิตให้ดีขึ้นได้
ส่วนผู้บริโภค Gen Z และผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล จะเป็นกลุ่มที่ชอบเรื่อง 'การดื่มด่ำกับอารมณ์' กล่าวคือ เป็นกลุ่มที่ใช้ประสบการณ์ทางอารมณ์ในการยกระดับสภาพจิตใจของพวกเขา โดย 55 % ถึง 57 % เป็นการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อความบันเทิง และ 45 % ถึง 52 % คือ เล่นวิดีโอเกม โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้จะให้ความสนใจกับแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่ตอบโจทย์ด้านไลฟ์สไตล์ของพวกเขา ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต ไปด้วย
อย่างไรก็ดี ในด้านของรสชาติ รสสัมผัส และคุณสมบัติของอาหารเพื่อการเยียวยาจิตใจ หรือ คอมฟอร์ท ฟู้ด จากงานวิจัยของมินเทลชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของกลิ่น ว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกอาหารและเครื่องดื่ม เพราะผู้บริโภคไทยจำนวน 6 ใน 10 ระบุว่า 'กลิ่น' ของอาหารและเครื่องดื่ม มีคุณสมบัติช่วยทำให้เกิดสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้
จากแนวความคิดนี้ มินเทล รีพอร์ทส์ ประเทศไทย อาหารและเครื่องดื่มสำหรับสุขภาพจิตที่ดี 2566 ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกลุ่มผู้บริโภคที่มองว่ารสชาติของอาหารส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจ ถึง 73 % โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็มได้รับความนิยมอย่างสูง ผู้บริโภคไทยจำนวน 77 % ระบุว่าขนมขบเคี้ยวเป็นวิธีที่ดีสุดในการมอบความสุขให้กับตนเอง
ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด 19 ทำให้ขนมขบเคี้ยวได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะให้ความกรุบกรอบ ดังนั้นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว สามารถใช้โอกาสนี้ในการผลิตสินค้าที่มีรสสัมผัสที่มีความแตกต่างเพื่อช่วยบรรเทาความตึงเครียดได้ ประกอบกับมีรสสัมผัสที่ต้องเหมาะสมกับผู้ที่มีอาการปวดกราม
นอกจากนี้สินค้าที่มีประโยชน์เพิ่มเติมต่าง ๆ เช่น เครื่องมือช่วยให้เกิดการนอนหลับดีขึ้น หรือ เกิดความผ่อนคลาย ก็จะสามารถดึงดูดผู้บริโภคที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์แบรนด์ใดก็ได้ที่สามารถเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านการมีสุขภาพจิตที่ดีได้
จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นใยอาหารที่ช่วยให้อายุยืนแบบมีสุขภาพที่ดี เนื่องจากอาหารที่มีเส้นใยสูงสามารถช่วยปรับปรุงเรื่องของอารมณ์ได้ หรือ จะเป็นอาหารที่มีส่วนผสมไซโคไอโอติกส์ เช่น แบคทีเรียมีชีวิตประเภทโปรไบโอติกส์ ก็เป็นอาหารที่มีคุณสมบัติช่วยเรื่องปรับปรุงสุขภาพจิตได้เช่นกัน
ผู้บริโภค Gen X ในประเทศไทยจำนวน 46 % เห็นด้วยว่าระบบย่อยอาหารที่ดีก็สามารถช่วยทำให้สุขภาพ และอารมณ์ดีขึ้นได้จริง ดังนั้นแต่ละแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ โดยการใช้ประโยชน์จากความรู้ด้านจิตวิทยาโภชนาการมาสู่การเชื่อมโยงระหว่างร่างกาย และจิตใจให้ได้
ขณะที่ผู้บริโภคอายุน้อยที่ใช้ชีวิตผ่านการเสาะหาประสบการณ์ เช่น กลุ่มมินเลนเนียล และ Gen Z วิธีการนำผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร และเครื่องดื่ม ของแต่ละแบรนด์ควรนำเสนอเกี่ยวกับสัญญาณด้านสัมผัสและอารมณ์ที่ชวนให้นึกถึงอดีตผ่านการได้ลิ้มลองรสชาติและกลิ่นเฉพาะต่าง ๆ จะมีโอกาสได้ผลการตอบรับที่ดีมากกว่า