ในวันที่โลกต้องการ “เป็ดพรีเมียม” แล้ว “มนุษย์เป็ด” ต้องทำอย่างไร?
เมื่อ “มนุษย์เป็ด” และจุดเด่น “ทำเป็น” หลายๆ อย่าง เริ่มไม่ตอบโจทย์โลกการทำงานอีกต่อไป เพราะหลายบริษัท เริ่มคาดหวังให้คุณเป็น “เป็ดพรีเมียม” หรือ Generalist ที่ต้องทำได้ทุกอย่างอย่างดีเลิศ
Key Points:
- "มนุษย์เป็ด" เป็นชื่อเรียกคนที่ทำได้ทุกอย่าง แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่สุดสักอย่าง ซึ่งในอดีตถือเป็นข้อได้เปรียบเพราะทำงานได้หลากหลาย
- ปัจจุบันองค์กรเริ่มต้องการ "เป็ดพรีเมียม” หรือ Generalist ที่มีความรู้มากกว่ามนุษย์เป็ดทั่วไป
- เหล่ามนุษย์เป็ดจึงต้องพยายามหาวิธีการเลื่อนขั้นเป็น "เป็ดพรีเมียม”
เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำพิษ และเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้น ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปลดพนักงานออกเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง ทำให้คนที่หางานอยู่ในตอนนี้ ต้องเจอกับคู่แข่งจำนวนมาก ทั้งเด็กจบใหม่ คนที่พึ่งตกงาน ซึ่งส่วนทางกับตำแหน่งงานที่น้อยลง แถมมาพร้อมกับคุณสมบัติของผู้สมัครที่ยาวเป็นหางว่าว เฟ้นหา “พนักงานศักยภาพสูง” เข้ามาร่วมทีม ส่งผลให้เหล่า “มนุษย์เป็ด” กำลังตกที่นั่งลำบาก ต้องหาทางกลายร่างให้เป็น “มนุษย์เป็ดพรีเมียม” ให้ได้
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของสำนวน “รู้อย่างเป็ด” ไว้ว่า รู้ไม่จริงสักอย่างเดียว ซึ่งมีที่มาจากลักษณะของเป็ดที่ บินได้แต่ก็บินไม่ได้สูงเหมือนนก ว่ายน้ำก็ได้แต่ไม่ได้ดีแบบปลา ทำให้คนที่รู้อะไรครึ่ง ๆ กลาง ๆ ทำได้ทุกอย่างแต่ไม่ได้ไปสุดทุกด้าน ถูกเรียกว่ามนุษย์เป็ด
ขณะที่ เฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา หรือ U.S. Embassy Bangkok ระบุว่าในภาษาอังกฤษ ก็มีสำนวนที่ใช้เรียกเหล่ามนุษย์ด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ “Jack of all trades” เป็นสำนวนที่เกิดขึ้นมาในช่วงยุคกลาง โดยแจ็คเป็นชื่อที่มีใช้กันอยู่ทั่วไป เปรียบกับคนธรรมดา ที่สะสมความรู้และประสบการณ์จนสามารถทำอะไรได้หลากหลายอย่าง แต่พอมาถึงศตวรรษที่ 20 ก็เริ่มมีคนนำสำนวนนี้มาใช้ในเชิงกระแนะกระแหนคนที่มีความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ในหลายด้านแต่ไม่เชี่ยวชาญหรือรู้จริงสักด้าน และมีการเติมท่อนสร้อยเพิ่มขึ้นมาเป็น "jack of all trades, master of none"
- “มนุษย์เป็ด” รู้ทุกอย่างแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ
การเป็นมนุษย์เป็ด อาจถูกมองว่าเป็นข้อได้เปรียบในการสัมภาษณ์งาน เพราะมี “สกิลติดตัว” อยู่มาก จะให้ทำอะไรก็ได้ ภาษาอังกฤษสื่อสารได้ในระดับพอใช้ โปรแกรมไมโครซอฟต์ 365 ขั้นพื้นฐานก็ใช้ได้ไม่มีปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ก็พอมี ทักษะเข้าสังคมก็พอได้ จะถ่ายคลิปหรือตัดต่อวิดีโอก็ไหวอยู่ แถมการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
มีการศึกษาหลายชิ้นที่ระบุว่า เมื่อเกิดปัญหาในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เหล่ามนุษย์เป็ดมักจะมีทักษะการประเมินสถานการณ์ที่ดีกว่าคนทั่วไป ซึ่งมาจากนิสัยตามธรรมชาติที่อยากรู้อยากเห็นและเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทำให้พวกเขาสามารถคาดการณ์ วิเคราะห์ ปรับตัว และแก้ปัญหาได้ดีเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด
ด้วยนิสัยเหล่านี้จึงทำให้เหล่ามนุษย์เป็ดสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาไม่นานก็สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ใน “ระดับพื้นฐาน” ได้แล้ว ยิ่งเรียนรู้ในทักษะด้านต่าง ๆ มากเท่าไหร่ เหล่ามนุษย์เป็ดก็จะมี “อาวุธครบมือ” มากเท่านั้น ฟัง ๆ ดูแล้ว อาจจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ครบเครื่อง” ได้ก็คงไม่ผิดนัก อีกทั้งทักษะที่หลากหลายนี้ยังทำให้เหล่าพนักงานเป็ดถูกจับไปอยู่ทีมใด หรือตำแหน่งใดก็ได้
- “มนุษย์เป็ดพรีเมียม” ที่ต้องการในตลาดงานปัจจุบัน
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถือว่าเป็นข้อดีของเหล่ามนุษย์เป็ด แต่ในโลกการทำงานปัจจุบันนั้น ทักษะเหล่านี้อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ ย่อมต้องการพนักงานศักยภาพสูง ทักษะที่มีติดตัวต้องเหนือกว่าระดับพื้นฐาน และต้องทำได้หลากหลายอย่าง ถึงจะเป็นมนุษย์เป็ด แต่ก็ต้องเป็น “เป็ดพรีเมียม” หรือ Generalist ที่รู้กว้างหลากหลาย
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญ หรือ Specialist อาจจะไม่ได้รู้อะไรไปเสียทุกอย่าง แต่มีหนึ่งหรือสองทักษะที่เชี่ยวชาญเต็มร้อย ขณะที่มนุษย์เป็ดมีทุกอย่างแต่อาจจะอย่างละ 50-60% ส่วนเป็ดพรีเมียมคือเป็ดที่อัปเกรดมาแล้ว อาจจะรู้ทุกอย่างในระดับ 80%
มัลคอล์ม แกลดเวลล์ นักเขียนและนักข่าว ได้ระบุไว้ในหนังสือ “Outliers” ว่าต้องใช้เวลาฝึกฝนทักษะต่าง ๆ อย่างน้อยเป็นเวลา 10,000 ชั่วโมง ถึงจะบรรลุและกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นจริง ๆ (ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องคอยอัปเดตความรู้ของตนเองอยู่เสมอด้วย)
แต่เหล่ามนุษย์เป็ดไม่ได้ทุ่มเวลาให้กับทักษะใดทักษะหนึ่งอย่างเต็มที่ อาจเป็นเพราะพวกเขาอาจจะยังไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไร จึงลองเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ พอผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งเมื่อรู้ตัวว่าไม่ชอบ พวกเขาก็หันไปสนใจสิ่งอื่น ๆ เนื่องด้วยความที่เป็นคนเรียนรู้เร็ว ทำให้พวกเขามีสกิลพื้นฐานติดตัวไปเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เหล่า “เป็ดพรีเมียม” เป็นที่ต้องการตัวในตลาดแรงงานมากที่สุด เพราะมีความรู้ความสามารถที่หลากหลายด้าน เข้าใจหลักการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานส่วนต่าง ๆ ขององค์กรได้เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างดีเยี่ยม อีกทั้งสามารถปรับตัวทำงานได้ในหลากหลายตำแหน่ง ซึ่งแตกต่างจาก มนุษย์เป็ดทั่วไป ที่รับมือเรื่องต่าง ๆ ได้ไม่ดีเท่า ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญและทำงานเฉพาะทาง
อาลี อินเทรส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของนิตยสาร Forbes เปิดเผยกับ HRD นิตยสารวงการ HR ว่า เป็ดพรีเมียมยังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน เพราะในปัจจุบันคนในองค์กรมีความสนใจที่หลากหลาย คุณจะต้องมีความรู้ให้มากพอสำหรับพูดคุยกับพวกเขา และโควิด-19 ทำให้ขอบเขตของงานเพิ่มมากขึ้น
- 5 ขั้นตอนเลื่อนขั้นจาก “เป็ด” เป็น “เป็ดพรีเมียม”
แพต ฟลินน์ นักเขียนและนักผู้ประกอบการได้เขียนหนังสือ How to Be Better at Almost Everything: Learn Anything Quickly, Stack Your Skills, Dominate
โดยระบุวิธีการพัฒนาตนเองให้เป็น Generalist ด้วย 5 ขั้นตอน คือ
1. เรียนรู้หลาย ๆ ทักษะ - เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานให้พอรู้ ยังไม่ต้องถึงกับชำนาญมาก
2. เรียนรู้แต่ละวิชาให้ลึกขึ้น - เหล่าผู้เชี่ยวชาญนั้นมีความรู้แบบลึก ขณะที่เหล่าเป็ดพรีเมียมนั้นจะมีความรู้แบบกว้าง แต่เราสามารถรู้ทั้งลึกและกว้างได้พร้อม ๆ กัน จนมีความรู้แบบตัว “T” ด้วยการใช้เทคนิค “เรียนรู้และทบทวน” คือแบ่งเวลาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ 80% และใช้เวลา 20% ในการทบทวนทักษะเดิม
3. เรียนให้รู้ 80% - เมื่อเป็ดพรีเมียมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจึงไม่จำเป็นต้องรู้ลึกถึง 100% ควรเรียนรู้เพียง 80% ตามกฎผลตอบแทนลดน้อยถอยลง (Diminishing Return) ที่ระบุว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราทุ่มปัจจัยการผลิต (เวลา) ไปแล้วจะได้ผลผลิต (ทักษะ) ที่น้อยลงก็ควรไปเพิ่มทักษะอื่นแทน
4. บูรณาการทักษะเข้าด้วยกัน - เมื่อเรียนรู้ทักษะได้ครบแล้ว ให้ลองใช้ทักษะเหล่านั้นในการทำงาน ซึ่งหากพบว่ายังมีบางทักษะที่ยังทำได้ไม่ดี ก็ฝึกเพิ่มให้ชำนาญ
5. ทบทวนและท้าทาย - แม้จะฝึกฝนจนชำนาญแล้วแต่ยังคงต้องมีการทบทวนบทเรียนอยู่เสมอ รวมถึงปรับการฝึกให้ยากขึ้นเล็กน้อย เพื่อความท้าทายและไม่ทำให้เราย่ำอยู่กับที่
การเป็น มนุษย์เป็ดนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่การพัฒนาตนเองให้เป็นเป็ดพรีเมียม นั้นจะช่วยเพิ่มโอกาสในหน้าที่การงานให้กับตัวเราเพิ่มมากขึ้น ตามตลาดแรงงานที่หมุนเปลี่ยนไป ทั้งนี้เราไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองจนสูญเสียตัวตน ค่อย ๆ พัฒนาตนเอง ไม่ต้องเร่งรีบ เพื่อความยั่งยืนและความสุขของตัวเราเอง
ที่มา: Adaptivity, Datarockie, Human Resources Director, Investerest, The Standard, The Times of India