"วัยทำงาน"ป่วยจิต ระดับความเครียดพุ่ง!!

"วัยทำงาน"ป่วยจิต ระดับความเครียดพุ่ง!!

“วัยทำงาน” เป็นวัยที่ต้องเผชิญกับปัญหารอบด้าน  ทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ การหารายได้ ปัญหาสุขภาพทั้งกาย และจิตใจ โดยเฉพาะสุขภาพจิต ที่เรียกได้ว่าย่ำแย่

KEY

POINTS

  • ปัญหาสุขภาพจิต เป็นปัญหาที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกอาชีพ และทุกวัย เมื่อรู้สึกไม่ไหวบอก “ไม่ไหว” ไม่ต้องไปทนฝืน เพราะนั่นอาจเป็นการปกปิดปัญหาและทำร้ายตัวเองมากไปกว่าเดิม
  • อย่าลืมดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแกร่ง ร่วมกับสุขภาพกายที่แข็งแรง มองเพื่อนร่วมออฟฟิศด้วยความเข้าใจ ให้กำลังใจซึ่งกันและกันเมื่อมีโอกาส ให้โอกาสตัวเองได้โฟกัสชีวิตในมุมมองที่มีความสุข
  • หากรู้ตัวว่าภาวะเครียดเริ่มคุกคามจิตใจ หรือกำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต สามารถติดต่อศูนย์บริการเฉพาะทางเพื่อขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และรับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

จากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เมื่อเดือน มิ.ย. 2567 พบวัยแรงงานอายุ 20-59 ปี ขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงอันดับ 1 รวมกว่า 6,337 สาย จากทั้งหมด 8,528 สาย สะท้อนความต้องการวิธีจัดการกับปัญหาสุขภาพจิต

ขณะที่ การสำรวจสุขภาวะของคนทำงาน และปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร ปี 2566 พบพนักงานมีปัญหาสุขภาพจิต 42.7% ในจำนวนนี้มีภาวการณ์ฝืนทำงานแม้มีปัญหาสุขภาพจิต 27.5% ส่วนใหญ่เกิดจาก 5 สาเหตุ

1.คิดว่าไม่มีใครทำงานแทนได้

2.มีงานด่วน

3.กลัวผลกระทบกับผลการประเมิน

4.ความจำเป็นด้านการเงิน

5.รู้สึกว่ายังทำไหวไม่จำเป็นต้องหยุดทำงาน

นอกจากนั้น พบว่า พนักงานต้องการนโยบายการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีในการทำงาน 6 เรื่อง

 1.เพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและใจ 41.7%

2.อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ 6.7%

3.เพิ่มสวัสดิการการลา 13.1%

4.ส่งเสริมการพูดคุยสื่อสารและรับฟังปัญหา 11.3%

5.สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร 10.1%

6.เพิ่มสวัสดิการทางการเงิน (ค่าตอบแทน อาหาร โบนัส) 6%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“เครียด-ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย” รักษาสุขภาพใจด้วย“ศิลปะบำบัด”

เมื่อ 'ที่ทำงาน' อาจไม่ดีต่อใจ คนทำงาน 'เหนื่อย ล้า' มองหาพื้นที่ปลอดภัย

5 ปัญหาสุขภาพจิต ที่ชาวออฟฟิศควรระวัง

นพ.ธีรนันท์ มิตรภานนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพทย์รังสิต เล่าถึงปัญหาทางจิตเวชและอาการที่เกิดขึ้นในวัยทำงาน และผลกระทบอาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้ 

  • Burn out Syndrome ภาวะหมดไฟในการทำงาน

หมดไฟ เบื่อ ทำงานเหนื่อย คิดงานมาทั้งวันแล้ว อาจทำให้สมองเหนื่อย อ่อนล้า ขาดแรงบันดาลใจมาทำงาน ไม่อยากทำงาน รู้สึกเพลียทั้งวัน นอนหลับแล้วก็เหมือนนอนไม่พอ รู้สึกท้อแท้ หรือว่าโทษตัวเองว่า เราอาจจะดีไม่พอ เราไม่เก่ง สุดท้ายผลงานออกมาไม่ดีตามที่เราคาดไว้

ถ้ามีภาวะ burnout คงต้องรีบมารักษานะครับ เนื่องจากว่าปัญหาเรื่องของ burnout จะเป็นปัญหาตั้งต้นของโรคจิตเวชในหลายๆ พอเราเครียด เหนื่อย เพลียไปนานๆ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของปัญหาต่อมา คือ 'ขาดความมั่นใจในตัวเอง'

  • Low Self Esteem ภาวะความพึงพอใจในตัวเองต่ำ

ภาวะความพึงพอใจในตัวเองต่ำ  เป็นอาการของคนที่เริ่ม 'ไม่มั่นใจในตัวเอง' พอเราไม่มั่นใจ จากที่เมื่อก่อนรู้สึกมั่นใจกว่านี้ เราเก่ง เราทําได้ ทําไมตอนนี้ งานเดิมแม้เราจะทําได้ เราก็รู้สึกว่าเราดีไม่พอ พอเริ่ม Low Self Esteemไม่มั่นใจในตัวเองแล้ว  ตรงนี้เป็นหัวเชื้อ เป็นต้นตอของปัญหาหลายๆ อย่างด้านจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นโรคของโรควิตกกังวลและซึมเศร้า

\"วัยทำงาน\"ป่วยจิต ระดับความเครียดพุ่ง!!

 

  • Anxiety Disorder โรควิตกกังวล ซึมเศร้า

โรควิตกกังวล ซึมเศร้า จะมีอาการวิตกกังวลแบบทั่ว ๆไป กังวลในหลายๆเรื่อง อาการแรกเริ่มเลยอาจจะดูเหมือนเป็น เป็นคนมีเหตุผล  วางแผนในเรื่องต่างๆ พรุ่งนี้จะทำอะไร จะกินอะไรดี กินแล้วจะเกิดอะไรขึ้นคิดแล้วคิดอีก คิดซ้ำซ้อน ทั้งเรื่องงาน การดูแลชีวิตประจำวันต่างๆ พอคิดเยอะๆ สิ่งนี้แหละคือเริ่มเป็นโรควิตกกังวลแล้วความคิดรบกวนชีวิตประจำวันไม่กล้าตัดสินใจ ลังเลคิดมากจนปวดศีรษะ ต้นคอ คล้ายออฟิศซินโดรมขาดสมาธิ

  • Panic Disorder โรคแพนิค

'แพนิค' เป็นหนึ่งในปัญหาท็อปฮิตที่เป็นเยอะมาก ซึ่งจริงๆอาการแพนิค เราก็จะสังเกตตัวเองว่า เหมือนเราเป็นคนปกติเลย แล้วอยู่ดีๆ มีอาการตกใจ ตื่นเต้น ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออก ท้องไส้ปั่นป่วน มือชา รู้สึกหวิว ๆ บางทีวิญญาณจะหลุดออกจากร่างเลย แล้วก็พอเจออาการเหล่านี้ เรารู้สึกว่าเราจะตายไหม เราจะตายหรือเปล่า แย่แล้วนะ โดยที่อาการจะมาสั้นๆ ประมาณ 15-30 นาที แล้วก็จะหายไปสักพัก อาจจะหายไปเป็นวัน หรือเป็นอาทิตย์ แล้วก็กลับมาเป็นอีก กลุ่มอาการนี้ก็คือเป็น panic attack ที่เราอาจจะต้องมารับคำแนะนำและเข้ารับการรักษา

  • Adjustment Disorder ภาวะเครียด

เครียด อีกหนึ่งอาการที่เราพบบ่อย คือ เมื่อเราเครียด หรือกังวลมากๆ อาจทำทำให้สมองทํางานแย่ลง จิตตกสมองตก สมาธิหาย รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุข เศร้าเกือบทุกวัน ทั้งวัน เป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้มีอาการเบื่อหน่ายไม่มีแรง การนอนมีปัญหา รู้สึกผิดโทษตัวเอง บางทีรู้สึกว่าอยากตาย แต่การเริ่มต้นของอาการอยากตาย ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่ว่าอยากหลับไปไม่ให้ตื่นเลย อยากหนีไปให้พ้นๆ แต่อาการเล็ก ๆ เหล่านี้ อีกไม่นานก็อาจจะพัฒนาเป็นเรื่องของความรู้สึกที่อยากตาย หรืออยากทําร้ายตัวเองได้

\"วัยทำงาน\"ป่วยจิต ระดับความเครียดพุ่ง!!

ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาไหนก็ตาม ทุกโรคสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ จริง ๆ แล้วหากเริ่มมีอาการ คนไข้ควรจะต้องมาพบจิตแพทย์ หรือพบผู้เชี่ยวชาญในการรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ ก่อนที่จะปล่อยให้เรื้อรัง ไม่งั้นอาจจะมีผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด การใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเรื่องของงาน

หากเราหรือคนใกล้ชิดมีอาการ ควรรีบแก้ไขตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ควรมองข้ามความเครียด กังวลเล็กๆ สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความสูญเสีย ไม่ว่าจะเรื่องงาน ความสัมพันธ์ หรือตัวเองเอง หากปัญหาที่พบไม่สามารถเล่าให้ใครฟังได้ จิตแพทย์เป็นทางเลือกที่ทุกคนสามารถเล่าทุกปัญหา พร้อมช่วยและหาทางแก้ไขได้

เช็กสัญญาณบ่งบอกความเครียด ดูแลจิตใจ

ผศ. นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่าการดูแลจิตใจ ปรับใหม่ วัยทำงาน ควรจะมีการเช็กสัญญาณเหล่านี้อาจบ่งบอกว่าคุณเป็นโรคเครียด

  • หงุดหงิดกับงาน เพื่อน คนในบ้าน หมดไฟทำงาน
  • รู้สึกทำงานไปวัน ๆ
  • กังวลเรื่องงานตลอดเวลาแม้เวลาพัก
  • นอนไม่หลับ ไม่อยากตื่นไปทำงานโดยเฉพาะวันจันทร์ หรือหลังหยุดยาว
  • ปวดท้อง ปวดหัว ป่วย ลาบ่อย ๆ

โรคเครียดถือเป็นโรคยอดนิยม โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานซึ่งเกิดได้จาก

  • ความเครียดจากงาน
  • ภาระ งานมาก-ทำไม่ทัน
  • เวลาการทำงาน ไม่ตรงความสามารถ งาน-เวลาไม่เหมาะสม
  • สิ่งแวดล้อมการทำงาน เสียงดัง กลิ่น สิ่งอำนวยความสะดวก
  • เจ้านาย-เพื่อนร่วมงาน-ลูกน้อง ขาดความเข้าใจ การช่วยเหลือกันและกัน
  • ความเครียดจากตนเอง
  • ไม่สามารถแบ่งเวลาได้ งาน ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว
  • คาดหวังไม่ตรงใจ คาดหวังต่อตนเอง ผู้อื่น งาน
  • ใจร้อน ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ เร็ว
  • มีความเครียดในชีวิตด้านอื่น ๆ พ่อแม่ แฟน ลูก ญาติพี่น้อง สุขภาพ

ปรับเปลี่ยนตัวเองง่าย  ๆ รับมือความเครียด

  • รู้จักรับ-ปฏิเสธงาน แบ่งงานกันทำ
  • น้อมรับความผิดพลาด และแก้ไข พัฒนาทักษะความสามารถตนเอง
  • แบ่งเวลาสำหรับงาน การพักผ่อน และกิจกรรมกับผู้อื่นทั้งในครอบครัว-เพื่อนร่วมงาน
  • สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ มากกว่าตำหนิตัวบุคคล
  • รู้จัก เข้าใจผู้ร่วมงานระดับต่าง ๆ ยอมรับข้อจำกัดและหาจุดพัฒนาร่วมกัน
  • รู้จัก เท่าทันตนเองทั้งความคาดหวัง และอารมณ์ ความคิดต่อสิ่งต่าง ๆ และปรับทัศนคติเชิงบวก
  • ภูมิใจในผลงานทั้งของตนเองและผู้อื่น ให้ความสำคัญกับความพยายาม

\"วัยทำงาน\"ป่วยจิต ระดับความเครียดพุ่ง!!

10 ข้อแนะนำสร้างความสุขง่ายของคนวัยทำงาน 

1. ทบทวนถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ชื่นชมข้อดีของตนเองและผู้อื่น พร้อมเริ่มต้นวันใหม่ด้วยความสุข

2. มีอารมณ์ขันและส่งยิ้มให้กันอยู่เสมอ

3. กล่าวคำขอบคุณให้เป็นนิสัย และขอโทษเมื่อทำผิด

4. ตั้งเป้าหมายถึงสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข และลงมือทำให้สำเร็จ

5. หยุดคิดเล็กคิดน้อย ยอมรับข้อบกพร่องของผู้อื่น

6. จัดสรรเวลาให้สมดุล ตามหลัก 8-8-8 คือทำงาน 8 ชั่วโมง เวลาที่เหลืออีก 2 ส่วนคือการนอนหลับและให้เวลากับครอบครัว

7. ใส่ใจสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน ช่วยคลายความเครียด นอนหลับดีขึ้น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุราและสารเสพติด

8. ออฟไลน์ออกจากโลกโซเชียล แล้วหันมาพูดคุย ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับคนใกล้ชิดและคนรอบข้าง

9. ทำงานอดิเรกที่ชอบหรือทดลองทำอะไรใหม่ๆ

10. ยึดหลักความพอเพียงในการดำเนินชีวิต พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ผลวิจัยยืนยันว่าคนทำงานที่มีความสุขจะเพิ่มผลผลิตมากกว่าคนทำงานที่ไม่มีความสุขถึงร้อยละ 20 

\"วัยทำงาน\"ป่วยจิต ระดับความเครียดพุ่ง!!

อ้างอิง: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ,ศูนย์สุขภาพใจ ชั้น 18 โรงพยาบาลวิมุต  ,RAMA CHANNEL  , สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต