รพ.วิมุต เปลี่ยนโรงพยาบาลสู่ดิจิทัล ดึงเทคโนโลยี ตอบโจทย์การรักษา
รพ.วิมุต ตั้งเป้า โรงพยาบาลแห่งนวัตกรรม ดึงดิจิทัล ตอบโจทย์การรักษา นัดหมอ รับยา จ่ายค่าบริการ ไม่ต้องรอนาน พบแพทย์ทางไกล ผ่านเทเลเมดิซีน เพิ่มการเข้าถึงการรักษา เผย ปัจจุบัน เทคโนโลยี AI วัคซีน และ ยา ก้าวหน้ารักษาได้ตรงจุดมากขึ้น
Key Point :
- เทคโนโลยี นวัตกรรม การแพทย์ในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก เรียกว่านวัตกรรมเปลี่ยนชีวิต และเปลี่ยนโลก แต่ต้องเลือกให้ถูกและใช้ให้ถูก
- รพ. วิมุต ในฐานะโรงพยาบาลใหม่ มีความตั้งใจตั้งแต่ก่อตั้ง คือ การเป็นโรงพยาบาลแห่งนวัตกรรม โดยนำดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
- นอกจากนี้ ในปัจจุบัน วงการแพทย์ ยังมีการพัฒนาวัคซีน และยาที่ทันสมัย เช่น การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) ที่ช่วยให้รักษาได้ตรงจุดมากขึ้น
วันนี้ (22 มิถุนายน 2566) นายแพทย์สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวในงานสัมมนา Digital Life Forum 2023 นวัตกรรม เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนโลก จัดโดย Spring News โดยระบุว่า นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนโลก เราเริ่มต้นจากสิ่งง่ายๆ สมัยก่อนเราอยากจะรู้ว่าชีพจรเต้นอย่างไรจะต้องไปหาหมอ แต่ปัจจุบันมีนาฬิกาดิจิทัลสามารถใส่ติดข้อมือ และรู้ได้ว่าชีพจรเต้นอย่างไร ตั้งแต่มีอุปกรณ์เหล่านี้ เราเชื่อว่าจะทำให้รอดชีวิตได้มากขึ้นจากโรคหัวใจ แต่ความจริงกลับไม่รอดเยอะขึ้น
"ตั้งแต่มีดิจิทัลเกิดขึ้น จากเดิมที่เราจะออกกำลังกาย ฝึกวิ่ง จะต้องไปฝึกกับเทรนเนอร์ เข้าฟิตเนส ปัจจุบันดูกันเองจากอุปกรณ์เหล่านี้ เสิร์ชอินเทอร์เน็ต มีข้อมูลที่ผิดๆ และออกกำลังกายผิดๆ เยอะ ทำให้ได้ยินข่าวเสียชีวิตเฉียบพลัน ดังนั้น เทคโนโลยีมี ต้องเลือกให้ถูกและใช้ให้ถูก นวัตกรรมเปลี่ยนโลกของเราปัจจุบันอยู่ใกล้ตัว แค่ข้อมือของเรา"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เจาะ 7 เทรนด์เทคโนโลยีการแพทย์ ช่วยคนไทยได้รับบริการสุขภาพทั่วถึง
- โควิด-สังคมสูงวัย ดันเครื่องมือแพทย์ คาดปี 70 ไทยโตแสนล้านบาท
- ส่องวิกฤติโควิด “เครื่องช่วยหายใจ” โต 10 เท่า ความต้องการเพิ่มทั่วโลก
สำหรับ โรงพยาบาลวิมุต เป็นโรงพยาบาลใหม่ มีอาคารสูง 18 ชั้น 20 ศูนย์ตรวจ 4 ลานจอดรถ และห้องพักผู้ป่วย 236 ห้อง ความตั้งใจตั้งแต่ก่อตั้งโรงพยาบาลคือการเป็นโรงพยาบาลแห่งนวัตกรรม เป็นดิจิทัลเทรนด์ ทำอย่างไรให้ทุกอย่างเป็นดิจิทัลและใช้งานได้อย่างรวดเร็ว เริ่มตั้งแต่การออกแบบของโรงพยาบาล ทำให้ภายนอกกันความร้อนได้ กระจกที่ใช้เป็น Low-E เพื่อให้ความร้อนเข้ามาได้น้อย ลดการใช้แอร์ ทำให้โรงพยาบาลเย็นตลอดเวลา
นัดหมอออนไลน์ ไม่ต้องรอนาน
นายแพทย์สุวาณิช กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน การไปโรงพยาบาลคนไข้ไม่อยากรอหมอนาน สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นของ รพ.วิมุตได้ พอเข้าไปถึงโรงพยาบาล กำหนดเวลาเข้าพบหมอ หลังจากนั้น รับยา จ่ายเงินผ่านออนไลน์ ทั้งหมด คือ Vimut Journey เวลาเข้าโรงพยาบาลสามารถรักษาได้อย่างรวดเร็ว เราพยายามเปลี่ยนโรงพยาบาลให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในการวินิจฉัยรักษา เช่น การอ่านฟิล์มเอกซเรย์ สามารถบอกความผิดปกติ และมีความแม่นยำได้มาก รวมถึงสามารถบอกความผิดปกติแปลกๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องให้หมอเป็นคนตัดสินใจ เช่น การผ่าตัด ควบคุมอุปกรณ์
นวัตกรรมยา ตอบโจทย์การรักษา
อีกทั้ง ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีทางการแพทย์เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ รวมถึง ยา เช่น เบาหวาน จากเดิมต้องเจาะเลือด แต่ปัจจุบันมีนาฬิกาบางประเภทสามารถวัดระดับน้ำตาลในแต่ละวันได้โดยไม่ต้องเจาะเลือด หรือแม้กระทั่ง วัคซีน mRNA ก็เป็นเทคโนโลยีที่ในอนาคตจะเข้ามาได้เยอะและก้าวหน้ามากขึ้น
"ยาเบาหวานสมัยก่อนต้องฉีดอินซูลินทุกวัน แต่ปัจจุบัน ฉีดสัปดาห์ละครั้งได้แล้ว ยาไขมัน จากที่ต้องทานทุกวัน แต่ทุกวันนี้สามารถฉีด 2 สัปดาห์ครั้ง และในอนาคตอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีเทคโนโลยีที่สามารถฉีดปีละ 2 เข็มได้ เหล่านี้จะทำให้เราทำงานสบายขึ้น โอกาสเกิดโรคต่างๆ น้อยลงเพราะสามารถลดเรื่องของการเสียเวลาไปโรงพยาบาลได้มาก อีกทั้ง เทเลเมดิซีน จะตอบโจทย์ในการพบแพทย์มากยิ่งขึ้น"
Vimut Care พบแพทย์ทางไกล
รพ.วิมุต มีแอปพลิเคชั่น Vimut Care โดยมีแพทย์ทั้งหมด 6 คน ซึ่งคนไข้ที่ใช้บริการของโรงพยาบาลจะได้รับแอปฯ แถมไปใช้บริการได้ สามรถคุยกับหมอ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ให้เปลี่ยนแปลง ปรับพฤติกรรมโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย
“ช่วงโควิด-19 ทุกคนกลัวไม่อยากมาโรงพยาบาล เวลาพูดคุยกับคนไข้จะเจอบ่อยว่า ผู้สูงอายุบางคนอยากเจอหมอมาก ขณะที่คนไข้บางคนอยู่ต่างจังหวัด เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้คนไข้เข้าถึงการรักษาได้มากยิ่งขึ้น ขณะที่ ยาสามารถดีไซน์ให้เข้ากับเราได้มากขึ้น เช่น มะเร็ง ปัจจุบันมี การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) ยกตัวอย่าง สมัยก่อนมะเร็งเต้านม จะต้องให้เคมีบำบัด ซึ่งทำลายทั้งเนื้อดีและเนื้อร้าย ปัจจุบัน สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด ฆ่าเฉพาะมะเร็ง ไม่ฆ่าเนื้อดี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เทคโนโลยีจะเก่งอย่างไร ก็อย่าเชื่อเทคโนโลยีอย่างเดียว หมอจะเป็นคนแนะนำว่าเทคโนโลยีใดใช้แล้วได้ผลดีที่สุด” นายแพทย์สุวาณิช กล่าวทิ้งท้าย