ความล่มสลายของ"ศรีลังกา" ผู้ประท้วงบุกยึดทำเนียบบ้านพักประธานาธิบดี
ล่าสุดมวลชนผู้ประท้วง"ศรีลังกา"บุกยึดทำเนียบบ้านพัก"ประธานาธิบดีศรีลังกา"สำเร็จ พวกเขากระโดดน้ำเล่นในสระว่ายน้ำ ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกและทำครัวในสถานที่สำคัญของประเทศ ที่เคยรักษาความปลอดภัยเข้มงวดที่สุด
รัศมี กวินธยา หญิงสาวชาวศรีลังกาไม่เคยคิดหรือฝันมาก่อนว่า ในช่วงชีวิตของเธอจะได้มีโอกาสก้าวย่างเข้าไปในทำเนียบบ้านพักประธานาธิบดีของศรีลังกาในกรุงโคลัมโบ
เพียงวันเดียวหลังจากมวลมหาประชาชนชาวศรีลังกาบุกเข้าไปยึดครองอาคารที่ได้รับการคุ้มกันและมีระดับการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ สถานที่แห่งนี้ก็กลายเป็นสถานที่เปิดสำหรับชาวศรีลังกาหลายพันคน ซึ่งรวมถึง"กวินธยา"ที่แห่กันเข้าไปชมทำเนียบประธานาธิบดีแห่งนี้
“ลองดูความหรูหราและการตกแต่งที่ฟุ่มเฟือยของสถานที่แห่งนี้สิ พวกเราอาศัยอยู่ในหมู่บ้านและบ้านของเราก็ขนาดเล็กนิดเดียว แต่ทำเนียบนี้เป็นของประชาชนและสร้างขึ้นด้วยเงินของประชาชน" กวินธยาซึ่งเดินทางมาชมทำเนียบประธานาธิบดีพร้อมกับลูกทั้ง 4 คนของเธอกล่าว
ทำเนียบบ้านพักประธานาธิบดีเป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลอันโอ่อ่าที่ประกอบด้วยระเบียงจำนวนมาก ห้องประชุมและห้องนั่งเล่น สระว่ายน้ำและสนามหญ้าขนาดใหญ่
เหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมาส่งผลให้โกตาพญา ราชปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกาต้องหลบหนีออกนอกประเทศ หลังการลุกฮือของประชาชนที่ออกมาประท้วงขับไล่อีกครั้งเพราะผู้นำล้มเหลวในการกู้วิกฤตเศรษฐกิจ
แหล่งข่าวทหารระดับสูงสุดนายหนึ่งเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพาประธานาธิบดีโกตาพญาหนีออกจากทำเนียบที่พักได้ทัน ก่อนที่ผู้ประท้วงที่เรียกร้องให้เขาลาออกจะบุกเข้ามาถึงในทำเนียบ โดยล่าสุดเขาเดินทางลี้ภัยไปยังมัลดีฟส์ด้วยเครื่องบินทหารแล้ว
ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเล่นน้ำในสระว่ายน้ำในบ้านพักประธานาธิบดีศรีลังกาอย่างสนุกสนาน(ภาพจากเอพี)
ชาวศรีลังกาจำนวนมากออกมาประท้วงบนถนนในเมืองศูนย์กลางการค้าโคลอมโบอีกครั้งหนึ่งเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อวิกฤติเศรษฐกิจ หลังจากตำรวจเพิกถอนคำสั่งเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 8 ก.ค. เพราะพรรคการเมืองฝ่ายค้าน กลุ่มสิทธิมนุษยชน และสมาคมทนายความขู่ว่าจะฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เซลฟี่ที่ทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกา
ชายหญิงและเด็กหลายพันคนกำลังพยายามเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดี ผู้นำประท้วงบางคนก็กำลังควบคุมฝูงชน โดยมีตำรวจศรีลังกาและกองกำลังพิเศษยืนอยู่ตรงมุมตึกและเฝ้าดูการเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ
ในขณะที่มวลชนแวะเดินทัวร์ทำเนียบจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง ทุกคนต่างก็ต้องการบันทึกช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ด้วยการถ่ายเซลฟี่ภายในบ้านพักประธานาธิบดี ทั้งถ่ายภาพกับโต๊ะไม้สักและภาพวาดบนผนังรวมถึงถ่ายภาพในห้องนั่งเล่นเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก
ซากเก้าอี้หัก เศษกระจกหน้าต่างที่แตกกระจายและเศษแก้วจากแจกันที่กระจัดกระกระจายไปทั่วอาคาร ความเสียหายเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงความโกลาหลและความสับสนที่เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่มวลชนบุกยึดทำเนียบได้
ผู้ประท้วงยึดห้องนั่งเล่นเป็นที่เล่นไพ่(ภาพจากเอเอฟพี)
กระโดดน้ำเล่นในสระว่ายน้ำทำเนียบ
“มันคือฝันที่เป็นจริงแล้วสำหรับผมที่ได้เข้ามาเห็นทำเนียบแห่งนี้” อัล พรีมาวาร์ดีน ชาวศรีลังกาที่ทำงานในสวนสนุกเมืองกานีมูลล่า กล่าว
“พวกเราชาวบ้านต้องเข้าคิวยาวเพื่อรอรับน้ำมัน แก๊สและอาหาร แต่ตระกูลราชปักษากลับมีชีวิตที่หรูหรา ฟุ่มเฟือยซึ่งแตกต่างจากพวกเรามาก” พรีมาวาร์ดีน กล่าว
สระว่ายน้ำในทำเนียบเป็นจุดหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากมวลชน ครอบครัวชาวศรีลังกาต่างยืนชื่นชมสระน้ำที่ตอนนี้น้ำในสระกลายเป็นสีน้ำตาล กองเชียร์รอบๆ ต่างปรบมือและตะโกนเชียร์เมื่อมีชายหนุ่มคนหนึ่งกระโดดลงไปในสระน้ำ
ก่อนหน้านี้มีคลิปวิดีโอซึ่งถูกถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กเผยให้เห็นผู้ประท้วงจำนวนมากลงไปแช่ตัวและเล่นน้ำในสระว่ายน้ำของประธานาธิบดีอย่างสนุกสนาน
“ฉันรู้สึกเศร้าจัง” นิโรชา ซูดาร์ชินี ฮัทชินสัน หญิงสาวซึ่งเข้ามาเยี่ยมชมทำเนียบพร้อมกับลูกสาววัยรุ่น 2 คนกล่าว
“ผู้ชายคนหนึ่งที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีตามระบอบประชาธิปไตยต้องลงจากตำแหน่งไปอย่างน่าอับอาย ตอนนี้เรารู้สึกละอายใจที่เคยลงคะแนนให้เขา ผู้คนต้องการให้พวกเขาคืนเงินที่ขโมยไปจากประเทศ” คุณแม่ลูกสองกล่าวด้วยความสะเทือนใจ
นอกจากสระว่ายน้ำแล้ว จุดยอดนิยมของมวลชนอีกที่หนึ่งดูเหมือนจะเป็นเตียง 4 เสาที่มีกลุ่มชายหนุ่มนั่งพักผ่อนอยู่
ด้านนอกของตัวคฤหาสน์ มีสนามหญ้าที่กว้างขวางและตกแต่งอย่างสวยงาม ผู้คนนับร้อยไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ ชาวฮินดู และชาวคริสต์กำลังเดินเล่นรอบๆ มีครอบครัวหนึ่งกำลังนั่งปิกนิกกันอย่างสบายๆ บนสนามหญ้าสีเขียวซึ่งเคยเป็นสถานที่ต้องห้ามของพวกเขาเมื่อ 24 ชั่วโมงก่อน
ชาวศรีลังกาถ่ายภาพเป็นที่ระลึก (ภาพจากบีบีซี)
ความล่มสลายของอำนาจผู้นำศรีลังกา
สำหรับนักประวัติศาสตร์ระดับโลกแล้วภาพของผู้ประท้วงชาวศรีลังกาที่เฮโลกันลงไปในสระน้ำของทำเนียบบ้านพักประธานาธิบดีแห่งนี้จริงๆ แล้วเป็นฉากที่คุ้นเคย และเป็นสิ่งหนึ่งที่ส่งสัญญาณว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น
บ้านพักของประธานาธิบดีศรีลังกาตอนนี้เข้าไปรวมอยู่ในรายชื่อทำเนียบบ้านพักของราชวงศ์และประธานาธิบดีจำนวนมากที่ถูกผู้ประท้วงยึดครองระหว่างการปฏิวัติทางการเมือง
พระราชวังของพระมหากษัตริย์หรือบ้านพักของประธานาธิบดีเป็นสัญลักษณ์สำคัญของผู้มีอำนาจในชาติ อาคารเหล่านั้นมีดีไซน์และการตกแต่งที่หรูหราและอู้ฟู่มากเกินไปอันแสดงถึงพลังของผู้นำที่ครอบครองสถานที่เหล่านั้น สิ่งที่รับรู้ได้ถึงอำนาจคือ ขนาดของอาคาร เฟอร์นิเจอร์ราคาแพงและงานศิลปะล้ำค่าที่แขวนอยู่บนผนัง
ผู้ประท้วงทำครัวภายในบ้านพักนายกรัฐมนตรีศรีลังกา(ภาพจากเอเอฟพี)
การเข้าถึงอาคารต่างๆ ได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดโดยคำนึงถึงสถานะพิเศษของสถานที่ซึ่งเกือบจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อาคารเหล่านั้นเป็นตัวแทนของอำนาจของผู้ปกครองไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือทางอื่น
ก่อนที่จะกลายเป็นสาธารณรัฐในปีค.ศ. 1972 ศรีลังกาเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ภายใต้การปกครองของอาณานิคม พระราชวังเทมเพิ่ล ทรีส์เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นที่พำนักของกษัตริย์หรือพระราชินี พระราชวังแห่งนี้ถูกใช้เป็นบ้านพักของผู้ว่าการอังกฤษจนกระทั่งมีประธานาธิบดีเข้ามาปกครองประเทศแทน
สระว่ายน้ำและห้องนั่งเล่นของประธานาธิบดีเป็นพื้นที่ควบคุมที่มีน้อยคนนักที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าถึง ดังนั้น การลงไปว่ายน้ำในสระของประธานาธิบดีจึงเป็นการท้าทายจากกลุ่มกบฏหรือการปฏิวัติประชาชนที่ส่งข้อความอันทรงพลังว่าไม่มีกฎหมายหรืออำนาจใดมาบังคับประชาชนที่กำลังโกรธแค้นรัฐบาลไม่ให้เข้าไปในสถานที่ที่พวกเขาเคยถูกห้ามไม่ให้เข้าไปได้
ในท้ายที่สุด ชาวศรีลังการู้สึกว่าการประท้วงที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือนได้นำไปสู่การถอดถอนผู้นำของประเทศซึ่งพวกเขากล่าวหาว่า เป็นต้นเหตุของการล่มสลายทางเศรษฐกิจ และเมื่อได้เห็นไลฟ์สไตล์ความเป็นอยู่ของผู้นำแล้วก็ยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับพวกเขาเป็นทวีคูณ
ชาวศรีลังกาแห่เข้าไปชมทำเนียบบ้านพักประธานาธิบดีของศรีลังกา(ภาพจากเอพี)
....................
ที่มา : เว็บไซต์บีบีซีและwww.theconversation.com