ทำอย่างไรให้เด็กไทยแอคทีฟ? เล่นมากขึ้น ลด "พฤติกรรมเนือยนิ่ง"
ผลสำรวจข้อมูลด้านกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนไทย จากมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยมี "พฤติกรรมเนือยนิ่ง" สูงอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง ขณะที่การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอก็อยู่ในขั้นวิกฤต สะท้อนถึงแนวโน้มปัญหาและผลกระทบที่อาจจะตามมาในหลายมิติ
ในการประชุมวิชาการด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2565 “The 1st Thailand Physical Activity Conference 2022 (TPAC2022)” จัดโดยภาคีด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาหัวข้อ “ทำอย่างไรให้เด็กไทยแอ็คทีฟ” เพื่อร่วมแบ่งปันหาแนวทางลด พฤติกรรมเนือยนิ่ง ในกลุ่มเยาวชน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนไทย
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่ามีข้อมูล ส่งสัญญาณ ก่อนโควิดแล้วว่าเด็กไทยเพียง 23 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่มีกิจกรรมทางกายอย่างน้อยวันละอย่างน้อย 60 นาทีตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่ง ณ ตอนนี้เด็กทั่วโลกก็เป็นแบบนี้แทบทั้งหมด ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการเคลื่อนไหวน้อยในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้นั่งนานๆ เช่น นั่งกินข้าว นั่งเรียน นั่งรถกลับบ้าน นั่งดูทีวี ดูหน้าจอ แล้วก็นอน
“เราจำเป็นต้องออกแบบให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่ต้องขยับตัว เช่น การเรียนอย่างกระฉับกระเฉงทั้งในและนอกห้องเรียน ส่วนของครอบครัวพ่อแม่ก็ต้องใส่ใจในการมีส่วนร่วม และออกแบบกิจกรรมให้ลูกได้เคลื่อนไหวมากขึ้น ส่วนในชุมชน ทำอย่างไรให้มีสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ง่าย นโยบายภาครัฐที่มีส่วนเสริม อยากให้เข้มงวดในการบังคับใช้ สสส.ก็ช่วยเหลือเต็มที่ในเรื่องฐานข้อมูลทางวิชาการ
ตอนนี้เรามียุทธศาสตร์ “EMPACT” ที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยสนับสนุนการเคลื่อนไหวร่างกายที่อยู่รอบๆ ตัวของเด็ก ประกอบด้วย Educational setting, Manage, Policy, Academic, Community และ Technology ทั้งหมดจะเป็นจุดสตาร์ทในการทำงานที่เรียนรู้ไปด้วยกัน อยากให้มั่นใจว่าการทำงานที่คุ้มที่สุดคือทำกับวัยเด็ก ถ้าใส่เงินใส่ความตั้งใจลงไป เราจะได้ผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ลดโรคภัยไข้เจ็บ อย่างน้อยเร็วๆ นี้เราจะมีเด็กที่ขยับตัวมากขึ้น อ้วนลดลง โรคภัยไข้เจ็บไม่เกิดหรือเกิดแค่ในช่วงท้ายๆ ของชีวิต นี่คือเป้าหมายของเรา” ดร.นพ.ไพโรจน์ ชี้ให้เห็นถึงปัญหา และแนวทางแก้ไข
ในขณะที่ตัวแทนจากภาครัฐ ดร.ทับทิม ศรีวิไล กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ากระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ทรัพยากรบุคคลในประเทศ เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ
“เรามีนโยบาย 3 ช่วงวัย ในการทำกิจกรรมทางกาย เริ่มตั้งแต่หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และเด็กปฐมวัย อายุ 0-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยสำคัญที่สุดที่ต้องมีการส่งเสริมพัฒนาการและการเล่น โดยขับเคลื่อนด้วยนโยบายเล่นเปลี่ยนโลก ใช้คอนเซ็ปต์การเล่น 3 F คือ Family พ่อแม่เล่นกับลูกสร้างสัมพันธภาพที่ดี Free เล่นได้ทุกที่ทุกเวลา Fun เด็กต้องสนุกมีรอยยิ้ม เกิดพัฒนาการ ของเล่นที่ดีที่สุดของลูกวัยนี้คือ คุณพ่อคุณแม่นี่เอง
พอถึงช่วงเป็นเด็กนักเรียน เราให้เด็กมีการกระโดดโลดเต้นเล่น 60 นาทีในโรงเรียน ซึ่งได้เข้าไปร่วมกับโครงการก้าวท้าใจ ของ สสส. โดยนำไปลงที่โรงเรียนทั่วประเทศ มีเด็กเข้าร่วมโครงการประมาณ 5 แสนคนแล้ว ปัญหาที่เจอคือ พ่อแม่ยังไม่ให้ความสำคัญของการเล่นมากนัก และไม่รู้ว่าการเล่นสำคัญอย่างไร ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดสิ่งนี้” ดร.ทับทิม กล่าว
โรงเรียนอีกสถานที่สำคัญ ที่มีส่วนช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน อิสรีย์ ด่านพิชิตชัยต์ รองผู้อำนวยการ ร.ร.รัตนโกสินทร์สมโภชบวรนิเวศ ศาลายาในพระสังฆราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.1 มีนโยบายในเรื่องของ Active Learning ในการเรียนรู้ ในการพัฒนานักเรียน ไม่ให้อยู่แต่ในห้องเรียน มีการกระตุ้นครูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมไม่ให้นักเรียนนิ่งอยู่กับที่
“ต้องยอมรับว่าในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เด็กๆ จะอยู่ติดกับจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์มาก แม้กระทั่งตอนเรียนก็เรียนผ่านออนไลน์ การดึงนักเรียนให้ออกห่างจากหน้าจอมือถือก็ต้องมีปัญหาบ้าง กระบวนการจัดการเรียนการสอนถือเป็นความท้าทายของครูในโรงเรียน ที่จะเบรกนักเรียนออกจากกิจกรรมทางออนไลน์ ครูแต่ละท่านจะมีกลยุทธ์แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกในการให้คะแนน หรือดึงนักเรียนออกมาทำกิจกรรมนอกชั้นเรียน ส่วนการที่จะทำให้นักเรียนแอ็คทีฟขึ้น ภาพรวมนักเรียนเริ่มออกมาสู่กระบวนการปฏิบัติและลงมือทำแล้ว ที่เราจะเพิ่มคือร่างแผนกิจกรรมทางกายเข้าไป ซึ่งจะช่วยกระตุ้นคุณครูในเรื่อง KPI และลงสู่นักเรียนมากขึ้น” รองผู้อำนวยการ ร.ร.รัตนโกสินทร์สมโภชฯ กล่าว
ด้านนักแสดงสาว วิกกี้-สุนิสา เจทท์ ที่มีลูกชายช่วงปฐมวัย 2 คน พบปัญหาเดียวกันคือ เด็กเจนเนอเรชั่นนี้ค่อนข้างติดบ้านไม่ค่อยอยากออกข้างนอกเพราะมีเทคโนโลยี มีสิ่งหลอกล่อให้เด็กอยู่ติดที่ รวมถึงอาจมีนิสัยดื้อบ้างตามประสาเด็ก การชวนออกมาเล่นนอกบ้าน ต้องใช้วิธีปลูกฝังให้เล่นกีฬา ซึ่งได้ผลค่อนข้างมาก
“ในยุคเรา ที่บ้านจะมีแค่ทีวี หนังสือ ดูแป๊บๆ ก็อยากออกไปเล่นนอกบ้านแล้ว พอมีลูกก็จะพยายามบอกเขาว่าการที่เราแอ็คทีฟและใช้ชีวิตนอกบ้าน มีประโยชน์หลายอย่าง เพราะอยากให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย กี้มีลูกชาย 2 คนก็จะเหนื่อยหน่อยเพราะเขาพลังเยอะมาก เราจะปลูกฝังให้เขาเล่นกีฬาที่ เค้าชอบอย่างเทนนิส จะได้ไปเล่นด้วยกัน และเขามีก๊วนเพื่อนก็จะไปเตะฟุตบอลกัน หรือลองให้ไปเล่นกอล์ฟเขาก็ชอบ ถึงเราไม่เล่นแต่ก็ไปให้กำลังใจ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะลูกกี้เป็นคนขี้อาย เวลาทำอะไรที่ไม่ค่อยมั่นใจพอเขาหันมาเจอเราก็จะรู้สึกอุ่นใจ
การที่เด็กออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน แค่วิ่งเล่น หรือเล่นของเล่นข้างนอก นอกจากทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังช่วยเสริมพัฒนาการของเขาด้วย แต่ก็ไม่ปิดกั้นเรื่องการเล่นโซเชียลมีเดีย เลือกให้เขาดูได้ จะได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราสอนไม่ได้ แต่จะจัดสรรเวลาให้ดู เพื่อให้ไปเล่นอย่างอื่นนอกบ้านบ้าง เป็นการสร้างสมดุล” วิกกี้ เล่าถึงแนวทางการเลี้ยงลูกในสไตล์ตนเอง
ภาพที่ได้เห็นเด็กๆในบ้าน อยู่ติดกับมือถือกลายเป็นสิ่งที่หลายบ้านชินตา หากจะให้ดีภาพนี้ควรจะลดลงไปบ้าง เผื่อสร้างสมดุลในการขยับกาย ส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกายให้เด็กในบ้าน