ทำงานหนัก-ใช้สื่อโซเชียล ปัจจัยส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต

ทำงานหนัก-ใช้สื่อโซเชียล  ปัจจัยส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต

ปัญหาสุขภาพทางจิตกำลังเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่สังคมให้ความสนใจ หลายบริษัทเริ่มหันมาใส่ใจกับสุขภาพจิตของพนักงานซึ่งอาจเกิดจากภาระงานที่หนักเกินไป รวมถึงสภาวะการทำงานที่กดดันพอดี จนทำให้เกิดความเครียดสะสม

KEY

POINTS

  • ภาวะหมดไฟในการทำงาน มักเกิดจากภาวะเครียดสะสมที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังในที่ทำงาน ขาดความสุข หมดแรงจูงใจ จนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน
  • การปรับสมดุลสุขภาพทางกาย และสร้างสมดุลทางใจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพแบบองค์รวม สร้างปัจจัยป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยง
  • โรคPTSD จะเกิดขึ้นภายหลังได้รับการกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรงซึ่งควรมีการดูแลสภาพจิตใจเด็กอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาสุขภาพทางจิตกำลังเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่สังคมให้ความสนใจ หลายบริษัทเริ่มหันมาใส่ใจกับสุขภาพจิตของพนักงานซึ่งอาจเกิดจากภาระงานที่หนักเกินไป รวมถึงสภาวะการทำงานที่กดดันพอดี จนทำให้เกิดความเครียดสะสม รวมถึงปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน จนอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ    เช่น เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เปิดรับข่าวสารด้านซ้ำ ๆ ฯลฯ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตแบบไม่รู้ตัว 

ดังนั้น เพื่อป้องกันและช่วยลดปัญหาระยะยาว แนะนำทุกคนดูแลสุขภาพเชิงเวลเนส เน้นสร้างสมดุลสุขภาพทั้งกายและใจ แบบตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่เน้นทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างอารมณ์ความรู้สึกเชิงบวก ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพแบบองค์รวม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

นวัตกรรมเชื่อมใจคนต่างวัย 'ประสบการณ์' ลดช่องว่างและทัศนคติ

'dTMS' นวัตกรรมทางเลือกใหม่  รักษาผู้ป่วย 'โรคซึมเศร้า'

พนักงานทำงานหนัก ประสบภาวะสุขภาพจิตพุ่ง

นพ.พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฎ์ แพทย์ผู้อำนวยการ W9 Wellness Centerกล่าวว่าปัจจุบันปัญหาสุขภาวะทางใจกำลังเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566สอดรับกับข้อมูลของสายด่วนสุขภาพจิต 1323 รายงานแรงงานอายุ 20-59 ปี ขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงอันดับ1และข้อมูลของJobsdb by SEEKชี้ความเครียดในที่ทำงานทำให้พนักงานลาออกสูงถึง 33%

รวมถึงข้อมูลของ สลิงชอท กรุ๊ป ระบุว่าพนักงานเจนใหม่ 73% ใช้วันลาหยุดเพื่อฟื้นฟูจิตใจ นอกจากนี้ ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและการทำงาน เพื่อการติดต่อและอัปเดตข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วจากสื่อสังคมออนไลน์ (Social media)เช่น Facebook Twitter Instagram. จนอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เช่น เปรียบเทียบไลฟ์สไตล์และชีวิตตัวเองกับคนอื่นจากสื่อโซเชียลมีเดีย จนทำให้รู้สึกไม่พอใจตัวเอง เปิดรับข่าวสารด้านลบย้ำ ๆ จนทำให้จิตตกเกิดความหดหู่ จนเป็นภาวะเครียดสะสม ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งกระทบต่อสุขภาพจิตได้โดยไม่รู้ตัว 

ด้วยเหตุนี้ปัญหาสุขภาพจิตใจนับเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่องค์กรหน่วยงาน บริษัทภาคธุรกิจได้หันมาตระหนักถึงความสำคัญสนใจและมีนโยบายในการดูแลสุขภาพจิตใจเพราะการมีสุขภาพจิตที่ดีเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตและเป็นหัวใจสำคัญต่อการการขับเคลื่อนองค์กร ทั้งยังเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทำงานหนัก-ใช้สื่อโซเชียล  ปัจจัยส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต

สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน

โดยปัจจุบันบริษัทชั้นนำหลายแห่งได้ดำเนินนโยบายสวัสดิการที่มุ่งเน้นเรื่อง Work Life Balance และส่งเสริมการดูแลสุขภาพทางด้านจิตใจ เช่น มีสวัสดิการฟิตเนสที่ มีPersonal Trainer และนักกายภาพบำบัดประจำออฟฟิศไว้ดูแล สวัสดิการรักษาด้านสุขภาพจิต

รวมถึงอนุญาตให้พาสัตว์เลี้ยงมาที่ทำงาน มีสวัสดิการลาหยุดที่เกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจ หรือ Compassionate Leaveสำหรับการยุติความสัมพันธ์รัก การสูญเสีย ซึ่งรวมไปถึงการสูญเสียสัตว์เลี้ยง เนื่องจากความโศกเศร้าจาก  การสูญเสียคน หรือสิ่งที่รักอาจนำไปสู่การกระทบกระเทือนทางอารมณ์และความรู้สึกอย่างรุนแรง

ซึ่งสุขภาพจิตที่ย่ำแย่จากการสูญเสียคนสำคัญส่งผลต่อประสิทธิภาพทำงาน เพราะฉะนั้นการได้หยุดพักเพื่อให้บุคลากรได้มีเวลาทำใจและจัดการความรู้สึก รวมถึงเป็นการแสดงออกขององค์กร ที่มีความเห็นอกเห็นใจ รู้สึกเสียใจต่อการสูญเสียดังกล่าว เป็นการสนับสนุนการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และบริการ Mental Clinic โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยรับฟังและช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิตให้กับพนักงาน เป็นต้น

“ปัญหาทางจิตใจถูกยกขึ้นมาเป็นหัวข้อพูดคุยมากขึ้นในวงกว้างโดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเครียดสะสม ที่หลายคนเป็นแต่ไม่รู้ตัวจากการทำงานบนความตึงเครียด ความกดดัน และมีความคาดหวังสูง จนส่งผลถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก เบื่อหน่ายชีวิต หดหู่เศร้า เป็นต้น"นพ.พิจักษณ์ กล่าว

ภาวะหมดไฟในการทำงาน(Burnout Syndrome)มักเกิดจากภาวะเครียดสะสมที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังในที่ทำงาน ขาดความสุข หมดแรงจูงใจ จนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน รู้สึกไม่อยากทำงานในที่สุด และเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าภาวะรู้สึกไม่พึงพอใจในตนเอง (Low self esteem)รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า สูญเสียความรู้สึกที่ให้เกียรติตัวเอง มักกล่าวโทษตัวเองเป็นต้นเหตุของปัญหา ตัวเองไม่ดีพอ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อทำงานร่วมกับคนอื่น นอกจากนี้ยังมีภาวะวิตกกังวลและอาการแพนิค อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันจิตแพทย์ถูกจองคิวเต็มข้ามปี หลายคนต้องพึ่งพายา หลายคนไม่อยากพึ่งพายาแต่พยายามหาทางเลือกในการรักษาเพื่อช่วยควบคุมอาการโดยไม่ใช้ยา

ทำงานหนัก-ใช้สื่อโซเชียล  ปัจจัยส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต

ทางเลือกในการดูแลรักษาสุขภาพจิตใจ

ปัจจุบันการแพทย์องค์รวมและการดูแลสุขภาพเชิงเวลเนส เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง เป็นอีกทางเลือกในการดูแลรักษาสุขภาพจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายทางจิต (Mindfulness exercise)ร่างกายต้องการการออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ จิตใจก็ต้องการด้วยเช่นเดียวกัน

โดยวิธีการจดจ่อไปที่อารมณ์ ความคิด และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะหนึ่งอย่างตั้งใจ ด้วยการฝึกการหายใจ เปลี่ยนมุมมองความคิดและทัศนคติเชิงบวกผ่านการทำกิจกรรมสันทนาการตามไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน เช่น การฝึกโยคะร่วมกับสัตว์เลี้ยงบำบัดPuppy Yogaคลาสโยคะที่มีน้องหมามาร่วมเล่นด้วยดนตรีบำบัด 

โดยมีนักดนตรีบำบัดมาพูดคุยและวางแผนกิจกรรมดนตรีบำบัดด้วยการฟัง หรือเล่นดนตรี ร้องเพลง แต่งเพลง หรือเล่นเครื่องประกอบจังหวะต่าง ๆเป็นต้น ศิลปะบำบัด ผ่านการสร้างงานศิลปะ วาดภาพ พับกระดาษ หรือการจัดดอกไม้รวมถึงมีโภชนบำบัด ด้วยการปรับอาหารและการใช้วิตามินเสริมเฉพาะบุคคล(Personalized Compounding Supplements)โดยอาจเลือกการรักษาเป็นแนวทางหลักหรือใช้ควบคู่กับการแพทย์ปัจจุบันอย่างบูรณาการ 

ด้วยวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน ปัญหาทางสุขภาวะทางกายและใจอาจมีสาเหตุหลายปัจจัยซ้อนทับกัน และส่งผลกระทบกัน การปรับสมดุลสุขภาพทางกาย และสร้างสมดุลทางใจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพแบบองค์รวม สร้างปัจจัยป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงของสาเหตุปัญหาสุขภาพจิตด้านต่าง ๆ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เสริมสร้างศักยภาพให้เซลล์และอวัยวะภายในร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิ ภาพมากที่สุดด้วยการหมั่นออกกำลังกาย 

และปัจจัยที่สำคัญมากคือการปรับสมดุลฮอร์โมนเนื่องจากภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลอาจเกิดได้ทุกวัยและมักส่งผลต่อความผิดปกติ อาจไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่เป็นโรคเรื้อรังที่รบกวนการดำเนินชีวิต เช่น อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น หากปล่อยไว้โดยไม่แก้ไขอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า เครียดสะสม 

นอกจากนี้ต้องดูแลตัวเองให้สมบูรณ์ด้วยโภชนาการ เพราะวิตามินและแร่ธาตุสาร อาหารบางชนิด เช่น กรดไขมันโอเมก้า3วิตามินดี วิตามินบี12และแร่ธาตุสังกะสี มีส่วนสำคัญในการผลิตสารสื่อประสาท เช่น เซโรโทนิน โดพามีน และนอร์เอพิเนฟริน ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความคิดด้วย

จิตแพทย์แนะครอบครัวเสริมภูมิ การดูแลจิตใจและความรู้สึก

พญ.ปรานี ปวีณชนา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคจิตเวชประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งผู้ป่วยจิตเวชมีทุกเพศทุกวัย อาการและพฤติกรรมของคนไข้แต่ละกลุ่มโรคมีความแตกต่างกัน คนไข้ที่ป่วยบางรายไม่รู้เลยว่าตัวเองป่วยเป็นจิตเวช

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมาก คือ “ความรัก การเอาใจใส่ ดูแลความรู้สึก หมั่นสังเกตพฤติกรรม ของคนในครอบครัว” โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง หากเกิดเหตุการณ์ร้ายหรือเหตุการณ์รุนแรงมากระทบจิตใจ และเด็กไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่หรือบำบัดสภาพจิตใจอย่างถูกต้อง จะส่งผลระยะยาวจนกลายเป็นโรคPTSD

"โรคPTSD”(Posttraumatic Stress Disorder: PTSD)จะเกิดขึ้นภายหลังได้รับการกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรงซึ่งควรมีการดูแลสภาพจิตใจเด็กอย่างต่อเนื่อง เพราะอาการทางจิตเวชอาจไม่ได้เกิดขึ้นทันที ควรติดตามอาการเป็นระยะ ๆ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และหลังจากนั้น แม้จะผ่านเหตุการณ์นั้น ๆ ไปแล้ว 5-10 ปี เด็กก็อาจจะมีอาการPTSDเกิดขึ้นในภายหลังได้

พญ.ปรานี ปวีณชนา ให้ข้อมูลต่อว่าเมื่อเด็กหรือคนในครอบครัวได้รับการกระทบกระเทือนด้านจิตใจอย่างรุนแรง พ่อแม่และคนในครอบครัวมีส่วนสำคัญมากในการดูแลรักษาสภาพจิตใจของผู้ประสบเหตุให้กลับมาสู่ภาวะปกติได้ โดยมีวิธีที่ทุกคนสามารถช่วยเหลือดูแลสภาพจิตใจหาวิธีสร้างความมั่นใจให้กับลูก สนับสนุนให้ลูกได้ลองตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูก

ทำงานหนัก-ใช้สื่อโซเชียล  ปัจจัยส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตำหนิลูก หากลูกมีพฤติกรรมบางอย่างที่บ่งบอกถึงพัฒนาการที่ถดถอย เช่น ฝันร้าย หวาดระแวง พูดน้อยลง เก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร เพราะการฟื้นฟูสภาพจิตใจ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา บางรายอาจหายเป็นปกติ แต่บางรายฝังใจ มีอาการต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ หรือตลอดชีวิต

แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กที่มีอาการของโรคPTSDให้ดีขึ้นได้ โดยแพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการบำบัดความคิดและพฤติกรรม CBT หรือCognitive Behavioral Therapyจะช่วยให้เด็กเข้าใจความคิดและความรู้สึกของตัวเองและปรับทัศนคติที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น