เช็ก 10 สัญญาณเตือน 'อัลไซเมอร์ 'เนื่องใน 'วันอัลไซเมอร์โลก'

เช็ก 10 สัญญาณเตือน 'อัลไซเมอร์ 'เนื่องใน 'วันอัลไซเมอร์โลก'

รู้ทัน 'อัลไซเมอร์' เนื่องในวัน อัลไซเมอร์โลก 21 กันยายน ของทุกปี เช็ก 10 สัญญาณเตือน และวิธีสังเกตอาการคนรอบข้าง พร้อมวิธีวินิจฉัย การพัฒนายาใหม่ๆ ในการรักษา และ 2 สมุนไพร บัวบก และ พรมมิ บำรุงสมองผู้สูงอายุ ตามศาสตร์แพทย์แผนไทย

Key Point : 

  • อัลไซเมอร์ โรคที่พบบ่อยในกลุ่มภาวะสมองเสื่อม เป็นปัญหาหนึ่งด้านสุขภาพของสูงวัย ทั่วโลกมีผู้ป่วยมากขึ้นราว 55 ล้านคน และจะยังมากขึ้นทุกปี
  • ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จะมีปัญหาสำคัญในการหลงลืม อาจจะจำบุคคลไม่ได้ จำสถานที่ไม่ได้ หลงทิศทาง ดังนั้น การสังเกตสัญญาณเตือน จึงเป็นสิ่งสำคัญ
  • ปัจจุบัน มีการวินิจฉัย และ พัฒนาการรักษา ผลิตยาใหม่ๆ ที่อาจมีประสิทธิภาพสูงขึ้นสำหรับรักษาอัลไซเมอร์ระยะต้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการประเมินผลดีของยาระยะยาว

 

องค์การอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ (Alzheimer’s Disease International: ADI) ได้ประกาศให้วันที่ 21 กันยายน เป็น 'วันอัลไซเมอร์โลก' เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและเข้าใจถึงภัยเงียบของโรคนี้มากขึ้น ซึ่งในทุกๆ ปี

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มภาวะสมองเสื่อม โดยจะมีอาการแสดงในระยะเริ่มต้นในปัญหาด้านความจำนำมาก่อนอาการด้านอื่นๆ อาจสังเกตอาการเตือนของโรคสมองเสื่อม โรคความจำเสื่อม ได้จากพฤติกรรมอาการหลงลืม จำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้ เช่น พูดหรือถามคำถามเดิมซ้ำๆ วางของผิดที่ อย่างเอาโทรศัพท์ไปใส่ตู้เย็น เอาแปรงสีฟันไปใส่ตู้กับข้าว เอาของใช้ในครัวไปไว้ในห้องน้ำ แล้วก็หาของชิ้นนั้นไม่เจอ จำนัดหมายไม่ได้ จำรายละเอียดเหตุการณ์ที่พึ่งผ่านไปไม่ได้ กินข้าวแล้วบอกว่ายังไม่ได้กิน เป็นต้น

 

 

เช็ก 10 สัญญาณเตือน \'อัลไซเมอร์ \'เนื่องใน \'วันอัลไซเมอร์โลก\'

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ซึ่งอาการเหล่านี้จะต่างจากคนสูงวัยที่มีอาการหลงลืมทั่วไปคือ อาการหลงลืมเกิดขึ้นบ่อย ต้องใช้เวลานานในการนึกทบทวนแล้วก็ยังนึกไม่ออก เหมือนความจำเรื่องนั้นมันไม่เคยเกิดขึ้นหรือมันหายไปเลย ในขณะที่คนทั่วไปจะหลงลืมชั่วขณะแล้วพอจะนึกออกได้ในเวลาต่อมา

 

ทำไม 'สมองเสื่อม' จึงพบมากในผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

 

นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลวิมุต อธิบายว่า โรคสมองเสื่อม รวมถึง โรคอัลไซเมอร์ มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะวัย 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความเสื่อมถอยของร่างกาย เมื่อคนเราอายุมากขึ้น เซลล์สมองและหลอดเลือดในสมองอาจได้รับความเสียหายมากขึ้น โดยจะมีการสะสมของโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid)’ ซึ่งมีผลต่อการทำงานของโครงข่ายประสาทในสมอง

 

อีกทั้ง เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ที่จะมาเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น 

 

"จากการวิจัยยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าพฤติกรรมใดที่นำไปสู่โรคสมองเสื่อม แต่ปัจจัยด้านพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ล้วนมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดโรค นอกจากนี้ ยังพบว่าคนอายุน้อยก็สามารถเป็นโรคสมองเสื่อมได้ แต่สาเหตุมักเกิดจากพันธุกรรม การประสบอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเนื้อสมอง การใช้สารเสพติดหรือยานอนหลับบางชนิด การติดเชื้อเอชไอวีหรือซิฟิลิส หรือโรคสมองอักเสบจากภาวะแพ้ภูมิต้านทานตัวเอง (Autoimmune encephalitis)” 

 

 

10 สัญญาณเตือนอัลไซเมอร์

 1. ลืมสิ่งที่เพิ่งพยายามจะทำ หรือเพิ่งเรียนรู้

แม้จะตั้งใจจำ แต่ลืม ใส่ใจแต่จำไม่ได้ ยกตัวอย่าง ถ้าจำไม่ได้ว่าจอดรถชั้นไหน อันนี้ไม่ใช่อัลไซเมอร์ เป็นเรื่องความไม่ใส่ใจ ถ้าเป็นอัลไซเมอร์ ทั้งๆ ที่พยายามใส่ใจ แต่จำไม่ได้

 

2. สิ่งที่เคยจัดการได้ ก็ทำไม่ได้เหมือนเดิม

เคยวางแผนจัดการแก้ปัญหาได้ดี ความสามารถการทำจะลดลง บางคนเคยทำอาหารได้ดี แต่ลืมใส่โน้นนี่ คุณหมอยกตัวอย่างคนไข้คนหนึ่งเป็นวิศวกร ลูกสังเกตว่า รื้อพัดลมแต่ประกอบไม่ได้ ทั้งๆที่ง่ายมาก หรือคนขายของมาทั้งชีวิต ทอนเงินไม่ถูกแล้ว 

 

3. ทำกิจวัตรเดิมไม่ได้ดี ทั้งเรื่องทำงาน งานอดิเรก

ยกตัวอย่าง เคยเปิดไมโครเวฟ หรือกดโทรศัพท์ได้ แต่ทำไม่ได้แล้ว

 

4.สับสนวันเวลา สถานที่

จำวันเวลาสถานที่ไม่ได้ บางคนขับรถเก่งมาก อยู่ๆ งงไปอีกซอย คุณหมอยกตัวอย่าง มีคนไข้อัลไซเมอร์ ยิ่งเดินยิ่งหลงทาง จำทางกลับไม่ได้ เดินไปเรื่อยๆ เป็นสาเหตุให้คนไข้อัลไซเมอร์หายจากบ้านเยอะมาก

 

5. ไม่เข้าใจสิ่งที่มองเห็น

อ่านเนื้อหาในหนังสือไม่เข้าใจ ประเมินระยะห่างสีแสงที่เห็นผิด กะระยะมิติความสัมพันธ์ไม่ได้ หลงทิศ

 

6. ภาษาการพูด เคยพูดเก่งก็พูดน้อยลง

นึกคำพูดไม่ออก สำนวนโวหารที่เคยพูดลดลง คนที่พูดภาษาที่สองได้ จะพูดไม่ได้ ทั้งๆ ที่เคยพูดคล่อง เพราะนึกคำไม่ออก

 

7.ความจำในการมองเห็นหายไป

ถ้าสูงวัยหลงลืมปกติ วางสิ่งของไว้ตรงไหน ลองค่อยๆ นึกก็จำได้ แต่อัลไซเมอร์ วางสิ่งของไว้ในที่แปลกๆ และนึกไม่ออก บางทีเอาแว่นไปอยู่ในตู้เย็น ปัญหาที่เจอมากที่สุด คุณหมอยกตัวอย่างของมีค่า คนเป็นอัลไซเมอร์จะมีความรู้สึกลึกๆ ว่าจะมีคนขโมย จึงเอาไปซ่อน แล้วลืม สุดท้ายหายจริงๆ

 

8. การตัดสินใจแปลกๆ แก้ปัญหาได้ไม่ดี

บางคนเล่นหุ้น ลงทุนการเงิน แต่ทำไม่ได้แล้ว เลือกเสื้อผ้าแต่งตัวไม่เข้ากันอย่างประหลาด บุคลิกเปลี่ยน

 

9. หลีกหนีสังคม

ทำตัวออกห่างจากกลุ่มเพื่อนจากกิจกรรมที่เคยชอบ อย่างไม่มีเหตุ ไม่อยากออกจากบ้าน ลึกๆ กังวลไม่รู้จะทำตัวอย่างไร

 

10. บุคลิกเปลี่ยน 

จากใจดีกลายเป็นคนเกรี้ยวกราด เสียงดัง ใจน้อย จากสะอาดเป็นสกปรก

 

การวินิจฉัยอัลไซเมอร์  

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมทั่วโลก และเชื่อว่ามีผู้สูงอายุประมาณ 6-7 แสนคนในประเทศไทยที่มีภาวะสมองเสื่อม เดิมอาศัยวิธีประเมินอาการของผู้ป่วยซึ่งยืนยันการวินิจฉัยได้แน่ชัดจากการตรวจชิ้นเนื้อสมองหลังเสียชีวิตเท่านั้น และยาที่ใช้รักษายังเป็นเพียงการประคับประคองอาการยังไม่มีแนวทางรักษาให้หายขาด

 

อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในสมองที่เรียกว่าโปรตีนอะไมลอยด์เบต้าและโปรตีนเทาว์ ซึ่งนำไปสู่การค้นพบวิทยาการใหม่ๆ การวินิจฉัยปัจจุบันมีการส่งตรวจพิเศษ ได้แก่

1.การตรวจภาพถ่ายรังสีนิวเคลียร์ด้วยเครื่องเพทสแกนซึ่งจะตรวจจับโปรตีนและปริมาณการกระจายตัวในการสะสมของโปรตีนบนส่วนต่างๆ ของสมอง เพื่อแปลผลผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ แยกโรคสมองเสื่อมอื่นๆ มีโอกาสกลายเป็นสมองเสื่อมเต็มขั้นมากแค่ไหน

2. การตรวจระดับโปรตีนโดยตรงจากน้ำไขสันหลังและในเลือด และได้มีการพัฒนาชุดตรวจและเครื่องมือทำให้ความแม่นยำเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 90 และล่าสุดในช่วงสองปีที่ผ่านมาในอเมริกาและยุโรปได้มีการรับรองชุดตรวจในเลือดเพื่อใช้ในการวินิจฉัย สามารถใช้เพียงการเจาะเลือด 3-5 ซีซี ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้ และยังพัฒนาเครื่องมือตรวจให้ใช้สะดวกมากขึ้น ในรูปแบบของแผ่นตรวจสำเร็จรูป  โดยหยดเลือดลงไปในแผ่นตรวจก็อาจจะตรวจจับโปรตีนเหล่านี้ได้ (แบบเดียวกับการใช้ชุดตรวจโควิด) โดยอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทดลอง

 

การรักษา 

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมรักษาโรคอัลไซเมอร์ด้วยยาและใช้ยาตามอาการเพื่อเพิ่มสารสื่อประสาทในสมอง แต่ไม่สามารถชะลอการเสื่อมถอยและการฝ่อของสมองได้ ทำให้ล่าสุด องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้รับรองให้สามารถใช้ยา lecanumab สำหรับ การรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะต้นได้เดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา และมีการผลิตยาใหม่ๆอีกมากมาย ที่อาจมีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่มีราคาแพงมาก และยังต้องมีการประเมินผลดีของยาระยะยาว

 

ผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวัง

อาจติดตามข้อมูลหลังการใช้จริงในต่างประเทศอีกระยะหนึ่ง จึงสามารถนำมาใช้ในวงกว้างได้ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย สำหรับผู้ที่สงสัยว่ามีญาติหรือผู้ใกล้ชิดมีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ สามารถไปรับการตรวจเบื้องต้นที่คลินิกผู้สูงอายุสถานพยาบาลใกล้บ้าน กรณีที่ตัวโรคมีความซับซ้อนจะมีการส่งตัวผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลในระดับที่สูงกว่าตามความเหมาะสม สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ สามารถให้บริการส่งตรวจระดับโปรตีนของโรคอัลไซเมอร์ในน้ำไขสันหลังได้ หากผู้ป่วยรายใดมีข้อบ่งชี้ที่ต้องเข้ารับการตรวจ สามารถเข้ารับการประเมินเบื้องต้นได้ที่สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 


2 สมุนไพร บำรุงสมองผู้สูงอายุ 

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในทางการแพทย์แผนไทยมีการป้องกันและดูแลเพื่อลดภาวะที่อาจเกิดสมองเสื่อมโดยใช้สมุนไพร เช่น บัวบก พรมมิ ซึ่งมีรายงานการวิจัยออกมาสู่ตลาด และพืชสมุนไพรเหล่านี้นอกจากหาง่าย เพาะปลูกได้ง่าย ยังมีศักยภาพ ทางการตลาดที่สามารถนำมาศึกษาวิจัย และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่สร้างรายได้ด้วย


"ภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ เป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน และการเข้าสังคม ซึ่งการเกิดโรคนี้มาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง รวมถึงปัจจัยด้านพันธุกรรม อาการเบื้องต้นที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักแสดงออกมา เช่น หลงลืม ถามคำถามเดิมซ้ำๆ การรับรู้คลาดเคลื่อน ความจำแย่ลง เริ่มคิดอะไรซับซ้อนไม่ได้ มีความวิตกกังวลมากขึ้น ตื่นตกใจง่าย และ อาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้"  

 

ชะลอความเสื่อมตามศาสตร์แพทย์แผนไทย 

ทั้งนี้ ทางการแพทย์ การรักษาโรคอัลไซเมอร์มีทั้งการฝึกความจำ ทำกิจกรรมบริหารสมอง และการใช้ยาเพื่อการรักษา ในปัจจุบันถึงแม้ว่ายังไม่มีวิธีการที่จะรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีที่สามารถชะลอการเสื่อมของสมองได้ ศาสตร์การแพทย์แผนไทย จะส่งเสริมให้ประชาชนใช้สมุนไพรในการดูแลและป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่ บัวบก และ พรมมิในส่วน บัวบก หรือ ผักหนอก ตามตำราการแพทย์แผนไทยที่มี

 

สรรพคุณรู้จักทั่วไป

ส่วนใหญ่จะใช้แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้อาการอ่อนเพลีย และแก้ช้ำใน แต่ก็มีรายงานการศึกษาวิจัยในส่วนของ สารสกัดบัวบกที่สามารถเพิ่มความจำและทำให้ผ่อนคลายได้ ดังนั้น จึงมีการแนะนำและส่งเสริมให้รับประทานบัวบก เพื่อบำรุงร่างกายและเสริมประโยชน์ทางด้านสุขภาพ ด้วยการรับประทานเป็นอาหาร เช่น การทำเมนูยำใบบัวบก หรือการนำใบบัวบกเป็นผักเคียงเมนูน้ำพริก น้ำใบบัวบก นอกจากนี้บัวบก ยังถูกนำไปผลิตเป็นยา และ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

 

โดยในบัญชียาแห่งชาติด้านสมุนไพร ยาบัวบกจะถูกบรรจุ และ มีสรรพคุณในการใช้เพื่อแก้ไข้ แก้ร้อนใน การใช้ยาบัวบกไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนยาครีมบัวบกใช้สำหรับสมานแผล
นอกจากบัวบกแล้ว

 

สมุนไพรพรมมิ หรือ ผักมิ เป็นสมุนไพรที่มีสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความจำ เนื่องจาก ในพรมมิมีสารในกลุ่ม steroidal saponins ได้แก่ bacoside A และ bacoside B จากข้อมูลทางเภสัชวิทยา พบว่า พรมมิ มีสารออกฤทธิ์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของความจำและการเรียนรู้ ช่วยปกป้องเซลล์สมอง มีฤทธิ์ต้านความจำเสื่อม และ ลดความวิตกกังวลได้ ทางการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย ใช้เป็นสมุนไพรช่วยเพิ่มความจำ บำรุงสมอง

 

ในด้านผลิตภัณฑ์ ยาพรมมิ เป็นส่วนประกอบของยาเขียวประทานพิษ ซึ่งเป็นหนึ่งในยาตำรับของตำราคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์มีบันทึกไว้ 3 ตำรับ ได้แก่ ยาเขียวมหาพรหม ยาเขียวน้อย ยาเขียวประทานพิษ ใช้สำหรับลดไข้ แต่มีข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัย ในการรับประทาน ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมและพอดี ไม่รับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรเฝ้าระวัง และ อยู่ในการควบคุมของแพทย์ แพทย์แผนไทย และ เภสัชกรอย่างใกล้ชิด

 

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ควรจะควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และ หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ ดูแลจิตใจให้เบิกบาน ไม่ซึมเศร้า หรือ วิตกกังวล ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ คือ ควรงดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และที่สำคัญต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ

 

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย หรือการใช้ยาสมุนไพร สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือ ช่องทางออนไลน์ที่ เฟซบุ๊ก และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM

 

ชะลอการเกิดอัลไซเมอร์ 

วิธีดูแลตนเองเพื่อป้องกัน หรือ ชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • ทำกิจกรรมบริหารและพัฒนาสมอง
  • ดูแลสุขภาพจิต ไม่เครียด
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ตรวจสุขภาพประจำปี
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • งดสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ