‘โบท็อกซ์' หัตถการ ที่ทำได้มากกว่าความงาม

‘โบท็อกซ์' หัตถการ ที่ทำได้มากกว่าความงาม

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ 'โบทูลินัมท็อกซิน' (Botulinum toxin) หรือที่เราเรียกติดปากว่า 'โบท็อกซ์' ในการเป็นหัตถการความงาม แต่ความจริงแล้ว โบทูลินัมท็อกซิน เป็นได้มากกว่านั้น เพราะสามารถรักษาโรคทางระบบประสาท ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือรักแร้ เป็นต้น

Key Point : 

  • โบทูลินัมท็อกซิน สารที่สกัดมาจากแบคทีเรียคลอสตริเดียมโบทูลินัม หัตถการที่คนส่วนใหญ่ทำเพื่อความสวยงาม
  • นอกจากนี้ โบทูลินัมท็อกซิน ยังสามารถช่วยรักษาโรคทางระบบประสาท ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ เป็นต้น
  • อย่างไรก็ตาม การทำหัตถการดังกล่าว ควรอยู่ภายใต้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้

 

 

โบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum toxin) หรือที่เราเรียกกันอย่างคุ้นชินว่า 'โบท็อกซ์ เป็นสารที่สกัดมาจากแบคทีเรียคลอสตริเดียมโบทูลินัม (Clostridium botulinum) เพื่อนำมาใช้ในการรักษาโรคในระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งโรคทางระบบประสาท เป็นหัตถการที่คนส่วนใหญ่ทำเพื่อความสวยงาม แต่นอกจากความสวยงามแล้ว โบทูลินัมท็อกซิน นั้น สามารถช่วยรักษาโรคทางระบบประสาท ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ และยังอยู่ระหว่างการศึกษาในการใช้ป้องกันแผลเป็นนูนในอนาคต

 

พญ.ศศธร สิงห์ทอง แพทย์เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง อธิบายผ่านรายการ รู้ทันปัญหาผิว โดยสถาบันโรคผิวหนัง ว่า โบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum Toxin) ซึ่งทำงานโดยยับยั้งการกระตุ้นกล้ามเนื้อ ในปัจจุบัน มีทั้งหมด 7 Serotypes ได้แก่ A , B , C1 , D , E , F และ G ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ใช้ในเรื่องของริ้วร้อยเป็นหลัก โดยเฉพาะใบหน้า หว่างคิ้ว กราม ทำให้ใบหน้าเล็กลงเข้ารูป รวมถึง ตำแหน่งที่มีเหงื่อออกเยอะ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ แนะนำให้ฉีดในช่วงเข้าสู่วัยรุ่น 18 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาในการรักษาคนไข้ที่มีใบหน้าแดง และป้องกันการเป็นแผลเป็นในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

โบทูลินัมท็อกซิน ในท้องตลาดมีหลากหลายแบรนด์ ส่วนใหญ่จะต่างกันที่กระบวนการผลิต ทำให้การอยู่ทน ความบริสุทธิ์ ราคา คุณภาพ แตกต่างกัน ซึ่งหากบริสุทธิ์มากก็จะอยู่ได้นาน ขณะเดียวกัน เมื่อมีข้อมูลออกมาว่า คนที่ฉีดบ่อยๆ มีโอกาสที่จะดื้อโบทูลินัมท็อกซินนั้น มีความเกี่ยวข้องกับความบริสุทธิ์ และซึ่งส่วนใหญ่พบในคนไข้ที่ฉีดเพื่อการรักษา เนื่องจากโดสค่อนข้างสูง

 

ต้องฉีดปริมาณเท่าไร 

 

สำหรับปริมาณการฉีดโบทูลินัมท็อกซิน เพื่อความสวยงามแต่ละครั้ง พญ.ศศธร อธิบายว่า หลักๆ จะฉีดบริเวณหน้าผาก หว่างคิ้ว หางตา หรือบางคนมีปัญหารูปหน้า กรอบหน้า โดยการฉีดต้องดูแต่ละตำแหน่งว่าใช้กี่ยูนิต หากน้อยเกินไปก็อาจจะไม่เห็นผล แต่หากมากเกินไปก็ทำให้ตึงเกินไปและมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ โดยปริมาณที่แนะนำ ได้แก่

  • หน้าผาก 10-12 ยูนิตในคนเอเชีย
  • หว่างคิ้ว หากคนที่กล้ามเนื้อแข็งแรงมาก เช่น ผู้ชาย ผู้หญิงที่ไม่เคยฉีดมาก่อน ความเครียดสูง ราว 12 ยูนิต
  • หางตา ต้องประเมิน ส่วนมากเฉลี่ยอยู่ที่ 8-10 ยูนิต

 

“ทั้งนี้ โบทูลินัมท็อกซิน สามารถฉีดร่วมกับฟิลเลอร์ได้ เพราะทำงานต่างกัน ฟิลเลอร์เป็นการเติมเต็ม ส่วนโบทูลินัมท็อกซิน เป็นการบล็อกกล้ามเนื้อ จะคนละกลไก สามารถทำคู่กันได้ อย่างไรก็ตาม แนะนำว่า ต้องปรึกษาแพทย์และทำการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเช่นกัน นอกจากนี้ ต้องเช็กตัวยาว่าผ่านมาตรฐานของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยหรือไม่ โดยสามารถขอดูผลิตภัณฑ์ได้ที่คลินิก”

 

 

‘โบท็อกซ์\' หัตถการ ที่ทำได้มากกว่าความงาม

 

ดูแลตัวเอง หลังฉีดโบทูลินัมท็อกซิน

  • นั่งหรือยืนตรงประมาณ 3-4 ชั่วโมง
  • ควรใช้หรือกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ทำการฉีดรักษาบ่อยๆ เช่น เคี้ยวหมากฝรั่ง เพื่อให้ยาเข้าถึงกล้ามเนื้อ
  • งดการนวดหน้าประมาณ 1 สัปดาห์
  • ทาครีมหรือใช้เครื่องสำอางได้ตามปกติ
  • อาจมีอาการตึงหรือหนักบริเวณใบหน้าภายหลังการฉีดประมาณ 3-5 วัน และหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์

 

“ก่อนฉีดหากไม่อยากมีรอยจ้ำเขียว อาจจะต้องงดวิตามินบางตัว เช่น วิตามินอี แปะก๊วย ที่ทำให้เลือดซึมได้ง่าย นอกจากนี้ หลังฉีดอาจจะประคบเย็นร่วมด้วย ขณะที่ เรื่องของอาหาร สามารถทานได้ไม่มีข้อห้าม ความร้อนจากอาหารไม่มีส่วนขนาดนั้น แต่ส่วนใหญ่นำให้งดนวดหน้าราว 1 สัปดาห์ สามารถฉีดได้ทุก 6 เดือน”

 

“นอกจากนี้ หลังจากฉีดสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่เจอได้บ่อย คือ รอยเขียว เจอได้ทั่วไป ใช้เวลา 1 สัปดาห์ หรือ หากแพทย์ไม่ชำนาญฉีดในปริมาณไม่เหมาะสม อาจจะทำให้หนังตาตก มุมปากตก หรือใบหน้าไม่เท่ากันเวลายิ้ม ซึ่งต้องรอเวลาให้สลาย โดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน นอกจากนี้ บางคนอาจจะตึงเกินไป หรือ ปวดหัวบ้าง หากกังวลสามารถปรึกษาแพทย์ได้”

 

โบทูลินัมท็อกซิน รักษาโรค

สำหรับการฉีด โบทูลินัมท็อกซิน เพื่อการรักษาโรคนั้น ข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า โบทูลินัมท็อกซิน มีข้อบ่งชี้ในรักษาโรคทางระบบประสาท ได้แก่

  • อาการปวด

- อาการปวดหัวเรื้อรัง เช่น โรคปวดหัวไมเกรน โรคปวดหัวบีบรัด

- อาการปวดต้นคอหรือหลัง

 

  • โรคของการเคลื่อนไหวผิดปกติ

- อาการตากะพริบหรือตากระตุก

- อาการหน้ากระตุก

- โรคลิ้นไก่กระตุก

- โรคปากบิดเบี้ยว

- โรคคอบิด

- โรคลำตัวบิดหรือเอียง

- โรคมือหรือเท้าบิด

- อาการสั่นที่ดื้อต่อยา

- โรคการเคลื่อนไหวซ้ำๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อยา เช่น Tic, Myoclonus

 

  • โรคมือเท้าเกร็งจากภาวะทางสมองหรือไขสันหลัง
  • ภาวะการกัดฟัน
  • ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือรักแร้
  • โรคน้ำลายออกมากผิดปกติ

 

โดยการออกฤทธิ์ของโบทูลินัมท็อกซิน จะออกฤทธิ์โดยไปสกัดกั้นการส่งผ่านกระแสประสาทบริเวณกล้ามเนื้อด้วยการลดการหลั่งสารอะเซติลโคลีน (acetylcholine) ทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อลดลง ระงับความเจ็บปวด และลดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ

 

ข้อควรระวังและข้อห้ามในการฉีดเพื่อรักษาโรคทางระบบประสาท

  • สตรีตั้งครรภ์ จากการศึกษาพบความผิดปกติของตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่มีรายงานการศึกษาในคน
  • สตรีให้นมบุตร ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ
  • ผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อการสกัดกั้นกระแสประสาทกล้ามเนื้อ เช่น aminoglycosides, chloroquine, D-penicillamine หรือ neuromuscular blocking agents
  • โรคกล้ามเนื้อประสาทอ่อนแรง

 

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

การฉีดบริเวณใบหน้า อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงดังนี้

  • รอยช้ำ บวม
  • หนังตาตก มักดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์
  • ตาพร่า เห็นภาพซ้อน
  • ปากเบี้ยว
  • ปากแห้ง
  • การฉีดที่บริเวณคอ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงดังนี้
  • ปวดบริเวณตำแหน่งที่ฉีด
  • กล้ามเนื้อที่ถูกฉีดอ่อนแรง
  • กลืนลำบาก
  • ปากแห้ง
  • เสียงแหบ
  • การฉีดที่แขน ขา และลำตัว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงดังนี้
  • กล้ามเนื้อที่ถูกฉีดอ่อนแรง
  • การกระจายของยาไปบริเวณอื่น อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงดังนี้
  • กลืนลำบากหรือหายใจไม่สะดวก มักเกิดในเด็กเล็ก และในกรณีที่ใช้ยาในขนาดสูงและฉีดกล้ามเนื้อที่ไม่ถูกต้อง

 

ข้อแนะนำของการฉีดโบทูลินัมท็อกซินรักษาโรคทางระบบประสาท

  • ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้ารับการรักษา
  • หากมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

 

 

อ้างอิง : สถาบันโรคผิวหนัง . โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์