"ครอบครัว ดูแลและรักตนเอง" สามประสานต้านโรคซึมเศร้า

"ครอบครัว ดูแลและรักตนเอง" สามประสานต้านโรคซึมเศร้า

ปัญหารอบด้านในสังคมปัจจุบัน ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะปัญหาโรคเครียดและซึมเศร้า

จากรายงานผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวช (เฉพาะข้อมูลจากคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข) ณ วันที่ 8 ก.พ. 2565 พบว่าโรคซึมเศร้า มีอัตราการเพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2564 มีจำนวน 353,267 คน ปี 2565 มีจำนวน 359,737 คน และปี 2566 ขยับสูงขึ้นมากเป็น 399,645 คน

อัตราการฆ่าตัวตายในปี 2564 อยู่ที่ 7.38 รายต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้นจากในช่วงปี 2547 - 2563 ที่ทรงตัวอยู่ในระดับ 5 - 6 รายต่อประชากรแสนคน เฉพาะในปี 2565 ที่ผ่านมาอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.97 รายต่อประชากรแสนคน ซึ่งถือเป็นอัตราเพิ่มสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2560 – 2565

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2566 ระบุว่าสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของคนไทยดีขึ้น

จากข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตของคนไทย (Mental Health Check In : MHCI) พบผู้มีปัญหาความเครียด เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และมีภาวะหมดไฟ มีสัดส่วนร้อยละ 21.48 จากผู้เข้ารับการประเมิน 1.9 แสนคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 27.92

สำหรับไตรมาส 4/2566 ผู้มีปัญหาความเครียด เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และมีภาวะหมดไฟ มีสัดส่วนร้อยละ 17.4 จากผู้เข้ารับการประเมิน 1.7 แสนราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 12.9 ทั้งนี้ผู้ที่เสี่ยงซึมเศร้ามีจำนวนสูงสุด โดยทั้งปี 2565 มีสัดส่วนร้อยละ 12.8 ปี 2566 สัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นร้อยละ 29.9

ข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่า คนไทยอยู่ในภาวะความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น และยังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ

ดังนั้นการให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวกับผู้อยู่ในภาวะเสี่ยง รวมถึงความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อร่วมกันลดตัวเลขผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิตโดยเฉพาะโรคซึมเศร้าที่บ่อยครั้งมักจบลงด้วยเหตุการณ์ที่น่าเศร้า

การแก้ปัญหาโรคซึมเศร้าต้องการสามประสานแห่งความร่วมมือ อย่างแรกคือครอบครัว (Family) มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ครอบครัวที่เข้มแข็งจะสามารถป้องกันและเยียวยาโรคซึมเศร้าของสมาชิกได้เป็นอย่างดี

ด้วยการคอยสังเกตพฤติกรรม กิจกรรมต่างๆ ของคนในครอบครัว สื่อสารกันด้วยความรักและความเข้าใจที่ดีต่อกันเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี เอาใจใส่สภาพแวดล้อมทั้งที่บ้าน โรงเรียน สังคมของคนในครอบครัว หรือแม้กระทั่งสื่อโซเชียลที่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด

ความเปราะบางของครอบครัวอาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม หรือการทำโทษที่รุนแรง การไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ สังคมเพื่อนที่ไม่ดี เกิดการถูกล้อเลียนหรือกลั่นแกล้ง (bully) ซึ่งทำให้มีแนวโน้มเกิดการกลั่นแกล้งคนอื่นต่อ การคิดตอบโต้หรือเอาคืน

หากพบว่าคนในครอบครัวมีแนวโน้มที่จะมีอาการโรคซึมเศร้า อาจทำการประเมินขั้นแรกโดยเข้าระบบ Mental Health Check In : MHCI ของกรมสุขภาพจิต ที่จะมีการให้คำแนะนำเบื้องต้น หรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ก่อน เพื่อช่วยคัดกรองและประเมินสุขภาพจิต และเป็นการสนับสนุนผู้ที่มีแนวโน้มมีปัญหาสุขภาพจิตให้ได้พบแพทย์หรือจิตแพทย์อย่างรวดเร็ว

ประสานที่สองคือการดูแลตัวเอง (Self-care) ทั้งด้านอารมณ์และด้านร่างกาย

ด้านอารมณ์ สามารถเริ่มจากการฝึกสติให้จดจ่อกับปัจจุบัน เพื่อลดความเครียดและความวิตกกังวล เพิ่มความสุขและการนอนหลับที่ดีขึ้น ช่วยให้รู้สึกมั่นใจในตัวเอง และตัดสินใจได้ดีขึ้น การมีสติช่วยให้จดจ่อ จดจำ เรียนรู้ คิดวิเคราะห์ได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง

ด้านร่างกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยได้มาก เพราะเป็นการลดฮอร์โมนความเครียด เพิ่มสารความสุขอย่างสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งส่งผลดีอย่างมากต่ออารมณ์ ที่สำคัญที่สุดอีกอย่างคือต้องหลีกเลี่ยงสารเสพติดทุกชนิดโดยเด็ดขาด

ประสานที่สามคือการรักตนเอง (Self-love) เป็นวิธีการที่ต้องใช้เวลาและความพยายาม หลักการของ การรักตัวเองเริ่มต้นด้วยการยอมรับตนเองทุกแง่มุมทั้งข้อดี ข้อเสีย

การเห็นคุณค่าในตนเอง เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อความสุขและความสำเร็จในชีวิต การเพิ่มทักษะและความรู้ เพื่อนำไปต่อยอด การแก้ไขปัญหา สร้างความมั่นใจในการทำงาน การเป็นมิตรต่อตนเอง ฝึกพูดคำพูดด้านบวกกับตนเอง พูดให้กำลังใจตนเอง ชื่นชมตนเอง

การทบทวนความสำเร็จ ทั้งกระบวนการ ขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อการพัฒนาต่อไปข้างหน้าด้วยการจดบันทึก และสำคัญที่สุดคือการขอบคุณตนเองเสมอ รวมถึงการให้อภัยผู้อื่น การชื่นชมตนเองหรือผู้อื่นอย่างจริงใจ

สามประสานข้างต้นทั้งความเข้าใจจากครอบครัว การดูแลตัวเอง และการรักตัวเอง คือพื้นฐานที่จะป้องกันและเยียวยาปัญหาสุขภาพจิต ที่นับวันจะกัดกร่อนความสุขของคนไทยในสังคม ยิ่งประสานกันแข็งแรงเท่าไรไม่ว่าโรคซึมเศร้าหรือโรคใดๆ ด้านสุขภาพจิตก็ไม่อาจทำร้ายใครได้.