‘โง่แต่อวดฉลาด’ (Dunning-Kruger Effect) อันตรายในแวดวงนักลงทุน ?
เพราะอะไร ? บางคนถึงมั่นใจว่าตนเองมีความรู้ในเรื่องต่างๆ ดีพอ หรือรู้ดีกว่าคนอื่น ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว พวกเขาไม่ได้รู้หรือเข้าใจเรื่องราวเหล่านั้นเลย คนที่มีพฤติกรรมเหล่านั้นเรียกว่า “Dunning-Kruger Effect” และยิ่งมีความอันตรายหากเกิดขึ้นในแวดวงการลงทุน
Key Points:
- เหตุผลที่บางคนมั่นใจว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในบางเรื่อง ทั้งที่ไม่ได้รู้ลึกรู้จริง เกิดจาก อคติเชิงรับรู้ เรียกว่า Dunning-Kruger Effect
- ผลกระทบจากพฤติกรรมโง่แต่อวดฉลาดนั้น ส่งผลให้การประเมินความรู้ความสามารถของตนเองและผู้อื่นผิดเพี้ยนไป
- ปรากฏการณ์ภัยความมั่นนี้ เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่อันตรายของนักลงทุนหน้าใหม่ ที่อาจทำให้ตัวเองขาดทุนมหาศาล
“ไม่ได้รู้จริง แต่ทำเป็นเก่ง”
“รู้แค่ผิวเผิน แต่มั่นใจว่าเข้าใจทุกอย่าง”
“ไม่ได้เข้าใจในเรื่องนั้นทั้งหมด แต่มั่นอกมั่นใจว่าตัวเองรู้ดี”
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมใครบางคนถึงมีความมั่นอกมั่นใจในเรื่องที่ตัวเองยังไม่รู้ดีหรือไม่เข้าใจมากพอ จนนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและมั่นใจแบบผิดๆ โดยพฤติกรรมเหล่านี้ถูกนิยามว่ามีความเชื่อมโยงกับ “ทฤษฎีแห่งความมั่นหน้า” หรือ “Dunning-Kruger Effect” โดยเป็นอาการที่เกิดขึ้นในระดับการรับรู้ข้อมูลหรือความรู้บางอย่างแค่เบื้องต้นเท่านั้น แต่กลับหลงคิดไปว่าตัวเองรู้ลึก รู้จริง เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ซึ่งความคิดเหล่านั้นถือว่าเป็นอคติ ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถประเมินความสามารถที่แท้จริงของตัวเองได้
สำหรับทฤษฎีแห่งความมั่นหน้านี้ สามารถพบเห็นได้ในกลุ่ม “นักลงทุน” หน้าใหม่ เนื่องจากพวกเข้าเริ่มเปิดพอร์ตและศึกษาตลาด รวมถึงข้อมูลต่างๆ ในตลาดหุ้นอย่างจริงจังจนเริ่มมีความรู้ในระดับพื้นฐาน ทำให้พวกเขามีความมั่นใจมากขึ้นตามไปด้วย แต่เนื่องจากพวกเขายังขาดประสบการณ์และความรู้เชิงลึก ก็อาจทำให้นักลงทุนหน้าใหม่เหล่านี้ เผลอทุ่มเงินจำนวนมาก(อย่างมั่นใจ) ในการลงทุนครั้งแรกๆ ก่อนจะมารู้ความจริงในภายหลังว่า ยังมีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนอีกมากมายที่อาจทำให้พวกเขาไม่ต้องเสียเปรียบ ด้วยการลงทุนกับเงินก้อนใหญ่ในครั้งนั้น
- Dunning-Kruger Effect เป็นอย่างไร ทำไมทำให้ใครบางคนมั่นหน้า
“Dunning-Kruger Effect” หรือ ดันนิ่ง-ครูเกอร์ เอฟเฟกต์ แม้ว่าจะยังไม่มีชื่อเรียกในภาษาไทยอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นที่รู้จักกันในนาม ทฤษฎีแห่งความมั่นหน้า, ทฤษฎีแห่งความมั่นอกมั่นใจ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า “โง่ แต่อวดฉลาด” ถือว่าเป็นทฤษฎีเรื่องอคติเชิงรับรู้ หรือ Cognitive Bias ที่มีคำอธิบายไว้ว่า เมื่อใครสักคนเริ่มเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว ความมั่นใจในองค์ความรู้ของพวกเขาเหล่านั้นจะเพิ่มสูงขึ้นทันที (แม้จะไม่ได้มีความรู้สูงก็ตาม)
ทำให้บางคนเผลอคิดไปเองว่า ตัวเองเก่งและเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านั้นมาก ทั้งที่ความจริงแล้วอาจยังไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะพวกเขายังไม่ได้ศึกษาลงไปในเชิงลึกแต่กลับมั่นใจในตัวเองเสียก่อน ทำให้บางคนไม่สนใจจะศึกษาเพิ่มเติมด้วยความเชื่อที่ว่าตัวเองรู้ดีที่สุด
แนวคิดนี้เริ่มต้นในช่วงปี 1999 โดย นักจิตวิทยา 2 คน คือ David Dunning (เดวิด ดันนิ่ง) และ Justin Kruger (จัสติน ครูเกอร์) ได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ความสามารถที่มีอยู่จริง กับความรู้ความสามารถตามความคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งพวกเขาได้ทำการทดลอง โดยให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบทดสอบหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเชิงวิชาการ ไปจนถึงการใช้อารมณ์
โดยก่อนการประกาศผลคะแนน ทีมวิจัยให้กลุ่มตัวอย่างประเมินผลทดสอบของตัวเองด้วยความคิดของตัวเอง ผลปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างที่ทำแบบทดสอบได้คะแนนต่ำกลับประเมินตัวเองสูงกว่าความเป็นจริงมาก ในทางตรงกันข้ามกลุ่มตัวอย่างที่คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลับประเมินการทดสอบของตัวเองไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก
จากผลการทดลองดังกล่าวทำให้ Dunning และ Kruger เกิดคำถามว่าเพราะอะไรคนที่ไม่เก่งถึงเชื่อมั่นในตัวเองว่าเก่งเกินจริง ? พวกเขาจึงให้กลุ่มตัวอย่างสลับกันดูแบบทดสอบของอีกฝ่ายเพื่อดูความแตกต่างของคำตอบและให้พวกเขาประเมินผลทดสอบตัวเองอีกครั้ง ซึ่งผลที่ได้ก็คือกลุ่มที่ได้คะแนนต่ำ ก็ยังคงเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองตอบไปนั้นถูกต้อง จึงประเมินผลการทดสอบของตัวเองไว้มากเหมือนเดิม
ดังนั้น Dunning และ Kruger จึงได้ข้อสรุปจากการทดลองนี้ว่า เหตุผลที่ทำให้คนที่ไม่เก่งยังเชื่อในตัวเองเสมอว่าเป็นคนเก่งนั้นก็เพราะมี “อคติเชิงรับรู้” จึงเชื่อในตัวเองแบบสุดๆ เชื่อว่ารู้ทุกอย่างและเป็นคนที่ฉลาดที่สุด ทำให้การประเมินความรู้ความสามารถของตนเองและผู้อื่นผิดเพี้ยนไป
ปัญหาของความมั่นหน้านี้เกิดขึ้นได้กับผู้คนทุกเพศทุกวัย และทุกอาชีพ แต่กลุ่มคนที่มักได้รับการพูดถึงว่ามีบุคลิกตรงตามทฤษฎีดังกล่าวก็คือ “นักลงทุนหน้าใหม่”
- เพราะมั่นใจเกินไป นักลงทุนหน้าใหม่จึงผิดพลาด
“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน” ถือเป็นประโยคที่ทุกคนได้ยินอยู่บ่อยๆ ในโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน และแน่นอนว่า “การลงทุน” คือความไม่แน่นอน และอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ จากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น ความเสี่ยงจากตลาด ความเสี่ยงทางธุรกิจ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง หรือ ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
ดังนั้นในโลกของการลงทุน หากไม่ต้องการเสียผลประโยชน์มากเกินไป เหล่านักลงทุนจึงจำเป็นจะต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดของการลงทุนทุกประเภท ก่อนจะตัดสินใจลงทุน เพราะแม้จะไม่ได้กำไรกลับคืนมามากแต่ก็ไม่เสียผลประโยชน์มากเกินไปเช่นเดียวกัน
แต่สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่บางคนที่เพิ่งจะก้าวเข้าสู่โลก แห่งการลงทุนนั้น เมื่อเริ่มอ่านกราฟและคาดเดาทิศทางของตลาดได้ในขั้นต้น ทำให้เริ่มมีความมั่นใจตามมา และยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้นเมื่อพวกเขาเริ่มเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองได้ศึกษามาเพียงน้อยนิดนั้นคือความรู้ทั้งหมดที่สำคัญเกี่ยวกับการลงทุน ทั้งที่ความจริงแล้ว พวกเขากลับยังไม่มีความสามารถ ประสบการณ์ หรือองค์ความรู้ที่มากเพียงพอ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี Dunning-Kruger Effect และส่งผลให้คนเหล่านี้ทุ่มเงินจำนวนมากไปกับการเล่นหุ้นหรือการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ด้วยความมั่นใจ ก่อนจะพบว่าแท้จริงแล้วการกระทำที่ขาดความรู้เหล่านี้จะทำให้พวกเขาขาดทุนอย่างมหาศาล
แต่ในทางตรงกันข้าม นักลงทุนรุ่นเก๋ามักจะมีความถ่อมตัว ไม่แสดงออกว่าตนเองมีความรู้มากกว่าคนอื่น และตัดสินใจช้ากว่าเมื่อเทียบกับคนรุ่นใหม่ (ที่มั่นหน้า) เนื่องจากพวกเขามีองค์ความรู้ในระดับสูง จึงเข้าใจว่าเวลาไหนควรลงทุนและเวลาไหนที่ควรจะรอก่อน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นแล้วในโลกแห่งการลงทุน บรรดานักลงทุนหน้าใหม่จึงไม่ควรรีบร้อนและควรศึกษารายละเอียดให้มากที่สุด ก่อนจะตัดสินใจลงทุนอะไรลงไป เมื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อการเงินของตัวเองในอนาคต
ปัญหาความมั่นหน้าจากปรากฏการณ์ “Dunning-Kruger Effect” นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแวดวงนักลงทุนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้ทั้งในห้องเรียน และออฟฟิศทั่วๆ ไป แม้เราจะไปห้ามใครไม่ให้มั่นหน้าได้ แต่เราสามารถเริ่มจากตัวเองได้ด้วยการศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้ดีเสียก่อนจะตัดสินใจทำอะไรลงไป เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดตามมาภายหลัง
อ้างอิงข้อมูล : Techsauce, ลงทุนศาสตร์, The Matter, Futuretrend, Finnomena และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย