โรคยอดฮิตของ "ผู้บริหาร" ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งสุขภาพกาย-สุขภาพจิต

โรคยอดฮิตของ "ผู้บริหาร" ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งสุขภาพกาย-สุขภาพจิต

ภาระหน้าที่มักมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวง และความรับผิดชอบนี่หละ ที่ทำให้ใครหลายๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูง อย่าง ผู้บริหารในองค์กร ต้องรับผิดชอบมากมาย ทั้งเป็นผู้คิด ผู้ตัดสินใจ และผู้ดูแล บริหารในทุกเรื่อง

KEY

POINTS

  • สถานประกอบการ 69% ให้คะแนนองค์กรของตนเป็นสถานที่ทำงานที่มีความเครียดในระดับปานกลาง (ระหว่าง 3-7) โดยระดับความเครียดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.9 ระดับความเครียดสูงสุดคือระดับ 5 คิดเป็น 26%
  • 8 โรคยอดฮิตที่นักบริหารเป็นกันมาก ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจตีบตัน (หัวใจขาดเลือด) โรคกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ เบาหวาน และโรคถุงลมโป่งพอง
  • ผู้บริหารต้องลดความเครียดให้ได้มากที่สุด เพราะความเครียดเป็นบ่อเกิดของโรคที่ไม่พึงปรารถนาทั้งปวง และหมั่นตรวจสุขภาพร่างกายทุกปี

หลายคนอาจจะมองว่า “ผู้บริหาร” สบาย วันๆ ไม่ต้องทำอะไร นั่งสั่งลูกน้อง  หรือเซ็นต์เอกสารเพียงอย่างเดียว คนที่ทำคือพนักงาน แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่ เพราะผู้บริหารต้องทำงานจนหัวหมุนเช่นเดียวกัน ต้องอ่านเอกสาร ต้องคิดโปรเจคใหม่ๆ ให้พนักงานปฎิบัติ ต้องพิจารณาโปรเจคที่พนักงานคิดมา ต้องเซ็นต์เอกสาร และต้องทำหน้าที่ตัดสิน ทำให้ความเครียดเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดหวัง

ขณะเดียว ผู้บริหารส่วนใหญ่จะเข้าสู่วัยกลางคน อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปที่มีภาวะความเสี่ยงในการเจ็บป่วยหรือเกิดโรคภัยไข้เจ็บอยู่แล้ว ที่สำคัญ “ความเครียด” ล้วนก่อให้เกิดโรคทั้งทางกายและใจมากมาย

ข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566)

โดยเฉพาะผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า ที่มีจํานวนสะสมเพิ่มขึ้นจาก 1,156,734 คน ในปี 2564 มาเป็น 1,240,729 คนในปี 2566

นอกจากนั้น ข้อมูลจาก Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต จากผู้ตอบแบบประเมินทั้งหมด 5.28 ล้านคนทุกช่วงอายุในปี 2563-2567

พบคนไทยมีความเครียดสูง 7.87% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 9.25% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5.26%

เรื่องการดูแลสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะในองค์กรการทำงานยิ่งต้องให้ความสำคัญกับพนักงาน เพราะการทำงานที่หนักเกินไปย่อมส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คนไทยเจ็บป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต 10 ล้านคน ทุกวัยเครียด ซึมเศร้าพุ่ง

สร้างสุขลดทุกข์ ต้อง Check up สุขภาพใจวัยทำงาน

สาเหตุหลักความเครียดในองค์กร

‘ดวงพร พรหมอ่อน’ กรรมการผู้จัดการ Jobsdb by SEEK เปิดผยผลรายงานการจ้างงาน ผลตอบแทนและสวัสดิการปี 2567 ในเรื่องสุขภาพจิตในสถานที่ทํางาน โดยรวบรวมข้อมูลจาก 685 บริษัทในหลากหลายอุตสาหกรรมและตําแหน่งงานในประเทศไทย พบว่า  สถานประกอบการ 69% ให้คะแนนองค์กรของตนเป็นสถานที่ทำงานที่มีความเครียดในระดับปานกลาง (ระหว่าง 3-7) โดยระดับความเครียดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.9 ระดับความเครียดสูงสุดคือระดับ 5 หรือคิดเป็น 26%

แสดงให้เห็นว่าที่ทำงานส่วนใหญ่มีระดับความเครียดประมาณค่าเฉลี่ย นอกจากนั้น 14% ของบริษัทอยู่ในกลุ่มที่มีความเครียดระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทในธุรกิจบริการ

ผู้ประกอบการรู้สึกว่าสาเหตุหลักของความเครียดในองค์กร คือ

  • ภาระงานหนัก (43%)
  • ทรัพยากรไม่เพียงพอ (26%)
  • ความกดดันสูงจากฝ่ายบริหารหรือการทำงาน ที่รวดเร็ว (24%)

โรคยอดฮิตของ \"ผู้บริหาร\" ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งสุขภาพกาย-สุขภาพจิต

แนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มบริษัทที่อยู่ในช่วงความเครียดสูงซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การลาออกสูง (33%) อคติหรือการเลือกปฏิบัติ (31%) ขาดการชื่นชมและยอมรับในผลงาน (26%) ค่าตอบแทนต่ำ (27%) และลำดับชั้นที่มากเกินไป (27%)

ผลสำรวจแนวโน้มในอนาคตของสวัสดิการด้านความสมดุลของชีวิตและการงาน ชี้ให้เห็นว่า มีองค์กรถึง 43% เริ่มหันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับสภาพจิตใจของพนักงานมากขึ้น

โดยริเริ่มกิจกรรมต่างๆ ในวันหยุดเพื่อสุขภาพจิตและมีการให้คำปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพจิตกับพนักงานที่มีความเครียด ซึ่งมีการพูดคุยกันโดยเฉลี่ย 4.6 ครั้งต่อปี

8โรคยอดฮิตที่มักพบในกลุ่มผู้บริหาร

มีรายงานระบุว่า 8 โรคยอดฮิตที่ผู้บริหารจำนวนไม่น้อยเป็นกันมาก นั่นคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจตีบตัน (หัวใจขาดเลือด) โรคกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ เบาหวาน และโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งแต่ละโรคมีรายละเอียดที่น่าสนใจ พร้อมกับแสดงสัญญาณเตือนที่จะต้องดูแลสุขภาพของตัวเองตามอาการของโรคต่างๆ ดังต่อไปนี้  

1. โรคความดันโลหิตสูง

ถือเป็นโรคมาแรงในกลุ่มผู้บริหาร เพราะต้องเผชิญต่อความกดดัน และความเครียดอยู่บ่อยครั้ง ทั้งลูกน้องหรือคนใกล้ตัว ที่สำคัญโรคนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือหัวใจล้มเหลว

สำหรับสัญญาณเตือนของโรคดังกล่าวนี้จะมีเสียงดังหวิวๆ หรือหึ่งๆ ในหู หรือได้ยินเสียงชีพจรในศีรษะของตัวเอง เวียนศีรษะ โดยเฉพาะตอนเปลี่ยนอิริยาบถ นอกจากนี้ หากรู้สึกได้ว่าใจสั่นบ่อย หัวใจเต้นแรงผิดปกติ ขาบวม หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ เหนื่อยและเพลียผิดปกติ ขอแนะนำให้มาตรวจสุขภาพทันที  

2. โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ “สโตรก” Stroke เกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะ มีการอุดตันของเส้นเลือดที่นำอาหาร และออกซิเจนไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ส่งผลให้เนื้อสมองเสียหาย อยู่ในภาวะที่ทำงานไม่ได้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ โรคสมองขาดเลือด เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน และโรคเลือดออกในสมอง เกิดจากหลอดเลือดสมองแตก  

3. หลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือโรคหัวใจขาดเลือด

โรคนี้เป็นสาเหตุการตายสำคัญอันดับหนึ่งของไทย เกิดจากการตีบ หรืออุดตันของเส้นเลือดจากการสะสมไขมัน คอเลสเตอรอล ทำให้เส้นเลือดแดงไม่สามารถนำเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ ดังนั้น ใครที่มีอาการเจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับหรือจุกแน่นลึกๆ บริเวณใต้กระดูกหน้าอก หรือหน้าอกด้านซ้าย มักเจ็บตอนที่เดินเร็ว ยกของหนัก หรือวิ่ง หรือเมื่อรู้สึกเครียดที่ต้องทำงานเร่งรีบ ป

ระกอบกับความเครียด ต้องทานอาหารฟาสต์ฟูด ทำให้อ้วน ขาดการออกกำลังกาย เหล่านี้ล้วนแต่นำมาสู่ความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีอาการเฉียบพลัน ทำให้ “ตาพร่ามัว ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่ทราบสาเหตุ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก วิงเวียนหรือวูบแบบเฉียบพลัน” หากถึงมือแพทย์ช้าอาจเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตตลอดชีวิต  

โรคยอดฮิตของ \"ผู้บริหาร\" ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งสุขภาพกาย-สุขภาพจิต

โรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต

4. โรคกระเพาะอาหาร

เป็นโรคระบบทางเดินอาหารขัดข้อง เนื่องจากกระบวนการที่อาหารผ่านไปนั้นทำงานผิดปกติ โรคนี้ถือเป็นโรคยอดฮิตในหมู่ผู้บริหาร เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มักจะต้องทำงานแข่งกับเวลา และเคร่งเครียดอยู่กับงานจนลืมที่จะรับประทานอาหาร หรือเกิดจากการดื่มสุรา สูบบุหรี่อย่างหนัก พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้ทั้งสิ้น  

5. โรคมะเร็งตับ

ถือเป็นโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะเพศชายซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้มีอัตราเสี่ยงสูง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ โรคพยาธิใบไม้ในตับ อะฟลาท็อกซินไนโตรซามีน ที่พบอยู่ในตัวยากันบูด ปลาร้า เนื้อแห้งโดยเฉพาะอาหารที่ใส่ดินประสิว ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือกรรมพันธุ์ เป็นต้น  

6. โรคเบาหวาน

ส่วนใหญ่ โรคเบาหวานมัก เกิดได้ง่ายกับคนอ้วน หรือผู้ที่รับประทานอาหารประเภทแป้งมากเกินไป กรรมพันธุ์ รวมทั้งผู้ที่มีความเครียดอยู่ตลอดเวลาอย่างกลุ่มนักบริหาร เนื่องจากเมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนบางอย่างออกมาทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และจะทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ในที่สุด

โรคเบาหวานมักพบจากการตรวจร่างกายประจำปี โดยไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตเห็น นอกจากอาการอ่อนเพลีย สมองมึนงง และถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานแล้ว ต้องดูแลรักษากันตลอดชีวิต เพราะโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หาย  

7. โรคถุงลมโป่งพอง

ที่เกิดกับกลุ่มนักบริหาร มักจะเกิดกับผู้ที่สูบบุหรี่จัดเป็นเวลานานๆ หรืออยู่ในบริเวณที่มีควันบุหรี่เป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป สัญญาณเตือนภัยของผู้ที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง จะมีอาการไอ เริ่มจากไอแห้งๆ และมักไอมากตอนกลางคืนเวลาอากาศเย็น และตอนเช้าหลังตื่นนอน มีอาการเหนื่อยเวลาออกกำลังกาย เป็นหวัด หลอดลมอักเสบบ่อยๆ หรือมีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง  

8. โรคกระดูกพรุน

สิ่งที่จะช่วยให้ผู้บริหารเหล่านี้สามารถดำเนินกิจการของตนเองอย่างมี ประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กับสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ คือ แบ่งเวลาให้กับตัวเอง โดยการใช้เวลาในวันสุดสัปดาห์พักผ่อนอย่างเต็มที่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะทำให้หัวใจ และปอดมีสมรรถภาพดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังช่วยลดความอ้วนทำให้ไขมันใต้ผิวหนังหมดไป อีกทั้งยังเป็นการลดน้ำตาลในเส้นเลือดได้อีกด้วย ควรฝึกนิสัยในการเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารเพียงพอให้ครบทุกมื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก สิ่งเสพติด เครื่องดื่มมึนเมา

"สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้บริหารควรทำให้ได้ คือ การลดความเครียดให้ได้มากที่สุด เพราะความเครียดเป็นบ่อเกิดของโรคที่ไม่พึงปรารถนาทั้งปวง และหมั่นตรวจสุขภาพร่างกายทุกปี เพียงเท่านี้ท่านก็จะเป็นนักบริหารที่มีประสิทธิภาพ" 

โรคยอดฮิตของ \"ผู้บริหาร\" ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งสุขภาพกาย-สุขภาพจิต

“CEO Disease” โรคนิสัยเสียของผู้บริหาร ที่ต้องแก้

"CEO Disease หรือโรคของคนเป็นซีอีโอ" ซึ่งผู้ที่ให้คำจำกัดความนี้ก็คือ ซีอีโอของบริษัทเชนร้านกาแฟ Biggby Coffee ในสหรัฐอเมริกา ที่ชื่อว่า Mike McFall ได้ค้นพบว่า พนักงานของเขาส่วนใหญ่ลาออกไปโดยไม่บอกไม่กล่าว หรือแม้แต่ตัวเขาเองก็รู้สึกว่างานที่เขาทำไม่มีความหมายอีกต่อไป

จนเขามีโอกาสได้พบกับที่ปรึกษาทางธุรกิจคนหนึ่ง จึงเล่าปัญหาทั้งหมดให้ฟัง และลองเชิญให้ที่ปรึกษาคนนั้นมาทำเซอร์เวย์ ให้กับพนักงานในบริษัทของเขา แล้วผลที่ได้ออกมาก็ทำให้เขาต้องกลับมาทบทวนตัวเอโดยผลการสำรวจส่วนมากนั้นแสดงให้เห็นถึง ปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาและพนักงานในองค์กร

แล้วเขาก็ตระหนักได้ว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าเขาตั้งกำแพงขึ้นมากันระหว่างเขาและพนักงานมากเกินไป และทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะให้ฟีดแบ็กกับเขาเลยจนต่อมาเขาก็ได้ตั้งชื่อให้กับอาการนี้ว่า CEO Disease 

พนักงานไม่กล้าพูดกับผู้บริหารตรง ๆ ต้องทำอย่างไร?

1. เปิดใจรับฟังจริง ๆ

การเป็นผู้ฟังที่ดีก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เวลาที่อีกฝ่ายหนึ่งพูด เราควรรับฟังอย่างตั้งใจ และควรมีการตอบโต้กลับทุกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เราเข้าใจนั้นถูกต้องแล้ว เพราะยิ่งเราแสดงว่าเป็นผู้ฟังที่ดีเท่าไร ผู้พูดก็จะยิ่งอยากพูดหรือเปิดใจออกมามากขึ้น

2. แสดงให้เห็นว่า ไอเดียที่ดีและไม่ดี นั้นมีค่าเท่ากัน

พยายามทำให้พนักงานเห็นว่า ไม่ว่าพวกเขาจะเสนอไอเดียอะไรมา จะไม่มีผิดมีถูก และไม่มีบทลงโทษสำหรับไอเดียที่ไม่ดี เพราะไม่เช่นนั้นพนักงานก็จะมองว่าไอเดียของพวกเขานั้นไม่ดีพอที่จะถูกนำเสนอออกมา

โดยหนึ่งในวิธีที่น่าสนใจคือ ให้ลองจัดการประชุมเพื่อให้พนักงานช่วยกันเสนอไอเดีย แต่ให้พนักงานลองเสนอแต่ไอเดียที่ไม่ดี หรือไอเดียที่พวกเขาคิดว่ามันแย่ที่สุดออกมา

3. เสนอสิ่งตอบแทนเวลาเสนอไอเดียใหม่ ๆ

ถ้าหากลองหลายวิธีแล้วไม่ได้ผล อาจลองเสนอเป็นผลตอบแทนหรือรางวัลสำหรับคนที่เสนอไอเดียดู เพราะหลายครั้งที่บางบริษัทมักมีบทลงโทษสำหรับพนักงานที่ไม่ยอมเสนอไอเดีย ก็ให้ลองเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นการให้รางวัลคนที่เสนอไอเดียแทน เพื่อให้บรรยากาศไม่ตึงเครียดเกินไป

โรคยอดฮิตของ \"ผู้บริหาร\" ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งสุขภาพกาย-สุขภาพจิต

4. ขอรับฟีดแบ็กจากพนักงานแบบตรง ๆ

ซีอีโอหรือหัวหน้างานอาจมีการจัดการรับฟังความเห็นจากพนักงาน ซึ่งอาจทำในช่วงประเมินพนักงานปลายปี หรือประจำไตรมาสก็ได้ โดยอาจเป็นการตั้งคำถามง่าย ๆ เช่น คุณมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับบริษัทของเรา หรือบทบาทหน้าที่ที่คุณทำเป็นอย่างไรในตอนนี้

5. พยายามจัดกิจกรรมเสนอไอเดียให้ครอบคลุมทุกรูปแบบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพนักงานในแต่ละองค์กรนั้นย่อมมีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกัน บางครั้งการจัดกิจกรรมหนึ่ง อาจส่งเสริมให้คนบางกลุ่มออกมาพูดเท่านั้น ดังนั้น ควรจัดให้ครอบคลุมเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะได้รับความเห็นจากพนักงานอย่างทั่วถึง เช่น การพูดคุยตัวต่อตัว การรวมทีมระดมไอเดียทุกสัปดาห์ การให้ทำแบบสอบถาม

อย่างไรก็ตาม โรคทั้งทางกายและจิตใจ ใช่เกิดขึ้นกับผู้บริหารเพียงอย่างเดียว พนักงานก็ต้องดูแลสุขภาพของตนเองเช่นเดียวกัน โดยผู้บริหารต้องเป็นผู้นำในการสร้างบรรยากาศการทำงาน ให้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุข เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย ใครอยากได้ต้องทำเอง และมีเงินซื้อไม่ได้ เป็นผู้บริหารหรือลูกจ้างธรรมดา ก็สามารถสร้างสุขภาพที่ดีได้เท่าเทียมกัน

อ้างอิง: BrandCaseTH ,โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน