ความท้าทาย AI ทางการแพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ที่ไม่ขัดสิทธิมนุษยชน
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุว่ามูลค่าอุตสาหกรรมการแพทย์ไทย ประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ทั่วโลก
KEY
POINTS
- การนำ AI มาใช้ในองค์กรของไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก คาดว่ามูลค่าตลาด AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยจะขึ้นไปแตะระดับ 353 ล้านดอลลาร์
- ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในการดูแลสุขภาพจะมีประโยชน์ทั้งกับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย แต่ทุกกระบวนการต้องดำเนินอยู่ภายใต้หลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล
- AI มาประยุกต์ใช้กับการแพทย์เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยเหลือในด้านการอ่านผลลัพธ์ และคัดกรองผู้ป่วย
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุว่ามูลค่าอุตสาหกรรมการแพทย์ไทย ประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ทั่วโลก ที่คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าปีละ 30-40% แตะระดับ 1.78 แสนล้านดอลลาร์ ในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า คาดว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ตลาด AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเติบโตของการนำ AI มาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยรวม
ขณะนี้การนำ AI มาใช้ในองค์กรของไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก คาดว่ามูลค่าตลาด AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยจะขึ้นไปแตะระดับ 353 ล้านดอลลาร์ และจะช่วยสร้างมูลค่าลงทุนสะสมในรอบ 10 ปีจากนี้ (2567-2577) ถึง 1,617 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท
ฉะนั้น การยกระดับและสนับสนุนการใช้ AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยจะเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมการแพทย์ให้ทัดเทียมนานาชาติ พร้อมทั้งเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขในระยะยาว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"AI ทางการแพทย์" รพ.บำรุงราษฎร์ อ่านฟิล์ม วิเคราะห์เลือด ตรวจติ่งลำไส้ใหญ่
AI กับหลักสิทธิมนุษยชน
จากข้อมูลแบบประเมินการนำ AI เข้าสู่ระบบสุขภาพไทย สำรวจความคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการใช้ AI ซึ่งเป็นโครงการวิจัยย่อย ภายใต้โครงการพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าของปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ พบว่าบุคลากรทางการแพทย์เห็นประโยชน์และยอมรับการนำเอา AI มาใช้ในการวินิจฉันและรักษาโรค โดยผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 83 ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบัน มีแพทย์ร้อยละ 40 คุ้นเคยและสามารถใช้งานเทคโนโลยี AI ได้เป็นอย่างดี และมีการนำ AI เข้ามาใช้ในการทำงานจริงสูงถึงร้อยละ 37
"นพ.สันติ กุลพัชรพงศ์" อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ รพ.เมดพาร์ค กล่าวว่า แม้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ AI อาจจะยังไม่สามารถทดแทนการทำงานของแพทย์ได้ 100 % แต่มีการนำเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในการสนับสนุนการทำงานของแพทย์เฉพาะทางฯ ตั้งแต่ขั้นตอนตรวจคัดกรอง วิเคราะห์ วินิจฉัยโรค และวางแผนการรักษา ความละเอียดและแม่นยำของ AI ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การรักษาโรคที่มีความยากซับซ้อนมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยมุ่งหวังที่จะให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และมีสุขภาพดีได้นานที่สุด
แม้ว่าการนำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในการดูแลสุขภาพจะมีประโยชน์อย่างมากทั้งกับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย แต่ทุกกระบวนการต้องดำเนินอยู่ภายใต้หลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล โดยเน้นย้ำความสำคัญในการเคารพสิทธิในการปกปิดข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้เข้ารับการรักษา โดยต้องมีการขอความยินยอมในการเข้าถึงข้อมูลการรักษาของผู้ใช้บริการทุกครั้ง เพื่อให้การบริการด้านสุขภาพในยุคปัญญาประดิษฐ์ ตอบโจทย์ทั้งการมอบคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งอยู่ภายใต้กรอบของหลักสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง
AI กับภารกิจผู้ช่วยแพทย์
"นพ.สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า นอกจากการใช้เครื่องมือที่มาพร้อมกับ AI แล้ว โรงพยาบาลวิมุต ยังมีการร่วมมือกับ Agnos Health เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ และนำเสนอการบริการด้านสุขภาพระดับโลกที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่าง‘AN AN Bot’(อันอัน บอท) เป็น AI Medical Chatbot ช่วยให้คำปรึกษา ตอบคำถามเบื้องต้นให้ผู้ป่วย อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ได้บริการผู้ป่วยได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าจะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในต้นปี 2025
"การนำ AI มาใช้สามารถให้คำแนะนำทางการแพทย์อื่น ๆ บนพื้นฐานวิชาการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับทางระบบประสาท และสามารถแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ กรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหามาปรึกษา เช่น อาการกำเริบ ผลข้างเคียงจากการรักษา เป็นต้น ที่สำคัญคือ ต้องมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และเป็นไปตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าว
นอกจากนี้มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้กับการแพทย์เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยเหลือในด้านการอ่านผลลัพธ์ และคัดกรองผู้ป่วย ไปจนถึงใช้เครื่องมือทางการแพทย์ทันสมัยที่เป็นเทคโนโลยีชั้นนำระดับประเทศ อย่างเช่น เครื่องตรวจหามะเร็งเต้านม (Digital Mammograms) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scans และ MRI เพื่อมุ่งเน้นความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ป่วย
AI เครื่องมือช่วยให้มีความแม่นยำ
"ดร.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่ามีการนำ AI ,มาใช้ทางการแพทย์ โดยเฉพาะเรื่องของ Precision Medicine ในการนำข้อมูลมาประมวลผล ปัจจุบันมีการนำ AI ทางการแพทย์ ในแผนกเอกซเรย์ แมมโม
แกรมของผู้หญิง มาใช้ 100 % เกี่ยวกับการอ่านฟิล์มเอกซเรย์ แพทย์อ่านพร้อมกับ AI ด้วย และวิเคราะห์ร่วมกันว่าเป็นความผิดปกติที่แท้จริงหรือไม่ เพื่อที่จะได้ค้นหา และวางแผนแนวทางการรักษาต่อ โดยข้อมูลที่ AI รายงานกับความเห็นแพทย์ต้องตรงกัน ล่าสุดปี 2023 AI มีการอ่านฟิล์มเอกซเรย์กว่า 1 แสนเคส และแมมโมแกรม เกือบ 20,000 เคส
"อนาคตอันใกล้จะนำ AI เข้ามาใช้ร่วมกับCT Scan ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยโรคที่มีความสำคัญมาก เช่น เส้นเลือดโป่งพองในสมอง ก้อนเลือดอุดตันที่ปอด เส้นเลือดตีบในสมอง และโรคประหลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งอาการเหล่านี้ นาทีที่อ่าน และพบเจอสำคัญต่อชีวิตของคนไข้ หากเจอความผิดปกติ แพทย์จะสามารถช่วยคนไข้ได้ทันท่วงที เหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่งผลโดยตรงกับคุณภาพการรักษา และความปลอดภัยของคนไข้"ดร.อาทิรัตน์ กล่าว
ส่วนในอนาคต AI จะมาแทนแพทย์หรือไม่ ดร.อาทิรัตน์ กล่าวว่า AI ต้องใช้ Data ในการประมวลผล ไม่ได้มาแทนแพทย์ แต่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้มีความแม่นยำ รวดเร็วขึ้นในการดูแลคนไข้ และจะมาช่วยยกระดับขีดความสามารถของแพทย์ ซึ่งอนาคตอันใกล้การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ จะเป็นปัญหาต่อวงการสาธารณสุข การมี Al จะมาช่วยให้การทำงานรวดเร็วขึ้น ลด overload ของบุคลากร
AI การแพทย์แม่นยำรักษาสุขภาพ
นอกจากนี้มีการ “การแพทย์แม่นยำ” (Precision Medicine) ยกระดับขีดความสามารถการแพทย์ ดูแลรักษาสุขภาพด้วยการแพทย์แบบจีโนมิกส์ ใช้เทคโนโลยีตรวจทางพันธุศาสตร์ขั้นสูง จากสหรัฐ ตามมาตรฐานระดับสากล ใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมมาตรวจคัดกรองความเสี่ยง ตรวจวินิจฉัยโรค วางแผนการรักษา เลือกใช้ยาที่ปลอดภัย ครอบคลุมการดูแลสุขภาพในทุกด้าน
“ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์" ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)” กล่าวว่าโรงพยาบาลในเครือ BDMS ทั้ง 59 เน้นการใช้นวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น โดยมีนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานจริงแล้ว เช่น Perceptra ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อ่านผลเอกซเรย์สำหรับผู้ช่วยรังสีแพทย์, CARIVA ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ วิเคราะห์โรคเฉพาะบุคคล ซึ่งการนำนวัตกรรม AI เข้ามาใช้งานจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้กับแพทย์ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
“AI สามารถพัฒนาต่อยอดกับกระบวนการตรวจสุขภาพและปรับใช้กับแนวทางค้นหาเชิงป้องกันกับคนสุขภาพดี เป็นอีกหนึ่งในโครงการ Sandbox ของ BDMS ที่มุ่งยกระดับมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ด้วยการพัฒนานวัตกรรม 5 ด้าน ได้แก่ 1.ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยการคัดกรองและวินิจฉัยโรค 2.การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการและเพิ่มความแม่นยำ 3.เทคโนโลยีเพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพ 4.เทคโนโลยีเพื่อการติดตามผลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และ 5.เทคโนโลยีเพื่อการบริการทางการแพทย์อย่างยั่งยืน”ดร. พัชรินทร์ กล่าว