นาทีทองของ"น่าน" เมืองที่ใครๆ ก็อยากไปเที่ยว

นาทีทองของ"น่าน" เมืองที่ใครๆ ก็อยากไปเที่ยว

อ่านบทวิเคราะห์คอลัมนิสต์จุดประกาย ... "น่าน" เมืองปิดที่มีเสน่ห์ ยังรักษาวัฒนธรรมแบบน่านๆ ได้ไม่แพ้หลวงพระบาง แต่ก็น่าห่วง หากเมืองน่านโตเร็วเกินไปเหมือนหลายๆ เมืองที่รีบเร่งพัฒนา อาจมีปัญหาในอนาคต...

 การท่องเที่ยวของเมืองน่านกำลังโตอย่างน่าจับตา  ช่วงปลายโควิดระยะสองเมื่อปลายปีก่อน น่านก็เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของภาคเหนือ ขนาดห้องพักตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อย่าง สะปัน /ปัว เต็ม อัพราคาห้องเป็นสองสามพันบาท

ปัจจุบันมีเที่ยวบินขึ้น-ลง รวมกัน 8 เที่ยว ถือว่าสูงมากสำหรับจังหวัดเล็กๆ ที่ไม่ใช่หัวเมือง ส่วนทางถนนมีการขยายผิวทางเป็นสี่เลน การเดินทางไปถึงสะดวกขึ้นเยอะ วันหยุดยาวต้องวางแผนดีๆ มิฉะนั้นจะไม่มีห้องแบบที่ต้องการ

แม่ฮ่องสอนที่อยู่ตะวันตกทางซ้ายสุด ไปยากและไปต่อที่อื่นไม่ได้ เพราะต่อให้มีด่านข้ามไป สปป.ลาว ถนนหนทางฝั่งโน้นก็ไม่ดี แต่ความเป็นเมืองปิด เดินทางไปมาไม่สะดวก มันก็เป็นผลดี

เพราะทำให้เมืองน่านยังรักษาความน่ารักวัฒนธรรมวัดวาธรรมชาติเอาไว้ได้ในระดับดีมาก เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ของประเทศไทย ต้นทุนที่ว่าสะสมไว้รอจังหวะระเบิดออก ด้วยปัจจัยหลายๆ ประการพร้อมกัน

หนึ่ง-แหล่งท่องเที่ยวเมืองอื่นๆ ช้ำแล้ว ภาคเหนือเคยมีเมืองปายที่ดึงดูด ผ่านไปยี่สิบปีปายก็สูญเสน่ห์ลงไป น่านจึงเป็นแหล่งปลายทางที่สดใหม่กว่า

นาทีทองของ\"น่าน\" เมืองที่ใครๆ ก็อยากไปเที่ยว

แต่ก่อนน่านเป็นเมืองปิด  คืออยู่ตะวันออกสุดไกลจากจังหวัดอื่นแบบเดียวกับ

สอง-การเข้าถึงง่ายสะดวกขึ้น

สาม-แรงบวกจากหลวงพระบางและรถไฟลาว-จีน เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันมาร่วมๆ  7-8 ปีแล้วว่าจะมีการสร้างทางรถไฟจากจีนผ่านหลวงพระบางลงไป ขณะที่หลวงพระบางเมืองมรดกโลกเองก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีแรงดึงดูดของตัวเอง

เงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจเชื่อมเมืองน่าน-หลวงพระบาง

เมื่อปี 2557  สำนักงานพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ของไทยมองเห็นศักยภาพที่ว่า จึงเสนอให้เงินกู้ก่อสร้างถนนสาย 4 B เชื่อมระหว่างเมืองหงสากับเมืองเชียงแมน ระยะทางก่อสร้างแค่ 114 ก.ม.สามารถเดินทางจากด่านห้วยโก๋นไปถึงฝั่งตรงข้ามนครหลวงพระบางได้ภายใน 3 ชั่วโมง การก่อสร้างที่ว่าเสร็จเมื่อปลายปี 2562

สพพ.ขนสื่อมวลชนไปร่วมเปิดเส้นทางเอิกเกริก เปิดแคมเปญถนนเชื่อมเมืองแฝด น่าน-หลวงพระบาง หวังจะบูมเมืองน่านและเส้นทางเศรษฐกิจสายนี้

น่าเสียดายที่มาเจอโรคระบาดใหญ่สกัดดาวรุ่ง โควิดทำให้ไทย-ลาวปิดประเทศโดยปริยาย จริงอยู่ที่ด่านห้วยโก๋นไม่ได้ปิดตาย แต่เต็มไปด้วยเงื่อนไข กักตัวฝั่งโน้นมากักตัวฝั่งนี้อีก ถนนเส้นใหม่จึงยังไม่ถูกใช้งานจริงจังตามวัตถุประสงค์เงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจเชื่อมเมืองน่าน-หลวงพระบาง

จนโควิดซา เมืองน่านตอนนี้กำลังบูมเต็มที่ ด่านก็เปิดข้ามไปมาแบบไม่มีเงื่อนไขแล้ว แต่ทว่าในทางปฏิบัติยังมีนักท่องเที่ยวเข้าออกน้อยกว่าที่คาด เพราะรถร่วมบัส บขส.ยังไม่เปิดวิ่ง ตามข่าวเขาบอกว่าเป็นเพราะอยู่ในฤดูฝนคนเดินทางน้อย ลาวเองประสบปัญหาน้ำมันแพง บริษัทคู่สัญญาฝั่งโน้นยังไม่พร้อม

แต่ก็ไม่นานหรอก ถนนเส้นนี้จะเปลี่ยนอะไรใหม่ๆ ได้แน่

นาทีทองของ\"น่าน\" เมืองที่ใครๆ ก็อยากไปเที่ยว

ถนนเชื่อมน่านและหลวงพระบาง

น่าน กับ หลวงพระบาง นั้นเป็นคู่ที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน ดั่งที่ สพพ.พยายามสร้างวาทกรรมถนนเชื่อมเมืองแฝดนั่นล่ะ

ในบรรดาเมืองทั้งหลายที่เขาจับคู่เป็น twin city หรือ sister city ทั้งหลายน่ะ บางเมืองแฝดไม่จริงแค่มีการเดินทางไปบันทึกความร่วมมือสถาปนาเป็นเมืองแฝดเอยหรือบ้านพี่เมืองน้องเอย บางครั้งก็ไม่เคยมีอะไรที่เชื่อมกันจริงจังเลย ลงนามเสร็จก็จากกันไป

แต่น่านกับหลวงพระบาง เป็นเมืองใกล้เคียงที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างน่าสนใจยิ่ง ตำนานเมืองหลวงพระบางเอ่ยถึงเมืองน่านมาตั้งแต่สร้างเมือง

ตำนานบอกว่า เจ้าฟ้างุ้มผู้ครองหลวงพระบางยุคต้นๆ ไม่อยู่ในศีลธรรมถูกท้าวพระยาขับไล่ ก็หนีมาอยู่เมืองน่านจนตาย

การข้ามไปข้ามมาระหว่างสองเมืองแม่น้ำโขงนี่มีมาตลอด จนถึงยุครัตนโกสินทร์ เวลาเขาจะยกทัพไปตีฮ่อที่หลวงพระบางก็ต้องผ่านเมืองน่าน แต่ยุคโน้นข้ามจากน่านแล้วมุ่งไปทางท่าเดื่อ มายุคนี้มีเทคโนโลยีตัดเขาเลยเกิดถนน 4B ลัดไปถึงเชียงแมนได้เร็วขึ้น

น่านไม่ได้มีแค่ภาพวาดปู่ม่านย่าม่าน/หนุ่มกระซิบสาวที่วัดภูมินทร์หรอก มันยังมีเรื่องราวความเซ็กซี่ของเมืองน่านบันทึกไว้มากมาย เรื่องพวกนี้ขุดมาขายได้ไม่รู้จบ  

สมัยรัชกาลที่ 5 ทัพสยามยกไปปราบฮ่อยกขึ้นเหนือผ่านพิชัย เลี้ยวขวามาทางน่าน หลวงทวยหาญรักษา (เพิ่ม) ทหารในทัพเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีแต่งนิราศเมืองหลวงพระบางบรรยายสภาพบ้านเมืองและผู้คนของน่านเมื่อพ.ศ. 2428  เอาไว้ ด้วยสายตาของคนกรุงเทพฯ น่านยุคนั้นเป็นอีกประเทศอีกวัฒนธรรม

กล่าวถึง ขบวนเจ้าเมืองน่านมารับแม่ทัพ...

ครั้นภาณุมาศผาดศรีสี่โมงเศษ เจ้ามาเลศก็มาเหมือนปราศรัย

พร้อมพระวงศ์พงศาเสนาใน ก็ครรไลกรีกรูเป็นหมู่มา

มีข้าหลวงทะลวงฟันเป็นหลั่นลด  ประดับยศดูกำยำเดินนำหน้า

ถือดาบหอกออกขนานลานชลา แน่นคณานิกรงามทรามประเทือง

เจ้าเมืองน่านแต่งองค์ทรงยศศักดิ์  สวมสะพักเยียรบับระยับเหลือง

นุ่งผ้าปูมภูมิผ่องดูรองเรือง ค่อยยาตรเยื้องย่างทยอยเดินลอยชาย

แต่เจ้าอุปราชาอยู่ล้าหลัง ดูขึงขังคมสันรีบผันผาย

เดินแคล่วคล่องก้องแก้งตกแต่งกาย เอาผ้าด้ายแดงเทศโพกเกศกรรณ

ท่านแม่ทัพรับอยู่ประตูค่าย ทั้งสองฝ่ายปรีดิ์เปรมเกษมสันต์

เชิญครรไลไคลคลอจรจรัล ขึ้นบนชั้นเชิงพื้นดูรื่นรมย์

นาทีทองของ\"น่าน\" เมืองที่ใครๆ ก็อยากไปเที่ยว

กล่าวถึง ป้อมประตูเขตเมือง...

เที่ยวแวดชมนิคมเขตประเทศสถาน ป้อมปราการก่อตั้งเป็นฝั่งฝา

มีเชิงเทินเนินใส่ใบเสมา ทวาราเรือนยอดตลอดแล

เป็นดอนดอยลอยพื้นดูรื่นเรียบ แต่ไม่เทียบท่าห่างทางกระแส

สักสี่เส้นเห็นไกลอาลัยแล ใช้เรือแต่ชะล่าล้วนควรระคาง

ชาวประชาผาสุกทุกคาเมศ อยู่ตามเพศพวกพรรคไม่มักหมาง

จีนพ่อค้าที่อาศัยก็ไว้วาง ให้อยู่ทางแถวขนัดเขาจัดการ

ตอนนี้ครับ ที่ติดเซ็กซี่ ไปชมตลาดเช้า กล่าวถึงการแต่งกายของชาวเมือง ผู้ชายสักขาดำเจาะหู ผู้หญิงนุ่งห่มอย่างลาว ซึ่งการเปลือยอกในตลาดเป็นเรื่องปกติของชาวน่านยุคนั้น

ครั้นรุ่งเช้าเข้าในเวียงเสียงออกแซ่  เที่ยวดูแม่ค้าลาวนางสาวศรี

เรียกว่ากาดตลาดใหญ่ในบุรี  เสียงอึงมี่หมู่ลาวชาวพารา

พวกเจ้าชู้ดูเชิงเที่ยวเบิ่งสาว  เห็นขำขาวเคียงคลอเข้ารอหน้า

เดินแทรกแซงแสร้งเสพูดเฮฮา  เว้าภาษาลาวล้อในข้อคำ

ทั้งหญิงชายซื้อขายกันอนันต์เนก  ไม่แกล้งเสกสรรใส่พิไรร่ำ

ลาวผู้ชายรายราสักขาดำ  ล้วนแต่น้ำหมึกมัวจนทั่วพุง

ช่างเจาะหูรูโตดูโร่ร่า  เอามวนยายัดใส่เหมือนไถ้ถุง

นุ่งตาโถงโจงกระสันพันออกนุง   ห่มเพลาะกรุ้งกริ่งกรอเดินรอรี

หญิงผมยาวเกล้ามวยสวยสะอาด  ลักษณ์วิลาสแลประไพวิไลศรี

ลานทองคำทำตุ้มหูดูก็ดี  นุ่งซิ่นสีแดงประดับสลับแล

เป็นริ้วรายลายขวางที่นางนุ่ง  เฝ้ามองมุ่งพินิจบางไม่ห่างแห

ห่มผ้าจ้องคล้องคอเดินคลอแคล  เว้นเสียแต่เต้าไม่ปิดให้มิดเลย

หรือจะอวดประกวดถันยุคันคู่  เปิดให้ชูช่อดอกไว้ออกเฉย

บ้างยานย้อยคล้อยเคลื่อนไม่เชือนเชย  บางคนเผยผายกางเหมือนช้างงา

บ้างเป็นปุ่มตุ่มติดอยู่หนิดหนึ่ง  ไม่งอกผี่งผายล้นพ้นภูษา

ศีรษะใหญ่ยาวเท่าฟองเต่านา  จะร่ำว่าไปก็กลแต่มลทิน

ยกกลอนสมัยร้อยกว่าปีก่อนมาพอสังเขปครับ เพื่อจะบอกว่าน่านมีแสงในตัวเอง ครบเครื่องทั้งธรรมชาติวัฒนธรรมและเรื่องราว story

นาทีทองของ\"น่าน\" เมืองที่ใครๆ ก็อยากไปเที่ยว น่าน เมืองประเทศราชยุคสุดท้าย

น่านเป็นเมืองประเทศราชยุคสุดท้าย ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเมืองและเจ้าผู้ครองในฐานะประเทศราชมีไม่กี่เมือง เจ้าผู้ครองเมืองน่านพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ได้รับพระราชทานอวยขึ้นเป็นเจ้าประเทศราชหลังกรณีกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ประวัติศาสตร์กระซิบช่วงนี้

กรุงเทพฯเองระแวงหัวเมืองเหนือจะตีตัวออกไปอยู่กับฝรั่งเศส เหตุกบฏเงี้ยวมีแค่เจ้าแพร่ที่ถูกปลดและหนีไปอาศัยฝรั่งเศสที่เมืองหลวงพระบางจนเสียชีวิต

ที่จริงแล้วกรุงเทพฯระแวงเจ้านายหัวเมืองเหนือทั้งหมดล่ะ ค่อยใช้วิธีการรัฐศาสตร์ปลอบประโลมกันจนเลื่อนจากเจ้าผู้ครองเฉยๆ เป็นพระเจ้าประเทศราช ซึ่งพอสิ้นเจ้าสุริยพงษ์ฯ ก็ไม่ได้อวยขึ้นเป็นเจ้าประเทศราชต่อ เมืองน่านถูกผนวกเป็นจังหวัดในมณฑลเทศาภิบาลตามลำดับ

ดั่งที่กล่าวแต่ต้น ด้วยปัจจัยความเป็นเมืองปิด เมืองน่านจึงยังรักษาความเป็นเมืองเก่าแก่ระดับเมืองประเทศราช รักษาวัฒนธรรมแบบน่านไว้ได้ไม่แพ้หลวงพระบางที่ฝรั่งมรดกโลกตั้งกฎเกณฑ์อนุรักษ์ไว้

น่านกำลังไต่ทะยานด้วยต้นทุนและปัจจัยแวดล้อมทั้งใน-นอกที่เกื้อหนุน จากนี้ก็เหลือแต่ว่า คนน่านจะรักษาระดับความเป็นเมืองมีเสน่ห์และปลายทางยอดนิยมของผู้มาเยือนได้ยาวนานและยั่งยืนอย่างไร ตัวอย่างของแหล่งท่องเที่ยวที่โตเร็วและดับเร็วจากการเร่งพัฒนา เร่งตักตวง เร่งสูบเอา มีให้เห็นอยู่

หวังว่าน่านจะไม่เดินตามรอยล้มเหลวนั้น.