แน่นหน้าอก หายใจหอบ ใจสั่น เสี่ยง 'ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ'
เช็กอาการ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) โรคที่เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งอาจจะเกิดจากการ ติดเชื้อ หากอาการรุนแรง อาจนำไปสู่อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง จนเสียชีวิตได้
Key Point :
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย ใจสั่น เป็นลมหมดสติ
- สาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส การติดเชื้ออื่นๆ การได้รับยาบางชนิด สารเสพติด สารเคมี รังสี และความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน
- นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็น หัวใจล้มเหลว โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งอาจจะเกิดจากการ ติดเชื้อ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ เชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย mycoplasma หรืออาจจะเกิดการอักเสบ จากสาเหตุที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อ เช่น โรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง หรือยาบางชนิด ผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจหอบ ใจสั่น เป็นลมหมดสติ หรือในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจจะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงจนเสียชีวิตได้
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดจากอะไร
- การติดเชื้อไวรัส เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เช่น อะดีโนไวรัส คอกซากีไวรัส พาร์โวไวรัส ไวรัสเอชไอวี
- การติดเชื้ออื่นๆ เช่น แบคทีเรีย ปรสิต เชื้อราบางชนิด
- การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด ยากันชักบางชนิด ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์
- การใช้สารเสพติด เช่น โคเคน
- การได้รับสารเคมีบางชนิด เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ สารตะกั่ว
- การได้รับรังสี
- โรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคลูปัส โรคทาคายาสุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'ภาวะหัวใจล้มเหลว' ภัยสุขภาพ ที่ไม่ควรมองข้าม
6 โรคหัวใจ ที่ควรรู้ เช็กอาการเสี่ยง ก่อนอันตรายถึงชีวิต
‘หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน’ ทำไมคนร่างกายแข็งแรงก็ยังเสี่ยงเกิดภาวะนี้ ?
อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- เจ็บหน้าอก
- เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง หายใจสั้นลง
- ใจสั่น ใจเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ
- อ่อนเพลีย
- ขาบวม เท้าบวม นอนราบไม่ได้ ถ้ามีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย
- มีไข้ ปวดตามตัว ในกรณีที่สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ
ภาวะแทรกซ้อน
- หัวใจล้มเหลว จากการที่กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้เพียงพอกับความต้องการ
- โรคหัวใจขาดเลือด
- โรคหลอดเลือดสมอง จากลิ่มเลือดในหัวใจหลุดไปอุดตันที่เส้นเลือดสมอง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หัวใจหยุดเต้นฉับพลัน
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยเบื้องต้นสามารถทำได้ ดังนี้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ
- การเจาะเลือดหาความผิดปกติของค่าโปรตีน troponin
- การตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหัวใจ หรือการตรวจ โดยการตัดชิ้นเนื้อในหัวใจ
การรักษา
สำหรับ การรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เน้นการรักษาแบบประคับประคองการไหลเวียนของเลือด ร่วมไปกับการรักษาที่ต้นเหตุ อาจพิจารณาใช้ยากดภูมิคุ้มกันในบางรายที่มีอาการรุนแรง เช่น มีอาการ shock หรือหัวใจเต้นผิด จังหวะรุนแรง
ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รักษาความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดทุกชนิด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่างๆและสารรังสีโดยไม่จำเป็น
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัดเยอรมัน วัคซีนโรคคอตีบ
อ้างอิง : รพ.บำรุงราษฎร์ , รพ.สินแพทย์