ห้ามจับลูก"ปลาทู" ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรทะเลที่ซับซ้อนกว่าที่คิด
การจับสัตว์น้ำวัยอ่อน"หรือ"ลูกปลาทู"มาขายเป็นการชิงสุกก่อนห่ามที่ต้องทำความเข้าใจ เรื่องนี้คอลัมนิสต์จุดประกาย วิเคราะห์ให้เห็นภาพการขาดทุนทางทรัพยากรและการเสียโอกาสเศรษฐกิจ
เมื่อสัปดาห์ก่อน ชาวประมงพื้นบ้านล่องเรือข้ามทะเลเข้าแม่น้ำเจ้าพระยามา เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้ออกกฎห้ามอวนลากและเครื่องมือจับปลาขนาดเล็ก
เขาตั้งแคมเปญเรียกความสนใจว่า ทวงคืนน้ำพริกปลาทู หยุดจับ หยุดซื้อ หยุดขาย สัตว์น้ำวัยก่อน ได้รับความสนใจจากสื่อสำนักใหญ่หลายแห่ง แต่สำหรับภาพรวมของทั้งสังคมต้องยอมรับว่า กระแสเรื่องนี้ยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก
ประเด็นสิ่งแวดล้อมถ้าไม่ระดับคอขาดบาดตายจริง มักจะเป็นเรื่องรองเสมอ !!
ปัญหาลูกปลาทู
กรณีของลูกปลาทูนั้นมันใกล้ตัว เพราะว่ามีการจับลูกปลาทูตัวเล็กๆ มาขายในท้องตลาดโจ๋งครึ่ม เจ้าสินค้าชนิดนี้ราคา ก.ก.ละ 100-200 บาท ประกอบขึ้นจากลูกปลาทูหลายๆ ร้อยตัวเพื่อให้ได้สักหนึ่งกิโลกรัม
แต่หากปล่อยให้โตตามธรรมชาติ แค่ 3-4 ตัวก็กิโล มองในแง่ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจของหน่วยทรัพยากรชัดเจนว่า การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนมาขายเป็นการชิงสุกก่อนห่าม ไม่ได้ราคาเต็มที่ ขาดทุนทรัพยากรและเสียโอกาสเศรษฐกิจ
ชาวประมงพื้นบ้านเขาร้องเรียนว่า ระเบียบของรัฐโดยกรมประมงอนุญาตให้อวนลากตาถี่จับปลาแบบเหมาทะเล กวาดขึ้นมาหมดทั้งปลาเล็กปลาใหญ่ เจ้าปลาเล็กๆ ที่เขาลากขึ้นมานั้นมีสัดส่วนราวๆ 60% ของการลากขึ้นมาแต่ละรอบ โดยที่มีปลาตัวใหญ่นำไปบริโภคขายตามตลาดจริงมีราว 33-40%
ปลาเล็กๆ เหล่านี้ถูกเรียกว่าปลาเป็ด นัยของศัพท์ของปลาเป็ดก็คือเอาไปขายคนไม่ได้ ต้องเอาไปเลี้ยงเป็ด หรือเข้าโรงงานปลาป่น
ศัพท์คำนี้ใช้มาตั้งแต่สมัยก่อนที่บ้านเมืองยังอุดมสมบูรณ์ ในยุคที่ปลาเล็กปลาน้อยแทบไม่มีค่าทางเศรษฐกิจ เอาไปเลี้ยงเป็ดหรือหมักเป็นน้ำปลาเท่านั้น
แต่มาสมัยนี้ ปลาเล็กปลาน้อยมีค่าเป็นตัวเลข GDP เพราะมันออกจากโรงงานปลาป่นก็ขายเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์
ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่า อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องคือ สินค้าส่งออกทำรายได้ให้ประเทศปีละหลายแสนล้านบาท
นี่ล่ะคือปัญหาของขบวนการรณรงค์ไม่เอาอวนลากสัตว์น้ำเล็ก เพราะคู่กรณีของชาวประมงพื้นบ้านไม่ใช่มีแค่เรือประมงพาณิชย์ โรงปลาป่น แม่ค้าลูกปลาทู หากเป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ส่งออกอาหารสัตว์-ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์
การเมืองเรื่องสัตว์น้ำวัยอ่อน
การให้จับสัตว์น้ำวัยอ่อนขนาดเล็กรวมถึงลูกปลาทู จึงเป็นเรื่องเศรษฐกิจการเมืองที่มีวงเงินเกี่ยวข้องมากมาย ปลาเล็กปลาน้อยก็เป็นห่วงโซ่ของทุนใหญ่เศรษฐกิจใหญ่แสนล้าน เป็นผลประโยชน์กองใหญ่
การออกเรือแต่ละครั้ง ใช้เครื่องมือที่กวาดขึ้นมาคราเดียวได้ทั้งเล็กใหญ่และเอามาขายได้หมดเป็นผลประโยชน์ของเรือประมงพาณิชย์ โรงงานปลาป่นก็ได้ประโยชน์จากปลาเล็กปลาน้อยปลาเป็ด
ประเทศไทยมีโรงงานปลาป่นกว่า 60 โรง แต่ละโรงต้องใช้วัตถุดิบปลาเป็ดตัวเล็กตัวน้อยร่วมล้านกิโลกรัม ผลผลิตเหล่านั้นส่งต่อให้บรรษัทส่งออกอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นผู้ได้ประโยชน์ร่วม
จึงไม่แปลกที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมประมงมีท่าทีไม่เข้าข้างข้อเรียกร้องของชาวประมงพื้นบ้าน เหล่าคนเล็กคนน้อยที่ใช้เรือขนาดเล็กหากินชายฝั่ง
กรมประมงมีถ้อยแถลงพยายามอธิบายว่าที่ผ่านมาก็มีมาตรการปกป้องสัตว์น้ำวัยอ่อนมีการปิดอ่าวมีมาตรการห้ามอวนขนาดตาข่ายเล็ก ฯลฯ อยู่แล้ว
แต่สำหรับการที่เรือประมงพาณิชย์จับสัตว์น้ำตัวเล็กติดขึ้นมา มันยากที่จะห้ามไม่ให้ติดมาเลย ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาจะควบคุมอย่างไร เช่นกำหนดร้อยละสัตว์น้ำขนาดเล็กที่จับได้ หรือ กำหนดขนาดขั้นต่ำของสัตว์น้ำขนาดเล็ก แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ
แปลว่า ยังขอซื้อเวลาเพื่อพิจารณาข้อขัดแย้งเรื่องนี้ต่อ !
ปัญหาซ้ำซาก"การจัดสรรทรัพยากร"
ปัญหาเรื่องเรืออวนจับสัตว์น้ำตัวเล็กก่อนวัยเติบโต กระทบกับประมงพื้นบ้านชายฝั่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทะเลไทย มานานแล้ว เพราะต่างก็หากินในทะเลเหมือนกัน มียุคหนึ่งที่เรือใหญ่เข้ามาหากินน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง เรือเล็กพื้นบ้านก็โวยสิครับ เพราะมันกวาดสัตว์น้ำไปหมด ไม่เหลือให้รายเล็กเลย ก็ต้องมีการจัดระเบียบพื้นที่หากิน เรือใหญ่อย่าเข้าใกล้มาก เปิดให้คนอื่นเขาด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม พลานุภาพของเครื่องมือจับปลาขนาดใหญ่กว่า มันก็กระทบอยู่ดี อย่างเช่นกรณีอวนตาถี่กวาดเอาลูกปลาลูกปูเล็กๆ ไปหมด ย่อมทำให้ทะเลอุดมสมบูรณ์น้อยลง
แต่ปัจจุบันกฎระเบียบยังเอื้อให้เรือพาณิชย์ขาใหญ่ทำเช่นนั้นอยู่ ปัญหาขาใหญ่ฮุบหมด หรือกฎระเบียบเอื้อขาใหญ่นี่พบเห็นบ่อยมากในประเทศเรา มันก็เหมือนกับปัญหาความขัดแย้งเรื่องการเข้าถึงสิทธิ์ ข้ออนุญาตและการใช้ทรัพยากรอื่นๆ ทั้งทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรเหมืองแร่ ทรัพยากรที่ดินที่ทุนใหญ่เข้าถึงได้
แต่ชาวบ้านเข้าไม่ได้ หรือการผลิตเหล้าเบียร์ที่ห้ามชาวบ้านรายย่อยด้วยเงื่อนไขจิปาถะ การทำนาเกลือ แต่ชาวบ้านไม่สามารถขายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้ต้องทำเป็นโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเรื่องเดียวกัน
นั่นก็คือ การจัดสรรและการเข้าถึงที่รายใหญ่มักจะได้รับความสะดวกมากกว่า !!
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาหลักการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ต้องไม่อนุญาตให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบมากไป เช่นให้ฝ่ายหนึ่งใช้เครื่องมือกวาดเอาสัตว์น้ำไปกับตัวฝ่ายเดียว
ยังมีหลักสำคัญอีกหลักคือหลักความยั่งยืนและความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม ต่อให้ไม่มีประมงพื้นบ้านรายย่อยมาทักท้วงรัฐก็ต้องระวังไม่ให้เกิดการทำลายล้างทรัพยากรจนขาดตอนจากความยั่งยืน
ผลประโยชน์ที่ไม่เคยถกเถียงจริงจัง
การบริหารจัดการทรัพยากรในทะเลต้องคำนึงถึงคนรุ่นต่อไปด้วย กรมประมงต้องไม่ปล่อยให้การจับสัตว์น้ำมีผลต่อห่วงโซ่การเติบโตและความอุดมสมบูรณ์ หลักการนี้ค้ำคอกรมประมงอยู่
แต่ก็นั่นแหละ ในความเป็นจริงมันมีตัวละครและผลประโยชน์ต่อเนื่องมากมาย ไม่ใช่แค่เรือประมงพาณิชย์ ยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมาอีก ท่าทีของกรมประมงจึงออกมาแบบอึกๆ อักๆ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะหักหาญปล่อยให้มีการจับลูกปลาทูตัวเล็กๆไปวางขายโจ๋งครึ่มอย่างที่เป็นมาก็ไม่ได้
ครั้นจะห้ามขาดเลยก็มีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง+ทุนรายใหญ่ ผลที่ออกมาก็คือคณะกรรมการศึกษาที่ใช้เวลายาวนานผิดปกติ 2 ปีไม่แล้วเสร็จ-ออกแนวซื้อเวลา
ปัญหานี้เป็นเรื่องเศรษฐกิจการเมือง ดังนั้นมันจึงเป็นการเมืองแน่นอน ระบบราชการมักจะ(นก)รู้ว่าเรื่องไหนที่อยู่เหนืออำนาจตัว
เมื่อหลายปีก่อนสมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และนายชวน หลีกภัย เป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์เคยมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องกำหนดขนาดช่องตาอวนที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำการประมง ป้องกันการจับปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่ยังไม่เติบโตถูกจับขึ้นมา เพื่อป้องกันการทำลายพันธุ์ปลาจึงกำหนดไม่ให้ใช้อวนขนาดตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร
ซึ่งต่อมาประกาศที่ว่าได้ถูกยกเลิกและแก้ไขใหม่ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ให้สามารถใช้อวนจับสัตว์น้ำขนาดเล็กได้เช่นเดิม
ทรัพยากรในท้องทะเลไทยนั้นถูกยื้อแย่งช่วงชิงกันมาโดยตลอด ในแต่ละยุคสมัยและดูเหมือนว่า ทุนใหญ่/ผู้มีอำนาจกว่า มักจะได้ประโยชน์มากกว่าเสมอๆ
กรณีลูกปลาทูและสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ถูกจับขึ้นมาปีละหลายๆ ล้านกิโลกรัม เป็นผลประโยชน์มหึมาที่ไม่ใคร่มีผู้หยิบยกมาถกแถลง และไม่ค่อยมีข้อมูลข่าวสารออกมาสู่สังคมนัก
ทะเลเป็นของทุกคน ผลประโยชน์จากทะเลก็ควรกระจายไปยังทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม สังคมน่าจะให้ความสนใจปัญหานี้มากขึ้น.