ชาว “อินโทรเวิร์ต” ควรรู้! วิธีรักษาคนใกล้ตัว ไม่ให้เป็น “คนแปลกหน้า”
จะมีวิธีใดบ้างที่ช่วยให้ชาว “อินโทรเวิร์ต” (Introvert) ที่มีบุคลิกแบบเก็บตัวหรือชอบอยู่ตัวเอง ไม่ค่อยรู้วิธีสานสัมพันธ์กับคนอื่น ไม่ต้องเผชิญหน้าความสัมพันธ์เหี่ยวเฉากับเหล่าเพื่อนสนิท จนกลายเป็น “คนแปลกหน้าที่รู้จักกันดี”
ชาวอินโทรเวิร์ต (Introvert) หลายคนอาจกำลังประสบกับปัญหาการทำตัวไม่ถูกเมื่อต้องเริ่มเข้าไปทักทายทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ ทำให้ชาวอินโทรเวิร์ตส่วนใหญ่จึงเลือกอยู่เฉย ๆ นิ่ง ๆ หรือไม่ก็แอบหลบไปอยู่ตามซอกหลืบ มุมใดมุมหนึ่งของห้อง ไม่ใช่ว่าหยิ่งหรือถือตัว แต่พวกเขาไม่รู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไร พอเข้าไปแล้วจะสร้างความกระอักกระอ่วน ทำให้บรรยากาศเสียหรือไม่
อันที่จริง ชาวอินโทรเวิร์ตไม่ได้มีปัญหาแค่กับการเจอคนใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการไปพบเจอเพื่อนเก่า ๆ ที่ไม่ได้เจอกันมานาน ทั้งที่อยากจะคุยด้วยจะตาย กลับแสดงออกไปไม่ได้ดังใจนึก รวมถึงภาระหน้าที่การงาน การดูแลครอบครัว ทำให้การออกไปสังสรรค์กับเพื่อนเก่าเป็นเรื่องยาก
แตกต่างจากชาว เอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) ที่เพิ่มพลังงานให้ตัวเองด้วยการออกไปพบเจอกับผู้คน ไม่ว่าจะยุ่งขนาดไหนก็ต้องหาเวลาออกไปเจอเพื่อนฝูงให้ได้ ขณะที่ชาวอินโทรเวิร์ตที่ชอบอยู่กับตัวเองนั้น แค่ต้องใช้เวลากับการอยู่ในที่ทำงานตลอดทั้งวันก็หมดพลังงานแล้ว อยากจะรีบกลับบ้านไปอยู่กับตัวเองเพื่อชาร์จแบต จึงมีแนวโน้มจะเลื่อนแผนการนัดเจอเพื่อนออกไปเรื่อย ๆ จากวันนี้ เป็นพรุ่งนี้ เป็นสัปดาห์หน้า เป็นเดือนหน้า
กว่าจะรู้ตัวอีกที เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ชาวอินโทรเวิร์ตที่ไม่ค่อยได้สุงสิงกับใครมาก แม้แต่การโพสต์ข้อความ อัปโหลดรูปภาพผ่านโซเชียลมีเดียก็นาน ๆ จะมีอารมณ์โพสต์สักที สุดท้ายแล้ว เหล่าเพื่อนสนิท คนสำคัญในชีวิตก็ค่อย ๆ จางหายกันไป เปลี่ยนแปลงกลายเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่รู้จักกันดี ซึ่งคราวนี้จะต่อกันติดได้ยากกว่าเดิม
- รู้สึกผิดจนเลือกเสียเพื่อน
ในปัจจุบันที่มีวิธีการสื่อสารมากมายหลากหลายช่องทาง ทั้งการโทรศัพท์ ส่งข้อความ เขียนอีเมล หรือใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นตัวช่วยที่ง่ายดาย เพียงปลายนิ้วสัมผัส ใช้เวลาไม่ถึงนาทีด้วยซ้ำ เลือกสติกเกอร์ หรือ GIF สักตัว ก็สามารถส่งหาคนสำคัญได้แล้ว
ฟังดูแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหา เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ง่ายและได้ผล ชาวเอ็กซ์โทรเวิร์ตสามารถทำอย่างง่ายได้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้นสำหรับชาวอินโทรเวิร์ต เพราะพวกเขามักแบ่งแยกรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีให้กับคนรอบข้างอย่างชัดเจน ระหว่างคนที่พวกเขามองว่าเป็นเพื่อนแท้ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนที่จะได้เข้ามาอยู่ในชีวิตของพวกเขา กับกลุ่มคนรู้จักที่ไม่ได้สำคัญมาก มีความสัมพันธ์ด้วยแบบหลวม ๆ แต่สุภาพ จนท้ายที่สุดก็ไม่ได้สานต่อความสัมพันธ์นี้ และแยกย้ายกันไป
เมื่อความสัมพันธ์ของชาวอินโทรเวิร์ตกับกลุ่ม “เพื่อนแท้” เริ่มลดระดับลงเรื่อย ๆ จนเข้าไปสู่เขตแดนของ “คนรู้จัก” พวกเขาจะเริ่มรู้สึกผิดที่ปล่อยปละละเลยให้ความสัมพันธ์อยู่ในระดับที่อันตรายขนาดนี้ รวมถึงละอายใจที่มีความคิด “ละทิ้ง” เพื่อนผุดขึ้นมาในหัว
ความรู้สึกผิดเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้ชาวอินโทรเวิร์ตรีบติดต่อหากลุ่มเพื่อนแท้ในทันที แต่หลายครั้งที่ความรู้สึกผิดมาพร้อมกับความวิตกกังวล และความกลัวจากความคิดที่ว่าพวกเขาเป็นคนที่ทำให้ความสัมพันธ์นี้แย่ลงด้วยความห่างเหินและเลือกปฏิเสธความสัมพันธ์นี้เอง
ดังนั้น เพื่อการหลีกเลี่ยงความรู้สึกกระอักกระอ่วนจากการทักไปพูดหลังจากที่ไม่ได้คุยกันนาน ชาวอินโทรเวิร์ตบางส่วนจึงเลือกปล่อยให้ความสัมพันธ์เหล่านี้แห้งตายลงอย่างช้า ๆ และยาวนาน มีเพียงความเงียบงันเข้ามาแทนที่ระหว่างทั้งสองฝ่าย
- ความเข้าใจผิดจากโซเชียลมีเดีย
โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนยุคนี้ และทำให้เราสามารถกลับมาพูดคุยกับเพื่อนเก่าที่ไม่ได้ติดต่อกันมานานได้อีกครั้ง แต่ใครจะคิดว่าโซเซียลมีเดียก็สามารถทำลายความสัมพันธ์ของชาวอินโทรเวิร์ตได้เช่นกัน
สื่อสังคมออนไลน์มีรูปแบบการสื่อสารแบบ “แอคทีฟ” (Active) กับคู่สนทนา เช่น การทวีต หรือคอมเมนต์ในสเตตัสเฟซบุ๊กของเพื่อน อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎีการเป็นเพื่อนกันหรือกดติดตามเพื่อนในแอปพลิเคชันเหล่านี้ก็ถือเป็นการตอบโต้กันระหว่างบุคคล เพราะเราสามารถมองเห็นการอัปเดตของเพื่อนอยู่ทุกวัน ได้เห็นว่าเพื่อนคิดอะไร ไปเที่ยวที่ไหนบ้าง แต่การทำความรู้จักผู้คนผ่านโซเชียลมีเดีย มันเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของคนเหล่านั้น ซึ่งอาจผ่านการปรุงแต่งมาแล้วทั้งสิ้น เพื่อให้เห็นแต่แง่มุมที่สวยงาม
ดังนั้น นี่จึงเป็นความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มเพื่อนที่ติดต่อกันทั้งในชีวิตจริงและในโซเชียลมีเดีย กับกลุ่มอินโทรเวิร์ตที่มักจะทำแค่ติดตามเพื่อน ๆ จากโซเชียลมีเดียเท่านั้น โดยที่พวกเขากำลังตกอยู่ในหลุมพรางของคำว่า “เพื่อน” ที่มีพื้นฐานบนโลกความจริงเพียงบางส่วน แพลตฟอร์มต่าง ๆ ของโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มที่ทำให้ความสัมพันธ์สมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น
ถึงแม้เทคโนโลยีจะทำให้เราเข้าหาคนอื่นได้ง่ายขึ้นด้วยโซเชียลมีเดีย แต่การทำความรู้จักกันในโลกแห่งความเป็นจริงก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญกับทุกรูปแบบความสัมพันธ์ ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจตัวตนของแต่ละบุคคลเพิ่มยิ่งขึ้น และไม่สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของผู้อื่นจากสิ่งที่เขาโพสต์บนโลกโซเชียลเท่านั้น
เมื่อการติดต่อสื่อสารกับคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แถมโซเชียลมีเดียก็อาจไม่ใช่ตัวช่วยที่พึ่งพาได้ของเหล่าอินโทรเวิร์ต แล้วพวกเขาจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร?
- รับมือความรู้สึกผิด เอาชนะความอึดอัดใจ
ประการแรก ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์ควรค่ากับความพยายามที่จะรักษาไว้ บางครั้งการที่เราเลือกจะปล่อยให้ความสัมพันธ์มันแห้งตายไป มันอาจมาจากความรู้สึกไม่อยากเจอคน ๆ นี้ (แม้ว่าคุณจะเก็บเขาไว้อยู่ในระดับเพื่อนแท้ก็ตาม) อาจเป็นเพราะความเป็นพิษที่เขามอบให้แก่คุณ หรือความเห็นแก่ตัวบางอย่าง ในกรณีแบบนี้ก็ไม่มีอะไรที่จำเป็นต้องเสียดายความสัมพันธ์
เหล่าอินโทรเวิร์ตสามารถรับมือกับคนได้ไม่มาก ดังนั้นโดยธรรมชาติพวกเขาจะมีเพื่อนสนิทกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น แต่คุณไม่จำเป็นต้องเก็บเพื่อนดี ๆ ไว้ในระดับเพื่อนแท้ทุกคน คุณสามารถวางพวกเขาไว้วงนอกได้ ไม่จำเป็นต้องไปคลุกคลีให้เสียพลังงาน แต่ถ้าคุณอยากลองสานสัมพันธ์ ก็ไม่เสียหายอะไร
สิ่งที่ต้องยอมรับคือ อินโทรเวิร์ตไม่ค่อยชอบสุงสิงกับใคร ดังนั้นคุณจำเป็นต้องซื่อสัตย์กับตัวเองว่า เวลาใดที่คุณพร้อมจะพูดคุยกับคนอื่น เวลาที่ใดที่คุณควรหยุด ถอยออกมาเพื่ออยู่กับตัวเอง รวมไปถึงควรต้องหาคำอธิบายหรือคำขอโทษเมื่อเวลาที่คุณขาดการติดต่อไปนาน ๆ และยอมรับว่าคุณมีข้อบกพร่องในการสื่อสาร แน่นอนว่า เพื่อนสนิทของคุณย่อมเข้าใจในจุดนี้ของคุณเป็นอย่างดี แต่สำหรับคนอื่น ๆ ที่อาจไม่เข้าใจ คุณควรถามตัวเองอีกครั้งว่าอยากจะสานต่อความสัมพันธ์อีกครั้งหรือไม่
สำหรับเหล่าอินโทรเวิร์ตแล้ว การรักษามิตรภาพให้ยั่งยืนก็เหมือนกับการออกกำลังกาย ที่ไม่ได้อยากทำแต่ก็ต้องทำเพื่อสุขภาพกายและใจที่ดี จริง ๆ แล้ว ทั้งการออกกำลังกายและการรักษามิตรภาพอย่างมีประสิทธิภาพ คุณสามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียเวลาชีวิตมากมายในแต่ละวัน
การใช้เวลา 2-3 นาทีต่อวันในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปภาพหรือโพสต์ต่าง ๆ ของเพื่อนบนโซเชียลมีเดีย อาจเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อทำให้เกิดความคุ้นเคยกันมากพอจะพัฒนาไปสู่การทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ใช้เวลามากขึ้น ทำให้คุณรู้สึกเกร็งน้อยลงเวลาต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และปล่อยให้ตัวเองมีความสุขได้มากขึ้น อีกทั้งการรักษาความสัมพันธ์นี้ยังเป็นผลพลอยได้จากการใช้โซเชียลมีเดียที่เป็นกิจวัตรประจำวันของคุณอยู่แล้ว
ถึงแม้ว่าการส่งข้อความและการแสดงความเห็นสั้น ๆ ในโพสต์ของเพื่อนอาจจะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่ก็เพียงพอแล้วที่จะทำลายการเกิดวงจรคนแปลกหน้าที่คุ้นเคย ก่อนที่จะทำลายความสัมพันธ์ที่ดีทั้งหมด
ที่มา: 16 Personalities, Aldohappy, Healthline