จาก 30 บาทรักษาทุกโรคสู่การแพทย์ 3.0 | ธราธร รัตนนฤมิตศร
นโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการปฏิวัติการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสำหรับประชาชนทุกกลุ่มในประเทศไทย
นโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” นี้ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง ลดความกังวลของครอบครัว จนส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ทิศทางของนโยบายที่ผ่านมาคือ การพยายามขยายสิทธิให้ครอบคลุมการรักษาโรคต่างๆ ให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มความสะดวกในการเข้าใช้บริการทางการแพทย์ต่างๆ
ในขณะที่ก็มีคำถามในวงนโยบายบ่อยครั้งว่าทำอย่างไรนโยบายนี้จะมีความยั่งยืนทางการคลังต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทยในระยะยาว หรือในที่สุดจะต้องเข้าไปสู่การร่วมจ่าย (Co-pay) โดยประชาชนในอนาคต โดยเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยโรคในกลุ่ม NCDs ซึ่งเป็นโรคหลักในปัจจุบันดูจะเรื้อรังและใช้ค่าใช้จ่ายสูงในระยะเวลานาน
ในขณะที่นโยบายนี้เน้นที่ปลายทางคือการรักษาพยาบาลเมื่อเกิดโรคแล้ว ขั้นต่อไปจึงจำเป็นต้องให้น้ำหนักกับการกลับไปที่ต้นต่อก่อนจะเกิดโรค หรือแนวคิดเรื่อง “การแพทย์ 3.0” ซึ่งถือเป็นก้าวต่อไปในการยกระดับระบบสุขภาพให้ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ดังครั้งหนึ่งคุณหมอท่านหนึ่งเคยบอกกับผู้เขียนว่า “หากระบบสาธารณสุขของไทยประสบความสำเร็จจริง โรงพยาบาลจะต้องร้าง และเปลี่ยนเป็นศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและออกกำลังกายแทน”
แนวคิดการแพทย์ 3.0 (Medicine 3.0) เผยแพร่อย่างกว้างขวางผ่านหนังสือเรื่อง “Outlive: The Science and Art of Longevity” เขียนโดย Dr. Peter Attia ซึ่งเป็นแนวทางการดูแลสุขภาพที่เน้นการป้องกันเชิงรุกและปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนของมนุษย์ในระยะยาว
เนื่องจากการรักษาทางการแพทย์ที่เป็นอยู่ดูจะไม่เพียงพอต่อยุคของโรคเรื้อรัง ที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้คนในปัจจุบัน
การแพทย์ 3.0 เน้นการเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลสุขภาพจาก “การรักษาผู้ป่วยแบบเฉพาะโรค” ไปสู่ “การป้องกันและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม” เพื่อเพิ่มทั้ง “ช่วงเวลาที่มีสุขภาพดี” (healthspan) และ “อายุขัย” (lifespan)
หลักการสำคัญของการแพทย์ 3.0 ประกอบด้วย การป้องกันโรคก่อนที่มันจะเกิดขึ้น แทนที่จะรอให้โรคเกิดขึ้นแล้วจึงรักษา ซึ่งแตกต่างจากการแพทย์ 2.0 ที่มักจะมุ่งเน้นการรักษาอาการเมื่อโรคได้เกิดขึ้นแล้ว
แนวคิดนี้ยังให้ความสำคัญกับความแตกต่างระหว่างบุคคลแต่ละคน แทนที่จะใช้แนวทางเดียวกันสำหรับทุกคน ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น จึงใช้ข้อมูลส่วนบุคคลรายคนเพื่อสร้างแผนการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยอิงจากข้อมูลทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์
การแพทย์ 3.0 ผสมผสานระหว่างวิทยาการทางการแพทย์ล่าสุด กับความเข้าใจในเรื่องของสุขภาพและการดูแลรักษาร่างกาย เน้นทำให้ร่างกายแข็งแรงและสมดุลตั้งแต่แรกเริ่ม การตรวจสุขภาพที่ครอบคลุม การดูแลโภชนาการที่เหมาะสม การใช้วิธีการออกกำลังกายที่สอดคล้องกับแต่ละบุคคล การนอนหลับที่ดีการดูแลจิตใจให้สงบ
Medicine 3.0 ไม่เน้นเพียงแค่การใช้ยาในการรักษา แต่เน้นป้องกัน ไม่เน้นเพียงการมีความรู้สุขภาพ (Health Literacy) แต่เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกโภชนาการที่ถูกต้อง จัดการกับความเครียด และรักษาความสมดุลในทุกด้านของชีวิต
ที่สำคัญคือไม่เน้นเพียงบทบาทของแพทย์และบุคลากรสุขภาพ แต่เน้นบทบาทของประชาชนทุกคนในการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างมีความรู้รวมถึงการร่วมทำงานกับบุคลากรสุขภาพ
ในมุมมองทางนโยบาย ผลกระทบของการมีสุขภาพดีตามแนวทางของ Medicine 3.0 มีผลดีต่อสังคมโดยรวม ไม่ใช่เพียงแค่ประเด็นส่วนบุคคล ในด้านเศรษฐกิจ ช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศอย่างมาก ลดภาระงบประมาณของรัฐในด้านสาธารณสุข
และช่วยลดต้นทุนการดูแลสุขภาพขององค์กรและบริษัท ทั้งยังช่วยเพิ่มผลผลิตในการทำงานและอายุการทำงาน อีกทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและทำให้ครอบครัวและชุมชนแข็งแรงขึ้น
การทำให้การแพทย์ 3.0 เข้าถึงประชาชนทุกคนจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนหลายด้าน รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมการแพทย์ 3.0 ทั้งการจัดทำโปรแกรมสุขภาพที่เข้าถึงได้สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม การลดต้นทุนในการเข้าถึงการแพทย์ที่ทันสมัย
เช่น การอุดหนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจสุขภาพที่ครอบคลุมและการให้บริการด้านสุขภาพฟรีหรือในราคาที่เข้าถึงได้ การเพิ่มศักยภาพของสถานพยาบาลในการตรวจคัดกรองและป้องกันโรค และโดยเฉพาะการให้คำปรึกษาแบบเฉพาะบุคคลที่เหมาะสม
รวมถึงการผลักดันนโยบายสาธารณะ ที่มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ตั้งแต่เรื่องแก้ฝุ่นพิษ PM 2.5 และมลภาวะทางอากาศ อุบัติเหตุทางถนน ไปจนถึงอาหารปลอดภัยและมีโภชนาการที่เหมาะสม ภาษีความหวาน-ความเค็ม สวนสาธารณะ เลนจักรยาน และการมีจิตแพทย์ที่เพียงพอต่อการดูแลประชาชน
งบประมาณจะต้องเกิดการจัดสรรใหม่ โดยให้น้ำหนักกับการป้องกันก่อนจะเกิดโรคมากขึ้น และลดการแก้ไขที่ปลายเหตุตอนเจ็บป่วยลง
การยกระดับจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคไปสู่การแพทย์ 3.0 เป็นการสร้างสังคมไทยให้มีสุขภาพดี ถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศ ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดภาระงบประมาณด้านสุขภาพ และทำให้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคมีความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว.