'อดอาหารเช้า' ไม่ใช่แค่หิว ! ระวัง 5 โรคร้ายถามหา
อาหารเช้า ถือเป็นมื้อสำคัญ ที่จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น กระตุ้นสมอง ลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น หัวใจ เบาหวาน โรคสมองเสื่อม แต่ด้วยความเร่งรีบ ทำให้หลายคนหลงลืม และมักจะ 'อดอาหารเช้า' ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจ
Key Point :
- อาหารเช้า ไม่ได้แค่ทำให้เราหายหิวและมีสุขภาพที่พร้อมดำเนินชีวิตในแต่ละวัน แต่อาหารเช้ามีความสำคัญมากกว่านั้น
- อาหารเช้า ช่วยกระตุ้นสมอง ทำให้เรามีสมาธิ ควบคุมความหิว รู้สึกสดชื่น ลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น หัวใจ เบาหวาน โรคสมองเสื่อม
- และหากไม่กินอาหารเช้าจะเป็นอย่างไร ? มีงานวิจัยและข้อมูลต่างๆ พบว่า การอดอาหารเช้า ส่งผลต่อโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต และข้อเสียต่างๆ มากมายที่เราอาจจะคาดไม่ถึง
เราได้ยินเสมอว่า ‘อาหารเช้า’ เป็นมื้อที่สำคัญ เพราะอะไร ? เพราะร่างกายคนเราต้องอดอาหารมาตลอดคืน ขณะที่ร่างกายต้องใช้พลังงานจากอาหารมื้อเย็นไปเลี้ยงหัวใจให้สูบฉีดเลือด เราจึงต้องกินอาหารเช้าทดแทนพลังงานที่เสียไป และยังเป็นการเติมพลังงานให้กับร่างกายและสมอง ทำให้สมองของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งวัน
ข้อมูลจาก กรมอนามัย เผยว่า การอดอาหารเช้า ส่งผลให้กินจุบกินจิบ และมักเลือกเมนูอาหารที่ให้พลังงานสูงทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน เนื่องจากคนที่รับประทานอาหารเช้าเป็นประจำ จะลดภาวะผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลินหรือภาวะดื้อของอินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานได้ถึง ร้อยละ 35 -50 และ ผลการวิจัยจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจในอเมริกายังพบว่า การรับประทานอาหารเช้าอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมองและโรคหัวใจอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- งด "อาหารเช้า" ตายเร็ว จริงหรือ ? สำคัญอย่างไร ทำไมต้องกิน
- แนะนำ 7 ชุดเมนูอาหารเช้า ทำง่าย โภชนาการเพียบ
- เด็กวัยเรียนไม่กินอาหารเช้า..เสี่ยงโรค
อาหารเช้ามีประโยชน์อย่างไร
- กระตุ้นสมอง
- ช่วยให้มีสมาธิที่ดี
- การจดจำดีขึ้น
- สามารถควบคุมน้ำหนัก รวมทั้งความหิว
- ร่างกายสดชื่น
- ลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น หัวใจ เบาหวาน โรคสมองเสื่อม
ผลเสียจากการไม่รับประทานอาหารเช้า
- ภาวะผิดปกติของร่างกาย รวมทั้งอารมณ์ จิตใจ และบุคลิกภาพ ได้แก่
- อัตราการเผาผลาญลดลง
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำไปเลี้ยงสมองไม่พอ
- การทำงานของสมองไม่มีประสิทธิภาพ
- สารอาหารไม่เพียงพอ
- ไขมันในเลือดสูง
- การเจริญเติบโตไม่เต็มที่
- มีกลิ่นปาก
- หงุดหงิดง่าย
อดอาหารเช้า เสี่ยง 5 โรคถามหา
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า ยิ่งถ้าอดอาหารเช้าเป็นระยะเวลานาน จะเสี่ยงต่อการเป็นโรค ดังนี้
1. โรคอ้วน เพราะการอดมื้อเช้า ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ มื้อต่อไปก็จะกินหนัก กินของหวาน อัตราการเผาผลาญก็จะลดลงโรคเบาหวาน การอดมื้อเช้าทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน หากกินอาหารเช้าประจำจะลดความผิดปกตินี้ได้ถึงร้อยละ 35-50
2. โรคอัลไซเมอร์ อาหารเช้าจะไปช่วยกระตุ้นพลังให้สมอง ทำให้มีความจำที่ดี แต่ทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่กินมื้อเช้า ร่างกายจะไม่สดชื่น หลงลืม ความจำไม่ดี ไม่มีสมาธิ หากต่อเนื่องนานๆ ก็จะนำมาซึ่งโรคอัลไซเมอร์
3. โรคเส้นเลือดในสมองและโรคหัวใจ หลังจากตื่นนอน เลือดของเราจะมีความเข้มข้นสูง ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมอง หรือหัวใจ อุดตันได้ จากผลการวิจัยจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจในอเมริกาเมื่อปี 2003 พบว่า การกินอาหารเช้าอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้
4. โรคกรดไหลย้อน ปัจจัยหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม และไม่เป็นเวลา บางคนไม่ชอบกินอาหารเช้า แต่จะไปกินแค่เครื่องดื่มคาเฟอีน อย่างกาแฟ ชา เพียงอย่างเดียว เครื่องดื่มเหล่านี้ ถือเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้น้ำย่อยหลั่งออกมามากขึ้น
5. โรคนิ่ว การไม่รับประทานอาหารนานกว่า 14 ชั่วโมง คอเลสเตอรอลในถุงน้ำดี จะจับตัวกัน และหากทำเป็นประจำ จะกลายเป็นก้อนนิ่วได้ การกินอาหารเช้าประจำ จะช่วยให้ตับปล่อยน้ำดีออกมาละลาย ไม่ให้คอเลสเตอรอลจับตัวกัน สามารถป้องกันโรคนิ่วได้
เสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha โดยเผยรายงานการศึกษาที่ ญี่ปุ่น ตีพิมพ์ในวารสาร โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke 2016) แสดงให้เห็นชัดว่า ถ้าไม่กินตอนเช้า จะเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ทั้งจากเส้นเลือดแตก และตันในสมอง รวมทั้งโรคหัวใจ
การศึกษานี้ติดตามคนญี่ปุ่น 82,772 รายเป็นชาย 38,676 ราย และหญิง 44,096 ราย โดยมีอายุระหว่าง 45- 74 ปี ตามไปตั้งแต่ปี 1995 จนถึงปี 2010 โดยที่เริ่มแรกผู้เข้าร่วมการศึกษาไม่มีโรคหัวใจหรือมะเร็ง และจำแนกแจกแจงการกินอาหารเช้าจาก
- กินอาทิตย์ละ 0-2 วัน
- กินอาทิตย์ละ 3-4 วัน
- กินอาทิตย์ละ 5-6 วัน
- และกินทุกวัน
ทั้งนี้ มีการประเมินปัจจัยต่างๆ ทั้งชนิดของอาหาร ปริมาณ ส่วนประกอบ และพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เล่นกีฬา มีความเครียดระดับใด สูบบุหรี่ ดื่มแค่ไหน นอนหลับพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ เป็นคนใช้แรงงาน และอยู่โดดเดี่ยวคนเดียวหรืออยู่เป็นครอบครัว และประเมินน้ำหนักตัว ดัชนีมวลกายรวม การเกิดความดันสูง เบาหวาน ระหว่างที่ติดตามการศึกษา ระดับไขมัน การใช้ยาความดัน ยาลดไขมัน ยาเบาหวาน และอื่นๆ
เมื่อสิ้นสุดการศึกษาในปี 2010 รวมการติดตามทั้งหมดเป็น 1,050,030 คน-ปี จากประชากรศึกษา 82,772 ราย ทั้งนี้ มีเพียง 7 % (5,839 ราย) ที่ติดตามได้ไม่ครบ 15 ปี พบว่า
- มีอุบัติการณ์ของโรคเส้นเลือดหัวใจ 4,642
- โรคอัมพฤกษ์ 3,772 ราย (เส้นเลือดสมองแตก 1,051 ตกเลือดในเยื่อหุ้มสมอง 417 และเส้นเลือดตันในสมอง 2,286 ราย)
- และมี 870 ราย ที่เกิดเส้นเลือดหัวใจตีบและเสียชีวิตทันที
- ที่น่าสนใจคือ เป็นความจริงที่อาหารเช้ามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงการเกิดโรค โดยถ้ากินบ่อยครั้งหรือทุกวันในหนึ่งอาทิตย์ กลับปลอดโรคมากขึ้น
ทั้งนี้ โดยที่เมื่อปรับเกณฑ์ต่างๆ เข้าด้วยกันของ อาหาร น้ำหนัก ยาที่ใช้ โรคที่เป็น การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ปริมาณผัก ผลไม้ ปลา เต้าหู้ นม ถั่ว ไขมันอิ่มตัว ปริมาณกากใย ไฟเบอร์ และแม้แต่ปริมาณเกลือโซเดียมก็ตาม ยังพบว่า การที่ไม่กินอาหารเช้าหรือยิ่งอดบ่อยกลับมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับความเสี่ยงของโรคทั้งหลายทั้งปวง กลไกที่เกี่ยวข้องอาจจะอธิบายจากการที่คนอดอาหารจะมีความดันขึ้นสูง โดยเฉพาะในช่วงเช้ามืดและเป็นเวลาเดียวกับที่เส้นเลือดสมองชอบแตก
ทั้งนี้จะเกี่ยวเนื่องจากความเครียด ที่ส่งผลจากสมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ลงมาต่อมใต้สมอง และลงมายังต่อมหมวกไตหรือไม่ อาจจะยังบอกไม่ได้ แต่ถ้าอธิบายจากระบบนี้จะมีสารสื่อสมองหลายตัว รวมทั้งฮอร์โมน สเตียรอยด์ด้วย ซึ่งส่งผลถึงความดันและเส้นเลือด
การศึกษานี้น่าสนใจตรงที่เป็นคนเอเชียด้วยกันและอาจจะใกล้เคียงคล้ายคลึงบ้างกับคนไทย และที่น่าแปลกอีกประการคือ ในฝรั่ง ถ้าไม่กินข้าวเช้าดูจะเกิดหัวใจวายมากกว่าโรคทางสมองอย่างในคนญี่ปุ่น ทั้งนี้ โดยที่เส้นเลือดแตกจะสูงกว่าเส้นเลือดสมองตีบด้วยซ้ำ
เช้าๆ ทานอะไรดี
ข้อมูลจาก รพ.เพชรเวช อธิบายว่า ปริมาณแคลอรีอาหารมื้อเช้า สำหรับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ควรอยู่ที่ 400-450 กิโลแคลอรี ผ่านกรรมวิธีที่ปรุงสุก สด สะอาด ให้คุณประโยชน์จากสารอาหารที่หลากหลาย โดยมีเมนูแนะนำ เช่น
- โจ๊ก
- ข้าวต้ม
- ข้าวไข่เจียว
- ข้าวผัดอเมริกัน
- สลัดทูน่า หรือไก่
- แซนด์วิชปลา
- ขนมปังธัญพืช
- ซีเรียล
- นมจืด
อาหารที่ควรเลี่ยง
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียม ไขมัน หรือน้ำตาลสูง รวมทั้งการปิ้ง ย่าง โดยไม่ผ่านภาชนะ
- หมูปิ้งติดมัน
- ตับย่างแบบไหม้เกรียม
- ไก่ทอด
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
- พิซซ่า
- เบคอน
- ข้าวกล่องที่ผ่านไมโครเวฟ ตามร้านสะดวกซื้อ
- ปลากระป๋อง
- เค้ก
- ไอศกรีม
- น้ำผลไม้บรรจุขวดที่มีการใส่สี แต่งกลิ่น
- น้ำอัดลม
อ้างอิง : สสส. , รพ.เพชรเวช