'อ้วน เครียด อดนอน' ต้นเหตุโรคหืดและภูมิแพ้
ปัจจัยที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตจาก "โรคหืดและภูมิแพ้" เฉลี่ย 4,000 คน/ปี สูงสุดจากภาวะอ้วน ความเครียด การอดนอน และมลภาวะทางอากาศ โดยการปรับพฤติกรรมสามารถรักษาหายขาดได้
KEY
POINTS
- ปัจจัยที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตจาก "โรคหืดและภูมิแพ้" เฉลี่ย 4,000 คน/ปี สูงสุดจากภาวะอ้วน ความเครียด การอดนอน และมลภาวะทางอากาศ โดยการปรับพฤติกรรมสามารถรักษาหายขาดได้
- ปัจจัยด้านพันธุกรรมลดลง หลายคนที่ป่วยไม่เคยมีประวัติครอบครัวเป็นมาก่อน สิ่งที่มีผลทำให้เกิดโรคหืดและภูมิแพ้มักมาจากสภาพแวดล้อมและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต
- ป้องกันโรคด้วยการดูแลไลฟ์สไตล์ของชีวิตหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดี หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ซึ่งจะช่วยให้โรคไม่กำเริบและรักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยา
'ภาวะอ้วน ความเครียด การอดนอน' รวมถึงสภาพอากาศและการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคได้มากมาย โดยเฉพาะภาวะความอ้วน ความเครียด และการอดนอน ที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและใจ
จากสถิติประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหืดหรือภูมิแพ้ที่เสียชีวิต 3,000-4,000 คน/ปี อาการรุนแรงจนต้องนอนห้องฉุกเฉินเฉลี่ย 1 ใน 3 จากผู้ป่วยทั้งหมด หรือประมาณ 30% และส่วนใหญ่จะมีอาการกำเริบในช่วง อากาศมีมลภาวะเป็นพิษ ฤดูฝน และช่วงฤดูหนาว แม้ปัจจุบันจะมียารักษาที่ดีกว่าในอดีต แต่ผู้ป่วยที่ยังมีอาการรุนแรงและรักษายากจนถึงขั้นเสียชีวิตก็ยังไม่ลดลง
ในอดีตโรคหืดหรือภูมิแพ้มักเกิดจากพันธุกรรม ถ่ายทอดมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่สู่รุ่นลูก แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนล้วนทำให้ป่วยโรคหืดหรือภูมิแพ้ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ขยาย ‘คลินิกคุณภาพ’โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง -หืด ทุกพื้นที่ ลดแอดมิทเข้ารพ.
พฤติกรรมการใช้ชีวิตส่งผลผู้ป่วยโรคหืดและภูมิแพ้มากขึ้น
ศ.พญ.ดร. อรพรรณ โพชนุกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และหอบหืด ประจำศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิแพ้ โรงพยาบาล BNH และนายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย(Thailand Asthma Council) ได้ออกมาเปิดเผยว่า
จากการศึกษาพบว่า บุคคลที่ป่วยมีปัจจัยมาจากมลภาวะทางอากาศสูงขึ้น คนที่ไม่เคยเป็นหรือไม่เคยป่วยโรคนี้มีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้น อาจมีอาการภูมิแพ้กำเริบหรือภาวะการดื้อยามากขึ้นด้วย ซึ่งในอดีตโรคนี้มักเกิดจากพันธุกรรม ถ่ายทอดมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่สู่รุ่นลูก
แต่ในปัจจุบันปัจจัยด้านพันธุกรรมลดลงไปมาก หลายคนที่ป่วยไม่เคยมีประวัติครอบครัวเป็นมาก่อน ฉะนั้น สิ่งที่มีผลทำให้เกิดโรคหืดและภูมิแพ้มักมาจากสภาพแวดล้อมและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต
นอกจากนี้ จากข้อมูลการศึกษาพบว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดโรคหืดและภูมิแพ้คือภาวะอ้วน โดยเฉพาะบุคคลที่มีดัชนีมวลกายหรือค่า BMI เกิน 30 และมีน้ำหนักมากก็มีความเสี่ยงสูง ถัดมาจะเป็นความเครียดและภาวะซึมเศร้า ทำให้การรักษายากขึ้นเฉลี่ย 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ และมักมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย บางครั้งอาจแยกได้ยากว่าเกิดขึ้นโดยภาวะทางจิตใจหรือร่างกาย นอกจากนี้จะมีปัจจัยเรื่องการอดนอน การนอนน้อยหรือพักผ่อนไม่เป็นเวลาทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย โดยเฉพาะกับระบบทางเดินหายใจ
4 ปัจจัยการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อม เกิดโรคหืดและภูมิแพ้
โรคหอบหืด หรือ โรคหืด เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้เยื่อบุและผนังหลอดลมตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจากภายใน และจากสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ ส่งผลให้หายใจไม่สะดวกและมีเสียงหวีด เหนื่อยหอบ ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก โดยเฉพาะตอนกลางคืนและช่วงเช้ามืด โดยหอบหืดสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และทำให้เสียชีวิตได้หากอาการรุนแรง หอบหืดไม่ใช่โรคติดต่อแต่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้
สรุปเบื้องต้น มีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหืดและภูมิแพ้ ได้แก่
1. ภาวะอ้วน
2. ความเครียด
3. การอดนอน
4. มลภาวะทางอากาศ
คนช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไปที่เป็นโรคหืดและภูมิแพ้เนื่องจากภาวะอ้วนมีค่อนข้างสูง แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า หรือ 40 : 60 และเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุสัดส่วนการป่วยของผู้หญิงกับผู้ชายจะไม่แตกต่างกันมากนัก และโรคนี้จะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนเพศ และสิ่งที่ทำให้การรักษายากขึ้นหรือเกิดการดื้อยาคือมลภาวะทางอากาศที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นควันบุหรี่ไรฝุ่น รวมถึงภาวะโลกร้อน โดยโรคหืดกว่า 44%คุมอาการไม่ได้ อีก 40% ระบุอาการไม่ได้ และต้องเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 17%
อาการของโรคหอบหืดหรือโรคหืด
ไอต่อเนื่องนาน 2-3 สัปดาห์ หายใจมีเสียงหวีด อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หากอาการหนักอาจทำให้หายใจไม่ออก ไม่สามารถรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้ และไม่สามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้ เกิดระบบหายใจล้มเหลว จนถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตในที่สุด
ศ.พญ.ดร. อรพรรณ กล่าวว่า โรคหืดและโรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่จะเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย แต่จะเกิดได้มากตรงตำแหน่งที่ถูกกระตุ้น เช่น การแพ้อากาศจะเกิดการอักเสบบริเวณจมูก, หอบหืดจะเกิดการอักเสบที่บริเวณหลอดลม, ผื่นแพ้ผิวหนังจะเกิดการอักเสบบริเวณผิวหนัง ฯลฯ เมื่อเกิดความเครียดจะเกิดการอักเสบหลายส่วน ภาวะอดนอนก็มากระตุ้นให้ร่างการหลังฮอร์โมนอีก ซึ่งการนอนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้ สามารถสร้างกล้ามเนื้อช่วยให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญ อาจกล่าวได้ว่าการนอนน้อยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะอ้วน ฉะนั้นคนที่นอนน้อย นอนไม่เป็นเวลา จะควบคุมน้ำหนักได้ยาก
นอกจากนี้ ภาวะอ้วนยังทำให้เกิดการนอนกรน เนื่องจากทางเดินหายใจถูกอุดกั้นขณะนอนหลับ ทำให้โรคหอบหืดควบคุมได้ยาก ไม่ตอบสนองต่อยาพ่นหรือยาสเตียรอยด์ที่ใช้ในการรักษา และยังมีโรคอื่นตามมาอีก เช่น กรดไหลย้อน
การรักษานอกจากใช้ยาแล้วต้องปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยในแต่ละคนด้วย เพราะคนเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตไม่เหมือนคนอื่นหรือไม่เหมือนคนปกติทั่วไป และมักไวต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก ช่วงที่อาการกำเริบอาจจะออกจากบ้านไม่ได้ นอกหลับไม่สนิท แม้แต่ออกกำลังกายยังเหนื่อยหอบ ส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่ออยู่ในจุดที่เลวร้ายที่สุดก็ถึงขั้นเสียชีวิต
สังเกตอาการเบื้องต้นของโรคหืดและภูมิแพ้
อาการสำคัญที่เป็นสัญญาณของโรคหอบหืดมีทั้งหมด 3 อย่าง ได้แก่ ไอเรื้อรัง หายใจมีเสียงวี้ด เหนื่อยหอบ หากพบว่ามีครบทั้ง 3 อาการ ทำให้เพิ่มความน่าจะเป็นของการเป็นโรคหืด อย่างไรก็ตามควรทดสอบเพื่อวินิจฉัยโรคหืดในผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง
"แนวทางการป้องกันรักษาโรคหืดและภูมิแพ้ดีที่สุดคือ ดูแลไลฟ์สไตล์ของชีวิตหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดี หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ซึ่งจะช่วยให้โรคไม่กำเริบและรักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยา สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยเฉพาะในเด็กจะหายได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ ส่วนผู้ใหญ่จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และในวัยผู้ใหญ่กว่า 50% ไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคหืด เพราะบางรายอาจมาด้วยอาการไอเรื้อรัง หรือเกิดอาการแพ้บ่อยจนชิน ตระหนักรู้น้อย หัวใจสำคัญอย่าปล่อยให้เป็นก่อนรักษา ควรเห็นความสำคัญก่อนการรักษา ทั้งยังสามารถลดอัตราการเกิดโรค NCDs ได้ด้วย"
การดูแลผู้ป่วย โรคหอบหืด
ดังเช่นโรคเรื้อรังอื่นๆ ผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือโรคหืดจะมียาประจำในการรักษา ได้แก่ ยากิน ยาฉีดและยาสูดพ่น ยากินจะอออกฤทธิ์รักษาอาการหอบหืดได้ช้ากว่ายาสูดพ่น เพราะยากินต้องผ่านกระบวนการดูดซึมในร่างกาย แตกต่างจากยาพ่นซึ่งสามารถเข้าถึงหลอดลมได้ทันทีที่พ่นเข้าไป และมีผลข้างเคียงต่ำกว่า หากแต่ต้องอาศัยเทคนิกการใช้ยาที่ถูกต้อง
สำหรับยาพ่นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ยาควบคุมโรคและยาบรรเทาอาการ
- ยาควบคุมโรค เป็นยาสูดพ่นที่มีองค์ประกอบเป็นสเตียรอยด์ช่วยลดการอักเสบของหลอดลม ต้องใช้อย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่มีอาการ
- ยาบรรเทาอาการเป็นยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์เร็ว ใช้เมื่อมีอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน หรือเมื่อมีอาการหายใจลำบากเกิดขึ้น
ที่สำคัญผู้ป่วยควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และใส่ใจในเรื่องการพักผ่อนที่เพียงพอ ลดน้ำหนักในกรณีที่อ้วน หลีกเลี่ยงความเครียดทางจิตใจ รวมถึงหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และมลพิษในอากาศรวมทั้งงดสูบบุหรี่ ที่กระตุ้นให้หอบหืดกำเริบ
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ยา โรคหอบหืด
- การปรับขนาดยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ อย่าปรับยาหรือหยุดด้วยตนเอง แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว
- ผู้ป่วยต้องพกยาฉุกเฉินติดตัวไว้ เพื่อบรรเทาอาการเมื่อหอบหืดกำเริบ และคนรอบข้างควรรู้ตำแหน่งที่คนไข้เก็บยาเอาไว้ หากฉุกฉินคนรอบข้างจะได้ช่วยเหลือทัน