'Future Food' แนวโน้มโตต่อเนื่องในปี 2570

'Future Food' แนวโน้มโตต่อเนื่องในปี 2570

หลังการระบาดของ โควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น อาหารกลุ่ม Future food ได้รับความสนใจมากขึ้นไม่ว่าจะอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารออร์แกนิก อาหารทางการแพทย์ อาหารจากพืช รวมถึงอาหารโปรตีนจากแมลง แนวโน้มเติบโตในทุกกลุ่มในปี 2570

ข้อมูลจาก สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผย มูลค่าตลาดโลกกลุ่ม Future food ในปี 2563 และแนวโน้มอัตราเติบโตเฉลี่ย ปี 2564-2570 พบว่า ในปี 2563 อาหารเพื่อสุขภาพ (Health & wellness food) มูลค่า 1,030 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ , อาหารออร์แกนิก (Organic food) มูลค่า 160 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ , อาหารทางการแพทย์ (Medical food) มูลค่า 20.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ , อาหารจากพืช (Plant-based food) มูลค่า 33.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และ อาหารโปรตีนจากแมลง (Insect based food) มูลค่า 0.27 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

สำหรับ อาหารเพื่อสุขภาพ ได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่ม package food และคาดว่าตลาดจะขยายตัวเฉลี่ย 6% ต่อปี ไปจนถึงปี 2570 โดยมีมูลค่ากว่า 1,550 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย ซูเปอร์ฟู้ดส์ “superfoods” ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายอาหารที่มีโภชนาการหรือมีสารอาหารที่จำเป็นสูงเป็นพิเศษ

 

ผู้บริโภคชาวอเมริกันและแคนาดา เริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคโดยเน้นความหลากหลายของเมนูอาหารมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนผักผลไม้เข้ามาอยู่ในมื้ออาหาร ผู้บริโภคหันไปบริโภคผลผลิตจากธรรมชาติที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น น้ำตาลจากหญ้าหวานและความหวานจากผลไม้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

อาหารออร์แกนิก แนวโน้มตลาดโลกได้รับปัจจัยบวกจากโควิด-19 เพราะผู้บริโภคมุ่งเน้นสุขภาพและความปลอดภัยอาหารมากขึ้น คาดว่าตลาดจะขยายตัวเฉลี่ย 14% ต่อปีไปจนถึงปี 2570 โดยมีมูลค่ากว่า 400 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

ผู้บริโภค 53% ทั่วโลกมองว่าฉลาก “Organic” เป็นที่น่าเชื่อถือและเป็นหนึ่งในฉลากสีเขียวที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุด ขณะที่ ผู้บริโภค 35% เรื่องสวัสดิภาพสัตว์ จากมลพิษทั้งทางดินและน้ำเป็นสาเหตุของการแสวงหาอาหารอินทรีย์ ผู้บริโภค 47% แสวงหาอาหารอินทรีย์เพราะความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ กลยุทธ์ Farm to Fork ของสหภาพยุโรปมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอินทรีย์เป็น 25% ภายในปี 2030 หนุนการเติบโต ตลาดอาหารอินทรีย์

 

อาหารทางการแพทย์ ได้รับผลกระทบเล็กน้อยบวกจากโควิด-19 เพราะคนรักษาสุขภาพมากขึ้น ป่วยด้วยโรคทั่วไปลดลง คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 5.2% ต่อปีไปจนถึงปี 2570 โดยมีมูลค่ากว่า 28.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โรคเรื้อรังในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยหลักให้อาหารทางการแพทย์ขยายตัว สูตรของเหลวและกึ่งของเหลวเป็นผลิตภัณฑ์ที่เติบโตดี โดยช่องทางจำหน่ายสถานพยาบาลคิดเป็นส่วนแบ่งรายได้สูงสุด

 

อาหารจากพืช ได้รับปัจจัยบวกจากโควิด-19 ยอดขายเติบโตโดดเด่น เพราะผู้บริโภคกังวลเนื้อสัตว์ปนเปื้อน คาดว่าตลาดจะขยายตัวดีต่อเนื่องเฉลี่ย 11.9% ต่อปีไปจนถึงปี 2570 โดยมีมูลค่ากว่า 74 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กลุ่มผลิตภัณฑ์นมมีสัดส่วนสูงที่สุด 45% รองลงมาคือเนื้อสัตว์ทดแทน 15% และไข่ทดแทน 10% เทคโนโลยีทำกระบวนการแปรรูปดียิ่งขึ้น ผู้บริโภคมองเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการทารุณกรรมสัตว์ ฐานประชากรวีแกนและมังสวิรัติที่สูงขึ้นทั่วโลก อีกทั้ง ผู้แพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ และแพ้แล็กโตส มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

 

อาหารโปรตีนจากแมลง ยอดขายอ่อนตัวลงจากโควิด-19 แต่ผู้ผลิตก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ต่อเนื่อง เช่น ไอศกรีม ลูกชิ่น พาสต้า คาดว่าตลาดจะกลับมาขยายตัวดีต่อเนื่องเฉลี่ย 24.9% ต่อปีไปจนถึงปี 2570 โดยมีมูลค่ากว่า 1.29 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จิ้งหรีดเป็นแมลงโปรตีนหลักในตลาดโลก มีสัดส่วนสูงถึง 65% ของแมลงโปรตีนทั้งหมด

 

อีกทั้ง การเลี้ยงแมลงดีต่อทรัพยากรโลก เพราะแมลงมีอัตราแลกเนื้อสูงกว่าวัว 6 เท่า สูงกว่าแกะ 4 เท่า และสูงกว่าหมูและไก่ 2 เท่า แมลงที่กินได้มีโปรตีน ไขมันและพลังงานสูงและยังสามารถเป็นแหล่งแร่ธาตุและวิตามิน ตัวอย่างใน ออสเตรเลีย โดยหน่วยงาน IPIFF และ IPAA ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อลดการฆ่าปศุสัตว์