“Stroke in the young” คนวัยทำงานอายุน้อยเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้
"โรคหลอดเลือดสมอง" เป็นโรคที่มักพบช่วงวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุ โดยอุบัติการณ์มักเพิ่มขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น แต่ปัจจุบันสามารถพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เรียกว่าโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย (stroke in the young)
KEY
POINTS
- โรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือ หลอดเลือดแตก อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด ซึ่งปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นในคนอายุน้อย (Stroke in the young)
- ปัจจัยเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย มีความคล้ายกับคนที่อายุมาก แต่ในคนอายุน้อยจะมีปัจจัยเสี่ยงที่กว้างกว่า ทั้งภาวะอ้วนลงพุง การสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ และความดันโลหิตสูง
- วิธีป้องและลดเสี่ยง Stroke in the young สามารถทำได้ด้วยตรวจวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ ออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหาร ลดดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสูบบุหรี่ และตรวจร่างกายสม่ำเสมอ
"โรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย" หรือ stroke in the young สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อยจะมีความหลากหลายมากกว่าในคนอายุมาก
โดยโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตและการทุพพลภาพ ที่พบได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงวัย แต่ว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน "โรคหลอดเลือดสมอง" เป็นโรคที่ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจะเพิ่มขึ้นโดยเท่าตัว ถ้าอายุมากกว่า 45 ปีและมากกว่า 70% ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด มักจะพบในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
แต่จากประสบการณ์ของหมอ ในฐานะแพทย์อายุรกรรมระบบประสาทและสมองเราเจอคนไข้ที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ที่เริ่มเป็น โรคหลอดเลือดสมองครั้งแรก
คำว่าอายุน้อยในที่นี้ หมายถึง อายุน้อยกว่า 50 หรือ 55 ปี เพราะฉะนั้นตอนนี้ "โรคหลอดเลือดสมอง" ไม่ใช่โรคของคนสูงอายุ แต่พบในกลุ่มคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะวัยทำงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วิธีลดไขมันในเลือด ให้ห่างไกลโรคหัวใจและสโตรกด้วยตนเอง
สัญญาณ โรคหลอดเลือดสมอง ฉีดยาให้ทันใน 4.5 ชั่วโมง รถโมบายสถาบันประสาทวิทยา
สาเหตุที่ทำให้คนอายุน้อยเสี่ยง "Stroke in the young"
พญ.จิรัชญา ดีสุวรรณ แพทย์สมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย มักเกิดจากการมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย มีภาวะเครียด โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย จะเกิดจาก 3 สาเหตุใหญ่ๆ ได้แก่
1. สาเหตุจากหัวใจผิดปกติ แบ่งเป็น
- โครงสร้างของหัวใจผิดปกติ ที่พบบ่อยคือ มีรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจแต่กำเนิด (patent foramen ovale)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น atrial fibrillation, atrial flutter, heart block
2. สาเหตุจากหลอดเลือดผิดปกติ แบ่งเป็น
- โครงสร้างหลอดเลือดสมองผิดปกติ (vasculopathy) เช่น Moyamoya disease, Premature atherosclerosis
- หลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) มักเป็นผลมาจากโรคทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ (autoimmune disease) เช่น SLE เป็นต้น
3. สาเหตุจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (hypercoagulable state) โดยมักสัมพันธ์กับโรคทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ (autoimmune disease) หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น
"การเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้ที่มีอายุน้อยมีปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุในการเกิดโรค ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจ และสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ โรคหัวใจที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นทีหลัง (congenital and acquired heart problems) โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางด้านโลหิตวิทยา (hematologic conditions) โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของหลอดเลือด (vasculopathies) หรือจากความผิดปกติทางเมตาบอลิซึม (metabolic disorders) เป็นต้น"
4 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนอายุน้อยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
จากการศึกษา พบว่าคนอายุน้อยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกันมากขึ้นคือ กลุ่มช่วงอายุตั้งแต่ 18-55 ปี มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้เป็น 4 ลำดับแรกๆ ที่ทำให้คนอายุน้อยๆ ก็สามารถเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนทั่วไป
1. ภาวะอ้วนลงพุง (Abdominal Obesity)
- ภาวะอ้วนลงพุง น่ากลัวกว่าที่คิด เพราะ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุดเป็นอันดับแรกเลย ว่าสัมพันธ์กับโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองถึง 66%
- ภาวะอ้วนลงพุงนั้นคำนวณมากจาก Waist-to-Hip Ratio หรือ ตัวย่อคือ WHR โดยมีวิธีการวัดคือ เอาเส้นรอบเอว ที่วัดตรงระดับสะดือ หน่วยเป็น นิ้ว มาหารกับ เส้นรอบสะโพก ที่วัดตรงระดับ ปุ่มกระดูกต้นขา (Greater trochanter) โดยนำค่าที่ได้มาเทียบกับสัดส่วนแยกตามเพศ หากเป็นเพศชาย ได้ค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 0.93 เพศหญิงได้ค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 0.86 จะถือว่า มีภาวะอ้วนลงพุง หรือ Abdominal obesity
2. การสูบบุหรี่
- จากการศึกษาพบว่า คนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองนั้น พบว่า เป็นคนที่สูบบุหรี่มากถึง 56%
- ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะว่า การสูบบุหรี่ ทำให้เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ เพิ่มความดันโลหิตสูง ดังนั้น การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้
- โดยหากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังคิดที่อยากจะเลิกบุหรี่ หมอแนะนำเลยนะคะ ว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก และถ้าทำได้เร็วมากแค่ไหน ก็จะดีกับตัวคุณมากเท่านั้น เพราะว่า การหยุดสูบบุหรี่ นั้น จะช่วยลดความเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้ตั้งแต่ปีแรกหลังจากเลิกสูบบุหรี่
3. การไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ
- “แค่ขยับ…ก็เท่ากับออกกำลังกาย” คำกล่าวนี้ อาจจะยังไม่เพียงพอ ในแง่ของการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง และหัวใจ เพราะคำว่า นิยามของการออกกำลังกายที่เหมาะสมนั้นคือ การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 นาทีต่อครั้ง เป็นจำนวนมากกว่า 5 ครั้งภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถึงกระนั้น ก็อาจะจะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถหาเวลาออกกำลังกายได้เท่านี้
- อย่างน้อย ถ้าคุณสามารถหาเวลาออกกำลังกายได้ปานกลาง เช่น ประมาณ 20-30 นาที ได้ประมาณสัก 3 ครั้ง/สัปดาห์ ก็ยังพบว่ามีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ออกกำลังกายเลย หรือ กลุ่มคนที่เดินน้อยกว่า 1 ไมล์ต่อวัน (ประมาณ 1.6 กม. หรือประมาณ 2,000 ก้าว/วัน)
- การที่ร่างกายของเราขยับน้อยในแต่ละวัน (Physical inactivity) จากงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้ถึงประมาณ 48% โดยจะพบมากขึ้นถึง 50% ถ้าเป็นเพศหญิง และ 47%ในเพศชาย
4. ความดันโลหิตสูง
- ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นเหมือนผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจาก 3 สาเหตุแรก ไม่ว่าจะเป็นภาวะอ้วนลงพุง การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดภาวะความมดันโลหิตสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และภาวะความดันโลหิตสูงเอง ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต้นๆที่ทราบกันว่า เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก
- โดยจากการศึกษานี้พบว่า โรคความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์กับภาวะโรคหลอดเลือดสมองสูงถึงประมาณ 47% เลยทีเดียว
- ในปัจจุบัน หมอพบว่าในคนไทย เป็นโรคความดันโลหิตสูงกันเร็วขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อายุยังน้อย คือช่วงวัย 30-45 ปี ก็เริ่มที่จะพบโรคความดันโลหิตสูงกันบ้างแล้ว แต่ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ การได้รับการรักษาเพื่อลดความดันโลหิตสูงนั้นได้ประโยชน์ทั้งนั้น ในแง่ของการป้องกันโรคเส้นเลือดสมอง
- แม้ว่าผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป การรักษาด้วยยาเพื่อช่วยลดความดันโลหิตจะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 30% และสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 21% แต่กระนั้นเอง สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ คนส่วนมาก ไม่ค่อยทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง และมีส่วนน้อย ประมาณเพียงแค่ ⅓ เท่านั้น ที่สามารถจะควบคุมความดันโลหิตสูงของตนเอง ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้
BEFAST สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง
อาการของโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย (stroke in the young) ยังคงเหมือนกันกับโรคหลอดเลือดสมองในผู้สูงวัยทั่วไปทุกประการ โดยสังเกตได้จากสัญญาณเตือน BEFAST ดังนี้
B = Balance เดินเซ เวียนศีรษะ บ้านหมุนฉับพลัน
E = Eyes ตาพร่ามัว มองไม่เห็น เห็นภาพซ้อนฉับพลัน
F = Face Dropping ใบหน้าชาหรืออ่อนแรง ยิ้มแล้วมุมปากตก
A = Arm Weakness แขนขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง กำมือไม่ได้
S = Speech Difficulty ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดไม่ได้ พูดไม่ออก
T =Time to call รีบโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่และนำส่งโรงพยาบาลทันที
"อาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้อยู่ใกล้ชิดควรรู้ว่า หากเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ให้รีบเรียกรถพยาบาล หรือรีบนำตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด"
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองนั้นจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุการเกิดและความรุนแรงของโรค ดังนั้น สิ่งสำคัญในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย (stroke in the young) คือการหาสาเหตุโดยละเอียดอย่างรวดเร็วและครอบคลุมโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต พิการ หรือเสียชีวิตได้ดี
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองแบบตีบ
- การให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (recombinant tissue plasminogen activator; rt-PA) ภายในเวลา 4.5 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ ช่วยทำให้อาการกลับมาเป็นปกติและดีขึ้นมากกว่า90% แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดสามารถกลับมาดีขึ้นเป็นปกติได้เช่นกันหากมีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้นเร็ว
- การให้ยาต้านเกล็ดเลือดและยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- การผ่าตัดด้วยการใส่สายสวนเพื่อเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออก (mechanical thrombectomy)
- การผ่าตัดเปิดกะโหลก (craniectomy)
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองแบบแตก
- การควบคุมความดันและให้ยาลดความดัน
- การผ่าตัดในกรณีที่มีเลือดออกมาก
พยากรณ์โรคในผู้ป่วยที่อายุน้อย
โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเองและไม่มีความผิดปกติรุนแรง แต่ก็มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เสียชีวิตหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จากสาเหตุการติดเชื้อ (infection) ได้แก่ ปอดอักเสบติดเชื้อในโรงพยาบาล (hospital acquired pneumonia) การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection)
นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการพยากรณ์โรคของผู้ป่วยแต่ละราย โดยขึ้นกับระดับความรุนแรงของความบกพร่องทางระบบประสาท รวมถึงปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น อายุ เพศ ดัชนีมวลกาย โรคประจำตัว สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น
วิธีป้องกันและลดเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
สำหรับวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองในวัยทำงานนั้น สามารถทำได้ดังนี้
- ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมให้อยู่ในระดับปกติ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์ปกติ ลดน้ำหนักเมื่อเริ่มสูงเกินเกณฑ์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ
- เลือกรับประทานอาหาร โดยลดอาหารที่มีคอเรสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง อาหารเค็ม มัน หวานจัด ฟาสต์ฟู้ด และอาหารแปรรูป เน้นการทานผักและผลไม้ไม่หวานให้มากขึ้น
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือรับควันบุหรี่มือสอง และไม่ใช้สารเสพติด
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำปีทุกปี
เมื่อเราทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนที่มีอายุน้อยแล้ว ดังนั้นควรหันมาสนใจและดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
อ้างอิง: ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ,โรงพยาบาลสินแพทย์ ,โรงพยาบาลพญาไท 2