“Future Food”โต 1.4 แสนล้านบาท เร่งเพิ่มการส่งออกไปต่างประเทศ

“Future Food”โต 1.4 แสนล้านบาท เร่งเพิ่มการส่งออกไปต่างประเทศ

“อุตสาหกรรมอาหาร” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ และสนับสนุน “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ที่ถูกกำหนดมานานกว่า 10 ปี

KEY

POINTS

  • การจะยกระดับผู้ประกอบการ ให้แข่งขัน และเข้าสู่ตลาดส่งออกได้มากขึ้นต้องลงทุนในอุตสาหกรรมส่วนประกอบฟังก์ชัน และโปรตีน 200-400 ล้านบาทแล้ว ยังต้องพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดขึ้นด้วย
  • “Thai Future Food” เป็นอาหารที่ปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของคนในโลกยุคใหม่ ที่มีกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม ตอบโจทย์ความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • อุตสาหกรรมอาหารอนาคต สิ่งที่สำคัญคือ เรื่องมาตรฐาน และความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ฉะนั้น ระบบการผลิต กระบวนการต่างๆ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ

อุตสาหกรรมอาหาร” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ และสนับสนุน “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ที่ถูกกำหนดมานานกว่า 10 ปี สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ (สอวช.) ระบุว่าปี 2566 ไทยส่งออกอาหารอนาคต(Future Food) มูลค่ามากกว่า 144,000 ล้านบาท สัดส่วนส่งออกมากสุดคือ อาหารสุขภาพ และสารประกอบเชิงฟังก์ชัน 89%ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด

ทั้งนี้ กลุ่มอาหารอนาคตมีสัดส่วนส่งออก 11 % ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมดของไทย และคาดการณ์ว่าภายปี 2570 การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารอนาคตจะมีมูลค่าถึง 220,000 ล้านบาท จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมอาหารอนาคตเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นกลไกสำคัญเพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และตอบรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงการบริโภคของโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'อาหารแพลนต์เบส' ไทยเบอร์ 1 อาเซียน ตลาดอาหารสุขภาพโต

สร้างมูลค่าเพิ่ม โอกาสในอุตสาหกรรมอาหาร

ไทยส่งออกอาหารอันดับ 12 ของโลก

“สิรินยา ลิม” ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจนวัตกรรม สอวช. ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงแนวทางผลักดันอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ” ว่าไทยส่งออก Future Food มีมูลค่า 144,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น(CAGR )8.2% ซึ่ง 89% เป็นอาหารเชิงฟังก์ชัน (ผลิตภัณฑ์ลดหวาน มันเค็ม สารประกอบเชิงฟังก์ชัน:สารสกัด วิตามิน โพรไบโอติกส์ พรีไบโอติกส์ และอาหารเสริม) 5% เป็นโปรตีนทางเลือก 4% เป็นอาหารทางการแพทย์ และอาหารเฉพาะบุคคล และ 2% เป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และอาหารไม่ปรุงแต่ง ซึ่งภาพรวมสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 11% เติบโตสูง 9%

“ไทยได้ตั้งเป้าปี 2570 เพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารอนาคตรวม 5 แสนล้านบาท โดยในส่วนของ อว.มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมนวัตกรรม มุ่งส่งเสริมการสื่อสาร การทำความเข้าใจ สนับสนุนองค์ความรู้ งานวิจัย และพัฒนา R&D ตั้งแต่ต้นน้ำ-ผลผลิตทางการเกษตรมาตรฐานอุตสาหกรรม Localization & Tech Transfer Platform ,Food tech & Biotech Inc-Acc รวมถึงพัฒนากำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมดังกล่าว ขณะที่ด้านการตลาดจะมีการปลดล็อกกฎระเบียบกระบวนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ พร้อมกับส่งเสริมตลาด Thainess ของอุตสาหกรรม Future Food” สิรินยา กล่าว

“Future Food”โต 1.4 แสนล้านบาท เร่งเพิ่มการส่งออกไปต่างประเทศ

แนวทางขับเคลื่อนอาหารในอนาคต

 “สอวช.” ได้วางกรอบแนวคิดในการขับเคลื่อนอาหารอนาคตของไทยด้วย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานของรัฐ เอกชน และสถาบันอุดมศึกษา ผ่าน 4 แนวทาง ได้แก่

1. สร้างคอนเซอร์เทียมวิจัยวัตถุดิบต้นน้ำ ผ่านการบริหารจัดสรรทุนวิจัย

2. สร้างแพลตฟอร์มถ่ายทอดเทคโนโลยี และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ประเมินเทคโนโลยี ตลาด วิจัยกระบวนการผลิต โรงงานต้นแบบ บริการตรวจวิเคราะห์ตลอดจนสนับสนุนการขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

3. ส่งเสริมหน่วยบ่มเพาะสตาร์ตอัป Foodtech & Biotech ยกระดับเป็น Smart Regulation Zone

 4. พัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรม โดยวิเคราะห์ความต้องการกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมอนาคต นำมาออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะ ทั้งในรูปแบบ Degree และ Non-Degree นำไปสู่การปฏิบัติงานจริงในสถานการประกอบการต่อไป

“ด้วยข้อจำกัดทั้งเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง เรื่องของเงินลงทุน และมีผู้ประกอบการเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มีความพร้อมในการลงทุน และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมกลางน้ำที่ต้องลงทุนด้านนวัตกรรม อย่างเรื่องสารสกัดต่างๆ อีกมาก ขณะที่การส่งเสริมให้ภาคเกษตรกรพัฒนาพืชผลทางการเกษตร สมุนไพรให้ได้มาตรฐาน สามารถนำมาต่อยอดในการผลิตสารสกัดได้ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน สอวช.ได้มีการสร้างความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาครัฐในกระทรวงต่างๆ อาทิ สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย หอการค้าไทยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร หรือ Future Food ของไทยให้สามารถยกระดับสินค้า และเพิ่มมูลค่าการส่งออกมากขึ้น”

“Future Food”โต 1.4 แสนล้านบาท เร่งเพิ่มการส่งออกไปต่างประเทศ

ส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารอนาคต

โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้ทั้งภาคการศึกษา ภาคเอกชน และสตาร์ตอัปในการผลักดันให้อุตสาหกรรม Future Food เติบโตมากขึ้น เพราะมีปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร จะช่วยลดภาระทางการแพทย์ ข้อมูลพบว่า รัฐใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาทในการดูแลผู้ป่วยกลุ่ม NCDs ซึ่ง 57% ของผู้บริโภคทั่วโลกสนใจเกี่ยวกับสุขภาพ

“Future Food เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ยิ่งขณะนี้วิกฤติเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ผลผลิตลดลง นอกจากนี้  ตามเป้าหมายของไทยที่ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs emission) ภายในปี 2065 และ 25% ของก๊าซเรือนกระจก มาจากการผลิตอาหารรูปแบบเดิม ขณะที่โปรตีนพืชปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเนื้อสัตว์ 10 เท่า และเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยี และส่งเสริมสตาร์ตอัปที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep-Tech Startup) ซึ่งประเภทของอาหารอนาคตไทย”

“Future Food”โต 1.4 แสนล้านบาท เร่งเพิ่มการส่งออกไปต่างประเทศ

โปรโมต Future Food เป็นSoft Power

การจะยกระดับผู้ประกอบการ “Future Food” ให้มีโอกาสในการแข่งขัน และเข้าสู่ตลาดส่งออกได้มากขึ้นนั้น นอกจากเรื่องของการลงทุนในอุตสาหกรรมส่วนประกอบฟังก์ชัน และโปรตีน ซึ่งต้องการเงินลงทุนสูง 200-400 ล้านบาทแล้ว ยังต้องพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีที่นำมาใช้อยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นของบริษัทต่างชาติซึ่งเป็นบริษัทยา และอาหาร

"สิรินยา" กล่าวด้วยว่าไทยมีวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นถั่วเขียว ถั่วลายเสือ มีพืชสมุนพร อย่างกระชายดำ ขมิ้นชัน ไพล มีพืชท้องถิ่น อย่าง ผำ ขนุนอ่อน และสามารถทำในเรื่องของการแปรรูปขั้นต้น อาทิ การบด การอบ แห้ง ฟรีซดราย ได้ดี ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นกระบวนการต้นน้ำ แต่กลางน้ำ การแปรรูปขั้นสูง การนำเทคโนโลยีขั้นสูงยังมีปัญหา และอุปสรรคอีกมาก อว.พยายามเชื่อมโยงตลาดซัพพลายเชน สร้างกิจกรรมตั้งแต่ผู้ผลิตต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ให้มาร่วมกัน และพยายามปลดล็อกกฎต่างๆ รวมถึงการโปรโมต Future Food ให้เป็น Soft Power เพิ่มฐานการบริโภคทั้งใน และต่างประเทศ

“อว.มีกองทุนวิจัย มีหน่วยงานที่ให้ทุนต่างๆ และมีโจทย์ที่ชัดเจนจากภาคอุตสาหกรรม การให้ทุนวิจัยจึงเป็นแบบพุ่งเป้าอย่างชัดเจน ซึ่งตอนนี้เรื่องของ Future Food รวมถึงสารสกัดต่างๆ มีนักวิจัยทั่วโลกเริ่มต้นในเรื่องนี้ ผู้ประกอบการไทย และนักวิจัยสามารถต่อยอดสิ่งที่ทั่วโลกมีอยู่แล้ว อีกทั้งมีการ ecosystem และมีการนำเครื่องมือ แพลตฟอร์มประสานให้แหล่งทุนเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ และนักวิจัยมากขึ้นด้วย”

อย่างไรก็ตาม Future Food อุตสาหกรรมอาหารอนาคต สิ่งที่สำคัญคือเรื่องมาตรฐาน และความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ฉะนั้น ระบบการผลิต กระบวนการต่างๆ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเป็นแบบนั้น เทคโนโลยีมุ่งไปกระบวนการผลิตที่สะอาดปลอดภัย และได้มาตรฐานระดับสากล หรือแต่ละประเทศกำหนด เพื่อส่งออกได้

“Future Food”โต 1.4 แสนล้านบาท เร่งเพิ่มการส่งออกไปต่างประเทศ

ห่วงโซ่อุตสาหกรรมสารประกอบเชิงฟังก์ชัน

“Thai Future Food” เป็นอาหารที่ปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของคนในโลกยุคใหม่ ที่มีกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม ตอบโจทย์ความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งห่วงโซ่อุตสาหกรรมสารประกอบเชิงฟังก์ชันนั้น จะมีผู้ประกอบการกลุ่มผู้ผลิต และจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ผู้ผลิตสารสกัดขั้นต้นที่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตส่วนผสมที่ซับซ้อนที่ขับเคลื่อนด้วยทรัพย์สินทางปัญญา และผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายที่ตอบสนองผู้บริโภคปลายทาง

โดยจะใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ทั้งผัก และผลไม้ สารสกัดพืชสมุนไพร สารโภชนาการ สารแต่งกลิ่นรส และพลังงานชีวมวล เพื่อให้ได้สูตรโภชนเภสัช เสริมอาหาร และอาหารฟังก์ชัน ซึ่งในปัจจุบันอาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และสารประกอบเชิงฟังก์ชัน มีสัดส่วนการตลาดมากถึง 89% มีมูลค่าการส่งออกเติบโต 10% ต่อปี และมูลค่าตลาดในประเทศเติบโต 8% ต่อปี สอวช. จะให้การสนับสนุนพืชสมุนไพรต่างๆ อาทิ กระชายดำ ใบบัวบก ขมิ้นชัน หัวหอม กระเจี๊ยบแดง พริกขี้หนู เป็นต้น มาผลิตเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพื่อการเติบโตของ Future Food

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์

“Future Food”โต 1.4 แสนล้านบาท เร่งเพิ่มการส่งออกไปต่างประเทศ