เช็ก“โรคยากและซับซ้อนในเด็ก” มีอะไรบ้าง? ตรวจวินิจฉัย รู้เร็ว รักษาได้
รพ.บำรุงราษฎร์ เปิดตัว ซุปเปอร์ทีมแพทย์เฉพาะทาง รักษา "โรคยากและซับซ้อนในเด็ก" ระบุ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด-โรคมะเร็งในเด็ก" พบผู้ป่วยเด็กจำนวนมาก และอัตราการเสียชีวิตอันดับต้นๆ
KEY
POINTS
- รพ.บำรุงราษฎร์ เปิดตัว ซูเปอร์ทีมแพทย์เฉพาะทาง รักษา "โรคยากและซับซ้อนในเด็ก" ระบุ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด-โรคมะเร็งในเด็ก" พบผู้ป่วยเด็กจำนวนมาก และอัตราการเสียชีวิตอันดับต้นๆ
- การรักษาโรคยากและซับซ้อนในเด็ก ต้องอาศัยทีมแพทย์เฉพาะทางร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และสหสาขา เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาได้อย่างทันท่วงที
- "โรคอ้วน-การเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย-ภาวะเตี้ย เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล หากสงสัยควรมาตรวจวินิจฉัย เพื่อให้ได้รับการประเมินเฉพาะรายบุคคล และดูแลรักษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
“โรคภัยไข้เจ็บ”เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นทั้งในตัวเองและครอบครัว ยิ่งเกิดขึ้นกับลูกน้อยหัวใจของพ่อแม่ยิ่งเฝ้ากังวล เพราะความคาดหวังของพ่อแม่ คือ ต้องการให้ลูกที่เกิดมามีสุขภาพที่แข็งแรง และเติบโตอย่างสมบูรณ์ ทว่าเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บบางครั้งก็เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด โดยเฉพาะ “โรคยากและซับซ้อนในเด็ก” ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง รวมถึงความผิดปกติของทารกแรกเกิด และโรคต่อมไร้ท่อในเด็ก ที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน
วันนี้ (9 ก.ค.2567) ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จัดแถลงข่าว “Health Kids Health Future” เปิดตัวซูเปอร์ทีมสหแพทย์สาขาที่จะให้การตรวจ วินิจฉัย และรักษาโรคยากและซับซ้อนในเด็ก ด้วยความตระหนักถึงการส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่ดี และมีพัฒนาการเติบโตที่สมวัย ซึ่งการรักษาโรคยากและซับซ้อนในเด็กนั้น ต้องอาศัยทีมกุมารแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางและมีประสบการณ์สูงร่วมกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญในโรคยากของเด็กที่มีหลากหลายโรค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เด็กไทยหัวใจพิการแต่กำเนิด กว่า 8,000 คนต่อปี
“โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด” อีกหนึ่งความพิการแต่กำเนิดที่พบเป็นอันดับ 1 ในบรรดาความพิการแต่กำหนดทั้งหมด และเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตในทารกที่มีความพิการแต่กำเนิด กว่า 25 % ของทารกเหล่านี้ต้องได้รับการผ่าตัดหรือการสวนหัวใจเพื่อช่วยชีวิต และกว่า 15% ของเด็กที่มีหัวใจพิการแต่กำเนิดไม่อาจอยู่รอดจนถึงวัยผู้ใหญ่
นพ.ปรีชา เลาหคุณากร หัวหน้าศูนย์กุมารเวช และแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางกุมารเวชศาสตร์ กุมารแพทย์โรคหัวใจในเด็ก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่าศูนย์กุมารเวช ให้บริการครบวงจรตั้งแต่ในครรภ์มารดา แรกเกิด จนถึงอายุ 18 ปี ซึ่งในการดูแลสุขภาพของเด็กจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.การสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค กับ 2.การรักษาเด็กที่มีภาวะป่วย นอกจากนั้นจะมีการคัดกรองตามช่วงอายุต่างๆ การได้ยิน การมองเห็น การตรวจฟัน การตรวจภาวะโลหิตจาง รวมถึงการตรวจทางด้านพันธุกรรม โรคยากและซับซ้อน ซึ่งจะมีทีมแพทย์ประจำที่ดูแลสุขภาพ รักษาเด็กป่วยตลอด 24 ชั่วโมง
“โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แม้จะไม่สามารถทราบสาเหตุได้อย่างแน่ชัด แต่เป็นโรคยากและซับซ้อนที่มีจำนวนมากเพิ่ม จากสถิติของประเทศไทย พบว่าในแต่ละปีจะมีเด็กที่ป่วยด้วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดกว่า 8,000 คนต่อปี และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 3,000-4,000 คนต่อปี ซึ่งปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในเด็กมากขึ้น มาจากกรรมพันธุ์ 10-20% หรือระหว่างที่มารดาตั้งครรภ์ป่วยเป็นหัดเยอรมัน เบาหวานไม่ได้รับการควบคุม หรือทานยาบางประเภท ซึ่งความผิดปกติของหัวใจมีตั้งแต่ผิดปกติเพียงเล็กน้อย เช่น รูรั่วผนังหัวใจ จนถึงผิดปกติที่ซับซ้อนมากๆ เช่น ความผิดปกติของลิ้นหัวใจหลอดเลือด ขนาด และจำนวนห้องหัวใจเป็นต้น”นพ.ปรีชา กล่าว
ผ่าตัดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
สำหรับ แนวทางการรักษา ในกรณีที่มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย และไม่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ การเจริญเติบโต หรือการใช้ชีวิตในระยะยาวจะไม่จำเป็นต้องรักษาแก้ไขความผิดปกตินั้นๆ เพียงแต่จะติดตามสุขภาพเป็นระยะๆ
ส่วนรายที่มีความผิดปกติมาก จะมีอาการหายใจเร็ว หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ออกซิเจนในเลือดต่ำ รวมถึงมีการเจริญเติบโตช้า ซึ่งทางผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดแก้ไข การสวนหัวใจ ด้วยทีมศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญในการทำวินิจฉัยและวางแนวทางในการรักษา ทั้งนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ทำการผ่าตัดเด็กที่ป่วยด้วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดไปแล้วมากกว่า 1,500 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กด้อยโอกาสโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ถึง 827 ราย ที่ได้รับการช่วยเหลือโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ป้องกันการเกิดมะเร็งในเด็กไม่ได้
ศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางกุมารเวชศาสตร์โรคเลือดและมะเร็ง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นโรคยากและซับซ้อน ยิ่งเกิดขึ้นในเด็ก ซึ่งไม่สามารถป้องกันมะเร็งในเด็กได้ เนื่องจาก ไม่ทราบสาเหตุอย่างชัดเจน ซึ่งโรคมะเร็ง เป็นสาเหตุของการในเด็กเป็นมะเร็งได้ และเป็นสาเหตุเสียชีวิตอันดับต้นๆ ซึ่งในไทย พบเด็กป่วยเป็นมะเร็ง 1,000 คน ต่อปี โดยมะเร็งในเด็กที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งสมองและระบบประสาท
“สาเหตุของโรคมะเร็งในเด็กนั้น ไม่มีสาเหตุชัดเจน แต่อาจเกิดจากโรคพันธุกรรมบางชนิด เช่น ดาวน์ซินโดรม มารดาสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสี หรือสารแกมมาในเอกซเรย์ขณะตั้งครรภ์ แต่หากวินิจฉัยได้เร็ว และทำการรักษาได้ทันที เด็กจะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้กว่า 70-80% ซึ่งศูนย์กุมารเวช รพ.บำรุงราษฎร์ มีแพทย์สหสาขาที่มีความชำนาญในการวินิจฉัยมะเร็งได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ ผู้ป่วยสามารถรับผล CT Scan หรือ MRI ภายใน 1-2 วัน รวมทั้งมีพยาธิแพทย์ที่อ่านผลชิ้นเนื้อได้รวดเร็ว สามารถสรุปผลเพื่อเริ่มการรักษาได้ทันที โดยการรักษาโรคมะเร็งในเด็ก มีหลายวิธีทั้งการให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง และการผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการให้ยาเคมีบำบัด”ศ.พญ.ดารินทร์ กล่าว
3โรคต่อมไร้ท่อในเด็กที่พบบ่อย
ผศ.พญ.มนัสวี ก่อวุฒิกุลรังสี แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางกุมารเวชศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า เทรนด์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเด็กๆ เป็นอย่างมาก ถ้าหากใช้อย่างไม่ถูกต้องและเหมาะสม อาจจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กได้ โดยเฉพาะภาวะที่เกิดจากต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ เช่น โรคเบาหวานในเด็กและโรคอ้วน ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย และภาวะเตี้ย ซึ่งหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อสภาพจิตใจและการปรับตัวของเด็ก
“โรคอ้วน เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้นในเด็ก ซึ่งเกิดจากการทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพทำให้มีน้ำหนักเกิน และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน นอนกรน ความดันหรือไขมันในเลือดสูง ส่วนการเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย เป็นภาวะที่พบได้บ่อย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ความสูงอาจจะน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรือสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ถ้าเกิดสงสัยว่าเด็กเป็นภาวะดังกล่าว ควรมารับการวินิจฉัยเพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัย เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รพ.บำรุงราษฎร์มีการประเมินเพื่อการรักษาเฉพาะบุคคล ให้ได้รับดูแลรักษาอย่างครบวงจร” ผศ.พญ.มนัสวี กล่าว
แผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด รพ.บำรุงราษฎร์
พญ.ภาสินี เตชะวิจิตร์ แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางกุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด หรือ Neonatal Intensive Care Unit(NICU) ซึ่งให้การดูแลทารกมามากกว่า 30,000 ราย โดยมีทีมกุมารแพทย์ทารกแรกเกิด ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์สูงในการดูแลทารกแรกเกิดให้ปลอดภัย รวมถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างคลอด ไม่ว่าจะเป็น การคลอดที่ใช้ระยะเวลาในระหว่างการคลอดยาวนานเกินไป คลอดยาก หรือทารกอยู่ในท่าผิดปกติ จะมีทีม NICU อยู่ดูแลตั้งแต่ในห้องคลอดจนกระทั่งทารกมีร่างกายแข็งแรกพร้อมออกจากโรงพยาบาล
นอกจากนั้น แผนก NICU จะอยู่เชื่อมติดกับห้องคลอด ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายทารกได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันอันตราย รวมถึงมีห้องผ่าตัดอยู่ใน NICU ทำให้สามารถช่วยเหลือทารกได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดภาวะฉุกเฉินที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการอบรมเฉพาะทางที่พร้อมให้การดูแล ได้แก่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด พยาบาลวิชาชีพที่ได้รับการรับรองเฉพาะทาง รวมถึงกุมารศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ และอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ที่ครบครัน และทันสมัย