จุฬาฯพัฒนา DeepGI  นวัตกรรมAIคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

จุฬาฯพัฒนา DeepGI   นวัตกรรมAIคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

“มะเร็งลำไส้ใหญ่” เป็นอีกหนึ่งมะเร็งที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทุกวัย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ทำให้ “ผู้สูงอายุ” เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหารมากที่สุด

KEY

POINTS

  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้เพิ่มมากขึ้นเป็น 10 เท่าตัวจากในอดีต  ซึ่งมะเร็งดังกล่าวหากตรวจคัดกรองพบโรคในระยะเริ่มต้นจะช่วยในการรักษาได้ทันท่วงที ช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ได้
  • เรามีแพทย์ที่ไม่เพียงพอ ฉะนั้น การพัฒนานวัตกรรม AI เข้ามาเป็นผู้ช่วยแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น และดีขึ้น
  • DeepGI จะเป็นการประมวลวิเคราะห์ภาพที่ได้จากวิดีโอระหว่างการส่องกล้อง แล้ววิเคราะห์ความผิดปกติด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมีความแม่นยำมากกว่า 90%

“มะเร็งลำไส้ใหญ่” เป็นอีกหนึ่งมะเร็งที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทุกวัย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ทำให้ “ผู้สูงอายุ” เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหารมากที่สุด

รายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกในปี ค.ศ. 2022 พบผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารรายใหม่ จำนวน 968,365 คน และพบผู้เสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหารถึง 659,805 คน ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 5 จากสถิติมะเร็งทั้งหมดในทุกระบบ

ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ระบุว่าปี 2566 มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ในประเทศไทยพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง โดยสิ่งที่น่ากังวล คืออัตราการเกิดโรคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทุกๆ วันมีคนไข้เสียชีวิตจากโรคร้ายนี้เฉลี่ยวันละ 15 ราย ปีละ 5,476 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่วันละ 44 ราย ปีละ 15,939 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'มะเร็งลำไส้ใหญ่' เรื่องใกล้ตัว เช็กพฤติกรรมเสี่ยง ก่อนสาย

เช็ค! สัญญาณเตือน โรค “มะเร็งกระเพาะอาหาร”

AI ตรวจจับสำไส้ใหญ่

“ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิต” อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เป็นมะเร็งที่หากตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นจะช่วยในการรักษาได้ทันท่วงที ช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ได้

ข้อจำกัดในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ การส่องกล้อง เนื่องจากกลุ่มคนที่เข้าเกณฑ์ส่องกล้อง 50 ปีขึ้นไป ทั้งประเทศมีประมาณ 15 ล้านคน แต่แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการส่องกล้องทั่วประเทศไทยมีเพียง 500 คน และในแต่ละวันสามารถส่องได้มากสุดประมาณ 50 คน ดังนั้น ต่อให้ผ่านไป 15 ปีก็เป็นเรื่องยากที่จะสำเร็จ

จุฬาฯพัฒนา DeepGI   นวัตกรรมAIคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

ดังนั้น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมมือกันในการ พัฒนานวัตกรรม “AI ตรวจจับความผิดปกติในทางเดินอาหาร (DeepGI - Deep Technology for Gastrointestinal Tracts)" เพื่อช่วยตรวจจับติ่งเนื้อที่มีความผิดปกติในลำไส้ใหญ่และโรคในระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ

นอกจากนั้น ได้ร่วมมือกับ บริษัท อีเอสเอ็ม โซลูชั่น จำกัด ในการร่วมสนับสนุนนวัตกรรม และเป็นตัวแทนจำหน่าย DeepGI ซึ่งปัจจุบันได้ให้บริการตรวจคนไข้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และทดสอบใช้งานในโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมถึงอยู่ในขั้นตอนการขอรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การขอสิทธิบัตร และได้มีการหารือร่วมกับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น

คัดกรองไว รักษาได้

ทั้งนี้มะเร็งลำไส้ใหญ่ มักจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ตอนเป็นระยะสุดท้ายแล้ว ฉะนั้น หากมีการตรวจคัดกรองตั้งแต่เริ่มต้น ได้รับการส่องกล้องแล้วพบตั้งแต่แรกจะสามารถรักษาได้ DeepGI ที่ทางคณะแพทย์และวิศวะพัฒนาขึ้นมาตลอดระยะเวลา 7 ปี เข้าสู่รุ่นที่ 2 นี้ จะเป็นนวัตกรรม AI ทางการแพทย์ที่จะช่วยให้แพทย์รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะAI จะช่วยตีกรอบติ่งเนื้อ และแสดงรายละเอียดได้ว่าติ่งเนื้อดังกล่าว เป็นติ่งเนื้อดี หรือติ่งเนื้อร้าย ที่มีความแม่นยำเกิน 90% และมีการแสดงข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างดี

“ขณะนี้มีแพทย์ที่สามารถส่องกล้องได้เพียง 500 คน อย่างใน รพ.จุฬาลงกรณ์ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการส่องกล้องประมาณ 20 ราย ดังนั้น นวัตกรรม DeepGI นอกจากช่วยตรวจคัดกรองผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังสามารถนำมาเทรนนิ่งแพทย์ให้สามารถส่องกล้องได้อย่างมีความชำนาญ และมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเทรนนิ่งแพทย์ให้เชี่ยวชาญในการส่องกล้อง ปีละ 36 คน ช่วยเพิ่มจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น เมื่อมีแพทย์มากขึ้นก็จะช่วยผู้ป่วยได้มากขึ้น” ศ.นพ.รังสรรค์ กล่าว

จุฬาฯพัฒนา DeepGI   นวัตกรรมAIคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่ม 10 เท่า

ปัจจุบันผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้เพิ่มมากขึ้นเป็น 10 เท่าตัวจากในอดีต ซึ่งจริงๆ อาจจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้จำนวนมากอยู่แล้ว เพราะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยมะเร็งตับที่เสียชีวิตหลายๆ คนจุดเริ่มต้นมาจากมะเร็งลำไส้ แต่ตรวจไม่พบ ขณะเดียวกัน เรามีแพทย์ที่ไม่เพียงพอ

ฉะนั้น การพัฒนานวัตกรรม AI เข้ามาเป็นผู้ช่วยแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น และดีขึ้น ซึ่งนวัตกรรม DeepGI มีการเก็บข้อมูลติ่งเนื้อในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ 15,000 รูป เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ

“ผู้ป่วยมะเร็ง 1 คน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่ากับการตรวจคัดกรอง 20,000 คน ซึ่งโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร หากได้รับการตรวจคัดกรองจะสามารถป้องกันโรคได้ ถ้าใครที่มีคนในครอบครัว เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ หรือไทรอยด์ อยากให้มาตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น เกิดได้จากกรรมพันธุ์ อายุมากขึ้น พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างการสูบบุหรี่ มีภาวะอ้วน ลงพุง โดยมีอาการเบื้องต้น ท้องผูกไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลด หากมีอาการเหล่านี้ควรมาพบแพทย์ อย่าปล่อยไว้” ศ.นพ.รังสรรค์ กล่าว

จุฬาฯพัฒนา DeepGI   นวัตกรรมAIคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

DeepGI นวัตกรรมAI ส่องกล้อง

“การส่องกล้อง” เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ใช้กันอย่างทั่วโลก ซึ่งผู้ป่วยที่มาส่องกล้อง ประมาณ 30% จะพบติ่งเนื้อ “นวัตกรรม DeepGI" มีจุดเด่น 3 เรื่องหลักๆ คือ

1.มีความแม่นยำ ใช้งานอย่างเรียลไทม์

2.ราคาที่ถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ

3.มีการพัฒนานวัตกรรมขยายไปยังอวัยวะต่างๆ อาทิ กระเพาะอาหาร หรือท่อน้ำดี

“รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล” คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยให้ทีมแพทย์ (AI-Assisted Solution) สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ และลดความผิดพลาด DeepGI จะเป็นการประมวลวิเคราะห์ภาพที่ได้จากวิดีโอระหว่างการส่องกล้อง แล้ววิเคราะห์ความผิดปกติด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยใช้เทคนิคเครื่องจักรเรียนรู้ที่เรียกว่า การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) โมเดลจะตีกรอบบริเวณที่มีความผิดปกติแล้วแจ้งเตือนให้กับแพทย์แบบทันที (real-time) 

โดยมีความแม่นยำมากกว่า 90% พร้อมให้การวินิจฉัย (characterization) ชนิดของติ่งเนื้อว่าเป็นชิ้นเนื้อที่เป็นอันตราย (Neoplastic) หรือไม่เป็นอันตราย (Hyperplastic) อย่างแม่นยำ ความสามารถด้านนี้จะช่วยเพิ่มให้แพทย์มีความมั่นใจในการวินิจฉัยโรคได้มากขึ้น จากผลการวิจัยพบว่า DeepGI สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาติ่งเนื้อถึง 16% การตรวจพบติ่งเนื้อเพิ่มขึ้น 1% และจะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ถึง 3%

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 DeepGI ได้ขยายขีดความสามารถรองรับการตรวจจับความผิดปกติในกระเพาะอาหาร ที่เรียกว่า Gastrointestinal Metaplasia (GIM) ซึ่งเป็นระยะเริ่มแรกของการเป็นมะเร็ง ในกระเพาะอาหาร และพัฒนาความพร้อมด้านเทคโนโลยีระดับ 5 (Technology Readiness Level 5, TRL5) และถูกทดสอบใช้งานจริงในหลายโรงพยาบาล โดยตั้งเป้าขยายขีดความสามารถตรวจหาความผิดปกติในท่อน้ำดีต่อไป

จุฬาฯพัฒนา DeepGI   นวัตกรรมAIคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่