5 นวัตกรรมบริการสุขภาพ รถเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยAI
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดตัว 5 นวัตกรรมบริการสุขภาพ เฉลิมพระเกียรติในหลวงร.10 ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมสามมิติ แมมโมแกรม พร้อมด้วยส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและตับ ด้วยนวัตกรรมรถเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วย AI
KEY
POINTS
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิด 5 นวัตกรรมบริการสุขภาพ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
- นวัตกรรมรถอัลตราซาวด์เต้านมสามมิติ (3D-ABUS) และแมมโมแกรม ตรวจคัดกรองด้วยระบบAI เจ็บน้อย รู้ผลไว รักษาโรคมะเร็งเต้านมได้
- การป้องกันมะเร็งที่ดีที่สุด คือ การตรวจคัดกรอง เพราะหลายโรคมะเร็ง หากรู้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม จะรักษาหายขาดได้
“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้แนวคิด สืบสาน-รักษา-ต่อยอด พระราชปณิธาน สร้างสรรค์นวัตกรรมบริการสุขภาพเพื่อปวงชน พร้อมเดินหน้าเปิด 8 โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเปิดตัว 5 นวัตกรรมบริการสุขภาพ รถเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วย AI เริ่มด้วย
"นพ.ศรัณย์ เลิศสถิตธนกร" แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า มะเร็งเต้านม เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของสตรีทั่วโลก ซึ่งสถานการณ์โรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทย ยังพบมากเป็นอันดับ1 ขณะที่อัตราการเสียชีวิตเป็นลำดับที่ 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมด และใน 1 วันจะมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เสียชีวิต ประมาณ 21 ราย และแต่ละวันมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 60 ราย
"การควบคุมและป้องกันมะเร็งเต้านม คือ การรณรงค์ให้สตรีได้เข้ารับการตรวจคัดกรองหามะเร็งเต้านม เพราะหากได้รับการตรวจคัดกรองที่เร็ว ทำให้อัตรการรอดชีวิตมีสูงมาก แต่โรคมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกไม่มีอาการ เราจึงมองว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการคิดค้นว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่มากขึ้น ผู้หญิงไทยสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรอง และได้รับการรักษาโรคมะเร็งเต้านมได้อย่างรวดเร็ว"นพ.ศรัณย์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“มะเร็งเต้านม” ผ่าตัดแบบสงวนเต้า วินิจฉัยรู้ผลใน 72 ชั่วโมง
โลกกำลังเผชิญ ‘สึนามิโรคมะเร็ง’ คาดป่วยทั่วโลก 35 ล้านราย ในปี 2050
ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมสามมิติ รู้ผลไว
"ดร.ทศพร เฟื่องรอด" รักษาการผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม พัฒนาผู้ประกอบการและเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ "ระบบการตรวจคัดกรองด้วย AI นวัตกรรมรถอัลตราซาวด์เต้านมสามมิติ (3D-ABUS) และแมมโมแกรม" ว่าปัจจุบันยังพบว่ามีสตรีอีกเป็นจำนวนมากที่รอคิวหรือไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์
นวัตกรรมดังกล่าวทาง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ร่วมกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ออกแบบพัฒนาระบบบริการสุขภาพเคลื่อนที่สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีไทยด้วยนวัตกรรมรถอัลตราซาวด์เต้านมสามมิติ (3D-ABUS) และแมมโมแกรม พร้อมด้วยระบบรายงานผลดิจิทัล และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ร่วมวินิจฉัยกับรังสีแพทย์
โดยผลงานได้รับรางวัลจากเวทีประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ โดยนำร่องให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแก่สตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส อายุ 35 ปีขึ้นไป ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครโซนเหนือทั้งหมด 7 เขต จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดนนทบุรี ในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 720 ราย
"การตรวจคัดกรอง เป็นการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ดีที่สุด นวัตกรรมดังกล่าว จึงเป็นการส่งเสริมให้ผู้หญิงไทยสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองได้มากขึ้น และรู้ผลได้อย่างรวดเร็ว มีความแม่นยำมากกว่า 85% มีความปลอดภัย เจ็บน้อย และลดระยะเวลาการเดินทาง ในราคาที่ไม่แพง อีกทั้งเป็นการพัฒนานโยบายระบบบริการสุขภาพให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เพราะนวัตกรรมรถอัลตราซาวด์เต้านมสามมิติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถอ่านผลออนไลน์ได้ทันที" ดร.ทศพร กล่าว
นวัตกรรมส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและตับ
ด้าน นพ.วรวัฒน์ แสงวิภานภาพร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่ามะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งท่อน้ำดีตับมีสาเหตุหลักจากพยาธิใบไม้ตับพบมากทางภาคอิสาน และ มะเร็งของเซลล์ตับ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
โดยสาเหตุที่สำคัญที่สุดในการเกิดมะเร็งของเซลล์ตับในคนไทย คือ การเป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้ากำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2573โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงร่วมรณรงค์ชวนคนไทยเข้าตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี พร้อมอัพเดทนวัตกรรมการวินิจฉัยโรคตับด้วยนวัตกรรมการวินิจฉัยโรคตับด้วยการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและตับ
รถเอกซเรย์คอมพิวเตอร์คัดกรองรอยโรคปอด
ด้าน ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และดร.วิทยา สังขะรัตน์ รองคณบดีด้านวิจัยนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและวิเทศสัมพันธ์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ช่วยกันเล่าถึง นวัตกรรมรถเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พร้อมด้วยเทคโนโลยี AI ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ออกแบบโดยคนไทยในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 จึงเหมาะใช้คัดกรองรอยโรคในปอด เพื่อนำมาใช้ดูแลสุขภาพปอดของคนไทยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ได้รับผลกระทบด้านมลภาวะทางอากาศสูงของฝุ่นละอองจิ๋ว PM 2.5
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ จำนวน 720 ราย เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการตรวจคัดกรองสภาวะปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงแบบใช้ปริมาณรังสีต่ำพร้อมด้วยระบบการจัดท่าและการสแกนอัตโนมัติ วินิจฉัยรอยโรคร่วมกับระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ภายในรถที่มีความปลอดภัยสูงสุดจากการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโรคด้วยระบบกรองอากาศความเร็วสูงและแสงยูวี 222 นาโนเมตร โดยนอกจากจะช่วยให้ประชาชนในโครงการได้รับการประเมินสภาพปอดจากภัยสุขภาพฝุ่นจิ๋วแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อยอดสู่การขับเคลื่อนและพัฒนานโยบายทางด้านการจัดการมลพิษ
โดยประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่สามารถเข้าร่วมโครงการ ฯ จะต้องอยู่ในช่วงอายุ20-60 ปี มีพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่ทำงานในเขตกรุงเทพมหานคร หรือ ปริมณฑล ไม่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ หรือ มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกี่ยวกับปอด เช่น โรคมะเร็งปอด วัณโรคปอด โรคปอดอักเสบ โรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น ไม่มีประวัติการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ลงปอด (Pneumonia COVID-19) ไม่เคยมีประวัติการผ่าตัดนำเนื้อปอดออก (Lobectomy, Pneumonectomy) โดยรถเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีจุดจอดให้บริการอยู่ที่ CRA HALL อาคารสำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถนนแจ้งวัฒนะ
ระบบสุขภาพทางไกล ลดปัญหาขาดแคลนแพทย์
ผศ.นพ.สุรเชษฎ์ สิริพงษ์สกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนนักอัลตราซาวน์ทางการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล่าถึงการพัฒนานวัตกรรมระบบสุขภาพทางไกล เพื่อวินิจฉัยและอ่านผลอัลตราซาวด์แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล ว่าได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำทีมลงพื้นที่ไปร่วมอบรมสอนการปฏิบัติงานจริงในการทำอัลตราซาวด์ พร้อมทั้งวางระบบสุขภาพทางไกลสำหรับการวินิจฉัยและอ่านผลการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อให้โรงพยาบาลในพื้นที่สามารถทำการตรวจอัลตราซาวด์ได้ด้วยตนเอง และนำส่งภาพผ่านระบบคลาวด์เพื่อให้อาจารย์แพทย์ของโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ฃ
พร้อมร่วมวินิจฉัยและอ่านผลการตรวจอัลตราซาวด์ให้กับผู้ป่วยในท้องถิ่นห่างไกล ลดระยะเวลาการรอคอย และสามารถทำการรักษาได้ทันท่วงที หากตรวจพบอาการผิดปกติ โดยโครงการดังกล่าว นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเฉพาะด้านทางอัลตราซาวด์ทางการแพทย์แล้ว ยังช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมทั้งถ่ายทอดและสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้อย่างมีคุณภาพ
นวัตกรรมทางการพยาบาลเพื่อผู้สูงอายุ
ผศ.ดร.ประภา ยุทธไตร รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล่าว่าการสร้างพยาบาลวิชาชีพของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี จะเป็นหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนที่มอบประสบการณ์เรียนรู้แบบบูรณาการองค์ความรู้และการปฏิบัติการพยาบาล มุ่งสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียน
นวัตกรรมแอปพลิเคชันประเมินภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ LLL Senior Care By CRA เป็นหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมทางการพยาบาลเพื่อผู้สูงอายุจากนักศึกษาพยาบาล โดยโครงการพยาบาลศาสตร์อาสาเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เรื่องเสริมสร้างสุขภาพและการดูแลตนเองของผู้สูงอายุในชุมชน เฉลิมพระเกียรติ ฯ นี้ จะช่วยส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุในชุมชนเมือง สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีความรู้ ความเข้าใจ และเตรียมพร้อมในการดูแลตนเอง ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย สมอง อารมณ์ และสังคมได้ดียิ่งขึ้น
พร้อมทั้ง สร้างเครือข่ายชุมชนผู้สูงอายุที่เข้มแข็งและมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน และเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาพยาบาลได้มีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ตามอัตลักษณ์ของนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี คือ รอบรู้ พัฒนา จิตอาสา นำพาความสุข และสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชนและพัฒนาประเทศชาติ