"ฮีสทีเรีย" ไม่ใช่โรคขาดผู้ชายไม่ได้ แต่เป็น "ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ"

"ฮีสทีเรีย" ไม่ใช่โรคขาดผู้ชายไม่ได้ แต่เป็น "ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ"

นักจิตวิทยา ชี้ "แอมเบอร์ เฮิร์ด" มีอาการทางจิตจากภาวะ "ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง" ประเภท "ฮีสทีเรีย" และมีแนวโน้มสูงว่าจะใช้ความรุนแรง ชวนรู้จักอาการของฮีสทีเรียที่คนไทยหลายคนอาจเข้าใจผิด!

จากกรณี "จอห์นนี เดปป์" นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,715 ล้านบาท) ต่อ "แอมเบอร์ เฮิร์ด" อดีตภรรยาว่าเธอมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ และมีแนวโน้มที่จะแสดงอารมณ์รุนแรงในครอบครัว

โดยทีมทนายฝ่ายเดปป์ ได้จ้าง "ดร.แชนนอน เคอร์รีย์" นักจิตวิทยาคลินิกและนิติเวช มาวิเคราะห์สภาพจิตใจของ "แอมเบอร์ เฮิร์ด" โดยได้ตรวจสอบประวัติสุขภาพจิตและประเมินบุคลิกภาพของเฮิร์ดเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ในเวลากว่า 2 วัน เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2564 และขึ้นให้การในศาล นักจิตวิทยาคนนี้ชี้ว่า แอมเบอร์ เฮิร์ด มีอาการทางจิต และป่วยด้วยโรคความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง ประเภท ฮีสทริโอนิก (Histrionic Personality Disorder) หรือ ฮีสทีเรีย ทำให้แอมเบอร์มีแนวโน้มสูงที่จะใช้ความรุนแรงกับคู่รักหรือคนรอบข้าง

จากกรณีดังกล่าว ทำให้แฟนคลับภาพยนตร์ของทั้งจอห์นนีและแอมเบอร์ รวมถึงผู้คนทั่วโลก ต่างติดตามการสู้คดีนี้ในชั้นศาลอย่างล้นหลาม (มีการไลฟ์สดการพิจารณาคดีในศาลผ่านโซเชียลมีเดีย) โดยหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือ อาการป่วยด้วยโรคฮีสทีเรียของฝ่ายหญิง ที่คนไทยหลายคนอาจจะยังเข้าใจผิด คิดว่าเป็น "โรคขาดผู้ชายไม่ได้หรือการเสพติดเซ็กส์" แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น!

\"ฮีสทีเรีย\" ไม่ใช่โรคขาดผู้ชายไม่ได้ แต่เป็น \"ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ\"

แล้วภาวะ "ความผิดปกติทางด้านบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง" นั้น เกิดจากสาเหตุใด? มีอาการอย่างไร? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปเจาะลึกและหาคำตอบเกี่ยวกับโรคนี้ให้มากขึ้น 

 

1. โรคบุคลิกภาพ "ฮิสทีเรีย" คืออะไร?

มีข้อมูลจากบทความวิชาการเว็บไซต์ Pobpad ระบุว่า โรคบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรีย (Histrionic Personality Disorder) จัดเป็นหนึ่งในความผิดปกติทางจิต ในกลุ่มความผิดปกติทางบุคลิกภาพก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder) จัดอยู่ในกลุ่มบี (Cluster B : Dramatic Personality Disorder) คือมีอารมณ์รุนแรง แปรปรวนบ่อย ชอบแสดงออกเกินจริง มักแสดงพฤติกรรมเพื่อดึงดูดความสนใจจากคนรอบข้าง ทำให้คนมักเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยโรคนี้มีความต้องการทางเพศสูง 

อีกทั้ง มีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า “ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง” (Borderline Personality Disorder) ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการของความผิดปกติทางบุคลิกภาพ โดยจัดอยู่ในประเภท Cluster B Dramatic-Emotional คือ มีการแสดงออกทางอารมณ์ที่ผิดปกติ

โดยผู้ป่วยโรคนี้มักไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงได้ ขาดความแน่นอน ไม่สามารถสร้างบุคลิกลักษณะที่เหมาะสมให้กับตัวเองได้ จึงมักแสดงอารมณ์และพฤติกรรมผิดไปจากที่ควรเป็น ทำให้ผู้อื่นคาดเดาได้ยาก ส่งผลต่อการพัฒนาความสัมพันธ์กับบุคคลรอบตัวเป็นอย่างมาก 

2. สาเหตุของบุคลิกภาพฮิสทีเรีย เกิดจากอะไร?

สำหรับสาเหตุของความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง ประเภทฮีสทีเรียนั้น ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัด แต่มีการให้น้ำหนักกับปัจจัยสำคัญ 2 ข้อ คือ

  • ปัจจัยทางชีวภาพ : มาจากพันธุกรรมที่ทำให้คนที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นฮีสทีเรีย มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่า หรือความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ขาดความสมดุล จึงทำให้เกิดความบกพร่องในการควบคุมอารมณ์
  • ปัจจัยสภาพแวดล้อม : วิธีการเลี้ยงดูถือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก การเติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหา ทั้งการหย่าร้าง การมีปากเสียงทะเลาะกัน การถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับความรักความเอาใจใส่ ตลอดจนถูกทำร้ายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ มีความเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่งได้มากกว่า

3. เช็กตัวเองและคนรอบข้าง มีอาการเหล่านี้หรือไม่?

อาการที่บ่งชี้ถึงภาวะ "ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง" ซึ่งอยู่ในข่ายของอาการป่วยทางจิต สังเกตได้จากบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ควบคุมได้ยากหรืออยู่เหนือการควบคุม โดยผู้ประสบปัญหามักไม่รู้ตัว โดยมีอาการและพฤติกรรมดังนี้

  • อารมณ์แปรปรวนไม่คงที่ ทำให้ความรู้สึกที่มีต่อตัวเองและผู้อื่นกลับไปกลับมาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสัมพันธ์กับคนที่รักและคนรอบตัวให้มีความยั่งยืน
  • กลัวการถูกทอดทิ้ง จึงทำให้มีความรู้สึกอ้างว้างและโดดเดี่ยวมากเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็รู้สึกขาดความไว้วางใจต่อผู้อื่น
  • มองเห็นตัวเองเป็นส่วนเกิน ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วไม่มีอะไรเป็นอย่างที่ตัวเองคิด
  • อารมณ์รุนแรงและไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำให้หุนหันพลันแล่น และขาดการยับยั้งชั่งใจ ในการปฏิบัติตัวต่อผู้อื่น
  • เมื่อรู้สึกโกรธจะใช้คำพูดที่รุนแรงและหยาบคาย หรืออาจใช้กำลังทำร้ายทำร้ายผู้อื่นเป็นประจำ
  • หลุดจากโลกความเป็นจริง มักยึดถือเอาตามความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเป็นหลัก จึงทำให้ขาดความรอบคอบและความระมัดระวังในการแสดงออก มีพฤติกรรมตรงข้ามกับบรรทัดฐานทางสังคม
  • กรณีที่รุนแรงมากที่สุดคือ ผู้ป่วยมักหาโอกาสทำร้ายตัวเองหรือคิดสั้น ฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นได้ทั้งเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนรัก หรือเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวว่างเปล่า

อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติดังกล่าวอาจแสดงออกมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หลายคนไม่รู้ตัวเลยแม้แต่น้อยว่าตัวเองมีพฤติกรรมความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง จนกว่าจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตอย่างหนักหน่วงและมีความรุนแรง ไปจนถึงขั้นมีรู้สึกว่างเปล่าจนอยากฆ่าตัวตาย 

เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบากในการชี้ชัดว่าผู้ใดมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง จึงต้องอาศัยจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยอาการเสมอ 

4. คำแนะนำและการดูแลผู้ป่วยบุคลิกภาพก้ำกึ่ง

บุคคลใกล้ชิดกับผู้ป่วยมีบทบาทสำคัญในการแจ้งเตือนความผิดปกติ รวมถึงช่วยป้องกันและดูแลให้ผู้ประสบปัญหาได้รับการฟื้นฟูได้ดียิ่งขึ้น โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้

  • การมอบความรักและความเข้าใจ แสดงออกให้รับรู้ว่าพร้อมจะอยู่เคียงข้างและไม่ทอดทิ้ง จะช่วยสร้างกำลังใจในการฟื้นฟูได้ดีขึ้น
  • มุ่งเน้นไปที่วิธีการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ประกอบกับการเรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ฝึกยอมรับกับการไม่สมหวังในบางเรื่อง
  • ให้ผู้ป่วยฝึกฝนการสำรวจตัวเองและการเอาใจเขามาใส่ใจเรา จะช่วยให้เกิดการทบทวนและยั้งคิดมากขึ้น
  • ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ผู้ป่วยมีสมาธิและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ จนบรรลุเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกที่มั่นคงให้เพิ่มขึ้น

-------------------------------------------
อ้างอิง : กรมสุขภาพจิตDramaAddictpobpadtnnthailand