วิพากษ์แต่ไม่ด้อยค่า | รศ.บวร ปภัสราทร

วิพากษ์แต่ไม่ด้อยค่า | รศ.บวร ปภัสราทร

ช่วงเวลาแห่งการวิพากษ์เกิดขึ้นเสมอ หลังจากพ่อแม่ได้เห็นผลการเรียนของลูก เมื่อได้พบเห็นนโยบายจากพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้ง แต่ไม่เคยพบว่าการวิพากษ์ที่มุ่งเน้นการด้อยค่าของผู้รับคำวิพากษ์จะนำไปสู่การพัฒนาในทางที่ดีขึ้น

ไม่มีสังคมใดที่เจริญพัฒนาได้ในขณะที่ผู้คนต่างพากันด้อยค่าสารพัดเรื่องที่มาจากฝ่ายที่ตนไม่ชอบ ฝ่ายหนึ่งว่าอันนี้ดี อีกฝ่ายก็ว่าอันนั้นเลว จนปรากฏเป็นสังคมอุดมความย่ำแย่

การวิพากษ์เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนา วงการวิจัยฝึกฝนกันอย่างจริงจังว่าจะให้คำวิพากษ์อย่างไรจึงจะช่วยต่อยอดงานวิจัยนั้นให้มีผลงานดีมากขึ้นไปอีก ไม่มีการฝึกให้เอาแต่ด่างานวิจัยของคนอื่น พ่อแม่ที่พูดใส่หน้าลูกว่าโง่เง่าเมื่อไม่พอใจผลการสอบของลูก ไม่มีวันได้เห็นลูกเติบโตก้าวหน้าในชีวิต 

ถ้าโดยสารรถที่คนขับขับเร็วเกินไป แล้วตะโกนบอกว่าขับรถแบบนี้เดี๋ยวก็ตายกันหมด ก็อาจจะได้ตายกันจริงๆ ถ้าบอกว่าขับเร็วไปถึงปลายทางเร็ว แต่มีโอกาสเจออุบัติเหตุมากไปหน่อย โอกาสไปถึงปลายทางโดยปลอดภัยมีมากกว่าเยอะ การวิพากษ์ให้คุณค่า แต่วิพากษ์โดยการด้อยค่าให้โทษ

แม้ว่าการวิพากษ์เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ผู้คนโดยทั่วไปถูกโปรแกรมมาให้ชอบคำเยินยอมากกว่าคำวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีใครโกรธเพราะได้รับคำเยินยอที่เกินจริง ตรงข้ามกับที่มีความพอใจเมื่อได้รับคำเยินยอชมเชย

การตอบสนองการวิพากษ์มักเริ่มต้นด้วยสภาวะแห่งความไม่พอใจ ดังนั้น “ตบหัวแล้วลูบหลัง” จึงใช้ไม่ได้กับการวิพากษ์ในสิ่งที่ต้องการให้เกิดการพัฒนา ต้องเปลี่ยนมาเป็น “ลูบหลังแล้วตบหัว” แทน 

พยายามเริ่มต้นการวิพากษ์ด้วยการหาอะไรดีๆในเรื่องที่จะวิพากษ์นั้นนำหน้ามาก่อน เพื่อให้คนที่จะรับการวิพากษ์อยู่ในโซนแห่งความสบายใจ เมื่อได้รับคำวิพากษ์ ระดับความไม่พอใจจะได้ไม่สูงมากจนนำไปสู่สภาวะการตอบโต้อย่างสาสม คือไม่พอใจจนกระทั่งพยายามโต้กลับเพื่อหวังให้ผู้ให้คำวิพากษ์เจ็บปวดกันบ้าง 

ในสภาวะนี้ ความมีเหตุผล และการมีตรรกะหมดไปแล้ว เหลืออยู่แต่สัญชาตญาณในการตอบโต้ การวิพากษ์กลายเป็นการปะทะคารม ถ้าสภาวะนี้คงอยู่ยาวนาน จะกลายเป็นสงครามป้ายสีระหว่างกัน ต่างฝ่ายต่างหาอะไรเลวๆ มาส่งมอบให้กันและกัน

ซึ่งต่างฝ่ายต่างไม่ได้อะไรขึ้นมาเลยจากเรี่ยวแรงและเวลาที่ใช้ในการตอบโต้กันนั้น หลายสังคมย่ำแย่ยาวนานเพราะผู้คนต่างติดอยู่กับสภาวะของการตอบโต้ โดยไม่มีสติเพียงพอที่จะก้าวไปสู่สภาวะต่อไป

การวิพากษ์ที่ไม่สร้างสภาวะไม่พอใจให้ยืดเยื้อ ต้องเป็นการวิพากษ์ที่ไม่ใช่การด้อยค่าคนที่ทำงานนั้น ต้องเป็นการวิพากษ์ที่คนรับนำไปปฏิบัติได้ ไม่ใช่แค่บอกว่าเรื่องอะไรแย่ แต่ต้องบอกด้วยว่าเรื่องที่ไม่แย่นั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่บอกว่าเปลี่ยนอย่างนี้แย่ เปลี่ยนไม่ได้ ต้องบอกว่าที่เปลี่ยนแล้วไม่แย่เป็นอย่างไร 

ขอเน้นว่าการวิพากษ์ที่ไม่ด้อยค่าและไม่สร้างสภาวะความไม่พอใจให้ยืดเยื้อ ต้องเป็นการวิพากษ์สิ่งที่กระทำ ไม่ใช่การด้อยค่าตัวคนกระทำ วิพากษ์งานไม่ใช่วิพากษ์คน บอกว่างานดีไม่พอตรงไหน ไม่ใช่บอกว่าคนทำเลวอย่างไร

การวิพากษ์โดยไม่ด้อยค่านั้น คนวิพากษ์ต้องมีปัญญาในระดับหนึ่งจึงจะกระทำได้ ครอบครัวที่ทำได้แค่ด่าลูกเมื่อผลการสอบไม่ถูกใจพ่อแม่ บ่งบอกว่าปัญญาของพ่อแม่มีมากน้อยเพียงใด

การวิพากษ์จะได้ประโยชน์จริงจังก็ต่อเมื่อก้าวไปสู่สภาวะการยอมรับเพื่อนำไปพัฒนา หายโกรธแล้ว ไม่คิดจะตอบโต้แล้ว เกิดสติพอที่จะตรึกตรองดูว่าที่แนะนำมาพร้อมกับคำวิพากษ์นั้น ตรงไหนบ้างที่น่าจะเอามาใช้ประโยชน์ได้บ้าง คำวิพากษ์ก็จะมีคุณค่าขึ้นมาทันที 

การวิพากษ์จะมีคุณค่าขึ้นมาได้นั้นมาจากความพยายามของทั้งผู้วิพากษ์ และผู้รับคำวิพากษ์ ผู้วิพากษ์มีปัญญาพอที่จะชี้จุดเด่นและโอกาสในการพัฒนาในเรื่องนั้น โดยไม่ด้อยค่าในตัวผู้รับ ในขณะที่ผู้รับมีปัญญาพอที่จะปรับตัวจากที่ถูกโปรแกรมไว้ให้ชอบคำชม และโกรธคำตำหนิ มาเป็นการมีสติพิจารณาการวิพากษ์อย่างมีตรรกะ

ระดับของการวิพากษ์จึงบ่งบอกระดับปัญญาของสังคมนั้นเสมอ สังคมด้อยปัญญาเต็มไปด้วยการด้อยค่า สังคมอุดมปัญญาเท่านั้นที่การวิพากษ์นำไปสู่การพัฒนา


คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร 
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]