เพราะ “ไฮบริด” คืออนาคต ส่องทักษะที่พนักงานต้องมี รับ “วันแรงงาน 2566”
เมื่อการทำงานแบบไฮบริด ทำงานที่บ้านสลับกับการเข้าออฟฟิศ เป็น new normal ที่ใครๆ ก็ทำกัน แต่องค์กรจะต้องเตรียมพนักงานให้มีทักษะเหล่านี้เพื่อการทำงานอย่างราบรื่น รวมถึงแยกให้ชัด งานไหนทำที่บ้านได้ งานไหนควรทำที่ออฟฟิศ
แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายลง จนหลายชาติเริ่มทยอยยกเลิกมาตรการการป้องกันโควิด-19 ทั้งหมดแล้ว แต่การทำงานแบบผสมผสานที่มีทั้งการทำงานในออฟฟิศและการทำงานจากที่บ้านจะยังคงอยู่ และเป็นเทรนด์การทำงานสำหรับอนาคต ซึ่งองค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องหาทางปรับตัวและยกระดับทักษะของพนักงานให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
เนื่องในโอกาส “วันแรงงาน” 1 พฤษภาคม 2566 กรุงเทพธุรกิจ ชวนผู้อ่านค้นหาความสำคัญของการทำงานผสมผสาน หรือ ไฮบริด พร้อมหาเทคนิคอัพสกิลของตนเองให้อยู่รอดได้ในยุคที่ไม่จำเป็นต้องทำงานจากออฟฟิศเพียงอย่างเดียว จาก ดร.เกล็บ ซิเพอร์สกี้ (Dr. Gleb Tsipursky) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานแบบไฮบริด และที่ปรึกษาของซีอีโอหลายบริษัท
- ไฮบริดคืออนาคต
ช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดหนัก ส่งผลให้ราว 2 ใน 3 ของชาวสหรัฐต้องทำงานจากที่บ้านจนกลายเป็นเรื่องปรกติ ซึ่งเมื่อการแพร่ระบาดของโควิดเริ่ม-19 เริ่มซาลง นายจ้างส่วนใหญ่ก็ยังคงจะให้พนักงานทำงานแบบสลับกันเข้าออฟฟิศต่อไป โดยการสำรวจของ Gallup บริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการ เมื่อปี 2020 พบว่า 2 ใน 3 ของนายจ้างจะให้พนักงานทำงานจากที่บ้านต่อไป ขณะที่การสำรวจในปี 2021 ของ Microsoft บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ระบุว่า 3 ใน 4 ของนายจ้างยังคงให้พนักงานทำงานแบบไฮบริดหลังจากการระบาดสิ้นสุดลง
อันที่จริงในตอนนี้บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งประกาศเปลี่ยนให้พนักงานเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ 1-3 วันต่อสัปดาห์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่บริษัทที่มีพนักงานน้อยลง ก็ตัดสินใจให้พนักงานส่วนใหญ่ หรือทั้งหมดในบางบริษัททำงานที่บ้านเป็นการถาวร
เป็นไปในทางทิศทางเดียวกันกับผลสำรวจความเห็นของพนักงานหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็น สมาคมนักทรัพยากรบุคคลมืออาชีพแห่งสหรัฐ (SHRM), Envoy บริการแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์การจัดการ และ FlexJobs เว็บไซต์หางาน ที่ระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า 2 ใน 3 ของพนักงานต้องการจะทำงานแบบไฮบริด ขณะที่ 1 ใน 4 ต้องการทำงานจากที่บ้านแบบถาวร
ดังนั้นองค์กรจึงจำเป็นจะต้องเพิ่มทักษะให้พนักงานของตนสามารถทำงานจากที่บ้าน หรือที่ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากการเข้าออฟฟิศ โดยซิเพอร์สกี้ (Tsipursky) ได้แนะนำให้พัฒนาทักษะ 3 ด้าน คือ
- แยกให้ชัด งานไหนทำที่บ้านได้ งานไหนควรทำที่ออฟฟิศ
พนักงานที่ทำงานแบบไฮบริดจะต้องเรียนรู้วิธีการทำงานจากสถานที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าสถานที่ทำงานย่อมเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำงาน แตกต่างจากที่บ้านที่มีสิ่งเร้าทำให้ว่อกแว่กจากการทำงานได้ง่าย และอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่สะดวกกับการต้องประชุมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเพราะมีคนอยู่ที่บ้าน ที่อาจมาปรากฏตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียร
ดังนั้นองค์กรควรให้คำแนะนำพนักงานถึงแนวทางการปฏิบัติที่ดีสำหรับการทำงานแบบเข้าออฟฟิศสลับกับการทำงานอยู่บ้าน โดยงานที่จำเป็นต้องทำเป็นทีม เช่น การประชุม การแบ่งงาน ระดมความคิด รายงานความคืบหน้าของโครงการ ควรจะทำให้เสร็จในที่ทำงาน และเมื่อถึงวันที่ต้องทำงานที่บ้าน ควรให้พนักงานทำงานที่ตนเองได้รับมอบหมาย รวมถึงเตรียมข้อมูลต่าง ๆ สำหรับการประชุม หรืองานต่าง ๆ ที่ต้องทำที่บริษัท
- การสื่อสารและการทำงานร่วมกันในโลกเสมือนจริง
แม้จะบอกว่าการประชุมอาจไม่เหมาะสำหรับการทำงานที่บ้าน แต่ในหลาย ๆ ครั้งเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการประชุมได้ และในปัจจุบันก็มีโปรแกรมและแอปพลิเคชันมากมายสำหรับการประชุมออนไลน์ เช่น Zoom หรือ Microsoft Teams
นอกจากบริษัทควรสนับสนุนการใช้โปรแกรมเหล่านี้แก่พนักงาน และสอนพวกเขาให้ใช้งานขั้นพื้นฐานได้แล้ว ยังจะต้องใส่ใจกับการสื่อสารและการทำงานร่วมกันในโลกเสมือนจริงอีกด้วย เพราะแอปพลิเคชันประชุมออนไลน์ รวมถึงการสั่งงานผ่าน LINE ล้วนทำให้การสื่อสารด้วยอวัจนภาษา เช่น น้ำเสียง ภาษากาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการแสดงอารมณ์ของมนุษย์ขาดหายไป ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการสื่อสารได้
หลายครั้งที่การทำงานร่วมกันผ่านตัวอักษร เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง เพราะตัวอักษรไม่เห็นท่าที ไม่มีอวัจนภาษาจึงยากที่จะตีความว่า ผู้ส่งรู้สึกอย่างไร แตกต่างจากการเจอหน้ากันในที่ทำงาน ที่ได้เห็นกริยา ท่าทาง และน้ำเสียง ดังนั้นการฝึกอบรมด้านความฉลาดทางอารมณ์และสังคมที่ปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเสมือนจริง จะช่วยให้พนักงานสื่อสารและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ทักษะสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน
แม้ว่าเหล่าพนักงานจะยินดีกับการทำงานจากที่บ้านมากกว่าจะเข้าออฟฟิศ แต่พวกเขายอมรับว่า ในหลาย ๆ ครั้งการทำงานแบบ Work From Home นั้นหนักกว่าทำงานในบริษัทเสียอีก เพราะพวกเขาจำเป็นต้องเฝ้าหน้าจอสแตนด์บายรอตอบข้อความจากเจ้านาย แม้ว่าจะเลยเวลางานแล้วก็ตาม เหมือนต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน จนทำให้หลายคนรู้สึกหมดไฟในการทำงาน และเกิดเทรนด์ Quiet Quitting ที่เป็นการทำงานตามหน้าที่ขึ้น
เพื่อไม่ให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน จนพนักงานยื่นลาออก บริษัทควรกำหนดระยะเวลาการทำงานให้ชัดเจน และต้องดูแลไม่ให้หัวหน้างานสั่งงานลูกน้องนอกเวลางาน นอกจากจะมีเหตุฉุกเฉินจริง ๆ ซึ่งก็ไม่ควรมากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน และจัดเตรียมทีมนักจิตวิทยาไว้สำหรับดูแลสุขภาพจิตของพนักงานด้วย
ที่มา: Forbes