อยากลาออก แต่ออกไม่ได้ ลองปรับวิธีคิดใหม่ อยู่ให้ได้กับงานที่น่าเบื่อ

อยากลาออก แต่ออกไม่ได้ ลองปรับวิธีคิดใหม่ อยู่ให้ได้กับงานที่น่าเบื่อ

หาทางรอดในวันที่ "ไม่มีความสุขในการทำงาน" แล้ว แต่ไม่สามารถลาออกได้ เพราะปัญหาทางการเงิน ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีคิด หรือ “Job Crafting” ด้วยการสร้างความสุขให้กับงานที่น่าเบื่อ

แต่ละคนล้วนมีสาเหตุที่ทำให้ “ไม่มีความสุขในการทำงาน” แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่เงินเดือนไม่พอใช้ ความเครียดในการทำงาน หรือแม้แต่ปัญหาเรื่อง “คน” ทั้งนายจ้างที่จุกจิกจู้จี้ ไปจนถึงเพื่อนร่วมงานที่อยากใส่ใจไปทุกเรื่อง นอกจากนี้บางคนยังรู้สึกว่าพวกเขาเริ่มไม่มีเป้าหมายในการทำงาน หมดไฟไปเฉย ๆ หมดแรงจูงใจ ทำงานให้หมดไปวัน ๆ 

จากรายงานสถานการณ์แรงงานทั่วโลก ของ Gallup บริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษา พบว่า เกิดความไม่พอใจในการทำงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย 60% ของพนักงานเกิด “ความโดดเดี่ยวทางอารมณ์” (Emotional Detachment) เพราะอาชีพของตน และ อีก 50% เกิดความเครียดทุกวันจากการทำงาน

Harvard Business Review เรียกปรากฏการณ์การทำงานแบบไม่มีความสุขนี้ว่า “ความหงุดหงิดครั้งใหญ่” หรือ Great Frustration ซึ่งส่วนมากจะส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่เป็นพิเศษ โดยรายงานจาก Deloitte เครือข่ายบริการวิชาชีพข้ามชาติ แสดงให้เห็นว่า 40% ของคนเจน Z และเกือบ 25% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลต้องการลาออกจากงานภายในสองปีข้างหน้า เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิต ความเครียด และความเหนื่อยหน่าย ทั้งนี้ 1 ใน 3 ของคนรุ่นใหม่ (เจน Z และ มิลเลนเนียล) พร้อมจะลาออกแม้ว่าจะไม่มีงานอื่นรออยู่ก็ตาม

นอกจากนี้ ผลการสำรวจของ Deloitte ยังพบว่า ถึงแม้คนรุ่นใหม่เลือกทำงานที่สอดคล้องกับความเชื่อ ค่านิยมของตนเป็นพิเศษ แต่ถ้าหากพวกเขาหางานที่อยากทำไม่ได้ ก็จำเป็นต้องทำงานทุกอย่างที่หาได้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจถดถอยและค่าครองชีพที่พุ่งสูง

แล้วจะทำอย่างไรเมื่อรู้ตัวแล้วว่าไม่มีความสุขในการทำงาน แต่จะลาออกก็ไม่ได้ เพราะกลัวจะไม่มีเงินใช้ 

  • ปรับความคิด สร้างมุมมองเชิงบวก

คนทั่วไปมักจะวางแนวทางในการทำงานแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ 1.งานที่ทำเสร็จแล้วได้รับเงินทันที หรือ จ็อบ (Job) 2.อาชีพ (Career) เป็นงานที่แต่ละคนวางแผนไว้ในอนาคตเพื่อสร้างการความก้าวหน้าและสร้างรายได้ให้มากขึ้น 3.งานเสริมที่ทำด้วยความรัก (Calling) เป็นงานมีคุณค่าในตัวเอง หรือทำเพื่อบรรลุจุดประสงค์ทางสังคม หรือความต้องการส่วนตัว เช่น บล็อกเกอร์ รับงานรีวิว ตลอดจนอาสาสมัครต่าง ๆ 

คนส่วนใหญ่มักมองงานที่ตนเองทำอยู่เป็นลักษณะของงานที่ทำให้จบ ๆ ไป ทั้งที่ความจริงแล้วมันคืออาชีพ และจะสามาสรถทำได้ยั่งยืนถ้าทำด้วยความรัก

ดังนั้นหากคุณกำลังรู้ตัวว่าไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ ลองเปลี่ยนแนวคิดที่มีต่องานนั้น ๆ 

ลอรี ซานโตส ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเยล ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาความสุข ยกตัวอย่าง “การสร้างมุมมองเชิงบวก” ให้แก่หน้าที่การงานมากกว่าการมองรายละเอียดงานในแต่ละวันไว้ว่า “หากคุณไปถามพนักงานวางยาเบื่อหนูว่างานของพวกเขาคืออะไร เขาจะตอบว่า เป็นการแก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้คน ซึ่งเป็นมุมมองที่ช่วยให้เกิดความพึงพอใจในงาน มีค่ามากกว่าเงินเดือนหรือรางวัลใด ๆ เสียอีก”

แน่นอนว่าการเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่องาน จากไม่ชอบให้กลายเป็นรู้สึกดี ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป เนรี คาร์รา ซิลลามาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเป็นผู้ประกอบการและกลยุทธ์ แนะนำให้ลองหาว่า งานของคุณสร้างคุณค่าอะไรให้กับตัวเอง หรือช่วยผู้อื่นได้อย่างไร

ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นทนายความ แทนที่จะรู้สึกว่ามันเป็นงานที่น่าเบื่อ ลองปรับความคิดใหม่เป็นว่างานของคุณสามารถช่วยคนจำนวนมากให้ได้รับความยุติธรรม ขณะเดียวกันตัวคุณเองได้ผึกสกิลการพูด อัปเดตข้อมูลกฎหมายอยู่เสมอ

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Research in Personality ได้ทดลองกับคนสองคนที่ทำงานเดียวกัน แต่มีวิธีคิดต่างกัน โดยคนหนึ่งจมอยู่กับความคิดลบ ๆ ที่มีต่องาน อีกคนมีความคิดว่างานนี้จะช่วยให้มีโอกาสเข้ามาในชีวิตมากขึ้น ซึ่งผลวิจัยพบว่า คนที่มีวิธีคิดเชิงบวกจะช่วยให้คุณสามารถก้าวหน้าในอาชีพได้ไกลยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ คุณต้องสำรวจให้รู้ว่าอะไรคือปัญหาที่ทำให้คุณไม่มีความสุขในการทำงาน เพื่อจะได้สร้างความเข้าใจโดยละเอียดถึงต้นต่อของปัญหา และจะได้หาวิธีแก้ไขได้อย่างยั่งยืน

 

  • เปลี่ยนงานน่าเบื่อให้เป็นงานที่รัก

หลังจากปรับแนวคิดและสำรวจปัญหาแล้ว ก็ถึงเวลาออกแบบงานที่คุณทำใหม่เพื่อให้ตรงกับค่านิยมและความสนใจของคุณ ด้วย “Job Crafting”

เอมี่ เวอร์เซสสเนปสกี นักจิตวิทยาองค์กร ได้คิดแนวคิด Job Crafting เป็นการปรับรูปแบบงานที่เรากำลังทำอยู่ให้ตรงกับจุดแข็งและความสนใจของตนเองให้มากขึ้น เหมือนกับการคราฟต์งานเดิมที่น่าเบื่อขึ้นมาใหม่ ให้กลายเป็นงานที่อยากทำทุกวัน ด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่

1. ปรับวิธีการทำงาน (Task Crafting) ด้วยการเพิ่มหรือลดรูปแบบงาน ขอบเขตงาน จำนวนงานที่ทำในแต่ละวัน รวมถึงจัดลำดับงานใหม่ให้เหมาะสม เช่น ทำงานเบา ๆ ในตอนเช้า จะได้ไม่เกิดความเครียดเกินไป

2. ปรับความสัมพันธ์ (Relationship Crafting) สร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน สร้างการมีส่วนร่วมในการทำงาน แลกเปลี่ยนความคิด ทำให้เปิดมุมมองใหม่ ๆ  และเสริมความคิดสร้างสรรค์

3. ปรับวัตถุประสงค์ในการทำงาน (Cognitive Crafting) สร้างเป้าหมายและหาคุณค่าในการทำงาน ว่ามีประโยชน์ต่อใครบ้าง จะทำให้งานที่เราทำมีความหมายและคุณค่ามากยิ่งขึ้น

 

  • ฝึกสกิลใหม่ ๆ 

นอกจากพยายามปรับความคิดของตัวเองให้อยู่รอดในองค์กรแล้ว ควรฝึกสกิลใหม่ อัปสกิล และ รีสกิล ด้วยการลงเรียนคอร์สออนไลน์ การอบรม เวิร์คชอปต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการลงทุนสำหรับอนาคต  เปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบกับประสบการณ์ใหม่ ๆ อีกทั้งจะช่วยให้คุณมีทางเลือกมากขึ้นในการหางานใหม่ ๆ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม 

ทั้งนี้การฝึกฝนทักษะต่าง ๆ สามารถช่วยให้พนักงานรู้สึกพึงพอใจกับงานมากขึ้น พร้อมกับช่วยลดความคับข้องใจที่ต้องเผชิญในที่ทำงานได้อีกด้วย ขณะเดียวกันสามารถให้คุณสามารถเข้าใกล้เป้าหมายในการทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องลาออกจากงานปัจจุบัน

หากคุณกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ออฟฟิศที่เป็นพิษ ท่ามกลางสังคมที่พร้อมจะหักหลัง เงินเดือนไม่คุ้มค่าเหนื่อย อยู่ไปก็มีแต่ทำลายสุขภาพกายและใจ คุณสามารถลาออกได้เลย ไม่จำเป็นต้องทนอยู่

อย่างไรก็ตาม ไม่มีงานใดที่ไม่มีปัญหา และเกือบทุกงานสามารถทำให้คุณไม่มีความสุขได้ตลอดเวลา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวิธีแก้ไขปัญหา เพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้โดยกระทบต่อการใช้ชีวิตน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็วางแผนสำหรับอนาคตของคุณด้วยการหาสกิลใหม่ และเปิดกว้างต่อทุกโอกาสที่เข้ามาหา


ที่มา: Harvard Business ReviewInsiderRadical FIRERefineryVietcetera