Procrastination ผู้นำสมอง ควรหยุดผลัดวันประกันพรุ่ง | ดร.ธัญ ธำรงนาวาสวัสดิ์

Procrastination ผู้นำสมอง ควรหยุดผลัดวันประกันพรุ่ง | ดร.ธัญ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ผู้นำสมองควรหยุดผัดวันประกันพรุ่ง เลิกบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร แล้วเปิดใจรับรู้รักเรียนสิ่งใหม่ๆ โดยไม่ด่วนตัดสิน มองโอกาสแห่งอนาคตมากกว่าอุปสรรคที่มากับอดีต

“I am writing about procrastination การผัดวันประกันพรุ่ง” นายธีร์ลูกชายผมเล่าว่านักเรียนทุกคนต้องเขียนเรียงความและนำเสนอต่อหน้าทั้งโรงเรียน 

“Do you know that our brain is built to procrastinate?” ผมเล่าบ้าง 

Dr. Karl Friston แห่ง University College London ผู้ตั้งทฤษฎี Grand Unified Theory อธิบายกฏกลางแห่งระบบการทำงานของสมองว่า “The brain functions by minimizing free energyสมองหาวิธีใช้พลังงานน้อยที่สุดเพื่อประคองให้เราอยู่รอด 

Dr. John Medina ผู้เขียนหนังสือ Brain Rules บอกว่าวิวัฒนาการครั้งสำคัญของมนุษย์เกิดขึ้นเมื่อบรรพบุรุษของเราเรียนรู้ที่จะเดินสองขาในทุ่งหญ้า สิ่งที่ตามมาคือพลังงานที่ประหยัดได้อย่างมากมาย และพลังงานนั้นถูกนำไปใช้พัฒนาพลังความคิดแทนเขี้ยวเล็บอันแหลมคม  

สมองของเรากินไฟอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย แม้จะมีน้ำหนักเพียง 2% ของทั้งหมด (ประมาณ 1.5 กิโลกรัม) แต่ใช้เลือดไปเลี้ยงถึง 20% หรือสิบเท่าของอวัยวะอื่น 

เครื่องมือศึกษาสมองในปัจจุบันเช่น fMRI อาศัยอัตราการใช้เลือดเช่นนี้ วิเคราะห์การทำงานของสมอง ทั้งด้านการแพทย์ และด้านการบริหารจัดการสมอง 

ดังนั้นเมื่อเป็นไปได้ สมองจะพยายามประหยัดพลังงาน ด้วยกระบวนการทำงาน 4 ระบบ ผมเคยอธิบายถึง Survival Pyramid ไว้ในหนังสือ ‘ผู้นำสมองใครๆ ก็เป็นได้’  

1. X System ระบบแรกของพีระมิดนี้ใช้ไฟน้อยที่สุด แปลว่าทำง่ายสุดสำหรับสมอง มีไว้ยามเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้า 

เวลามีข้อมูลเข้ามาสู่สมอง (Input) เช่น หัวหน้าเรียกคุยที่ห้อง หากสมองคิดว่าเรื่องนี้อาจคอขาดบาดตาย เช่น รู้ตัวว่าไปโกหกลูกค้าไว้ สมองจะดีดไปที่ระบบ Sympathetic หรือที่ Dr. Matthew Lieberman แห่ง UCLA เรียกว่าระบบ X system ซึ่งเป็นตัวย่อของ Reflexive แปลว่า ตื่นตัว ตระหนก ตอบสนองทันควัน หัวใจจะเต้นแรง เลือดจะถูกดึงออกจากหัวไปเลี้ยงเท้าเพื่อเตรียมสู้หรือหนีด้วยสัญชาตญาณ 

2. Habit สมองพยายามประหยัดพลังงานไว้ เผื่อต้องใช้ในการเอาตัวให้รอด 

ระบบที่สองคือ Habit Formation หรือการทำสิ่งต่างให้เป็นพฤติกรรมซ้ำๆ จนเคยชินให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เวลาเราใช้สมองคิดเรื่องอะไรสมองส่วน Cortex จะกินไฟมากหน่อย แต่พอเราทำจนเป็นนิสัยเช่น การกดล็อครถ Basal Ganglia จะใช้ไฟสมองน้อยกว่า

ข้อควรระวังคือหากเราไม่ดูแลให้ดี สมองจะทำเรื่องที่ไม่ควรเป็นนิสัยให้เป็นนิสัย เช่น การเขียนแผนกลยุทธ์ทำบัดเจดในแต่ละปี หลายองค์กรเช่น โกด้ก หรือ โนเกีย ตกกับดักแบบนี้มาแล้ว ฉีกตัวเองออกจากนิสัยที่คุ้นชินของสมองคนในองค์กรไม่ได้ 

3. Default Network ระบบของสมองที่ทำงานโดยไม่ต้องตั้งใจ ฝรั่งเรียกว่า ‘Thinking by not thinking’ 

ความคิดสร้างสรรค์มักเกิดขึ้นจากสมองส่วนนี้ เวลาเราจับแพะผสมกับแกะแล้วได้คำตอบใหม่ๆ ออกมา น่าเสียดายที่ปัจจุบันหลายองค์กรไม่ค่อยมีเวลาให้พนักงานใช้ระบบนี้เท่าไหร่ เอะอะก็นัดประชุม อย่าลืมว่าถ้าเราตั้งใจคิดเมื่อไหร่ระบบนี้จะปิดลง สังเกตไหมครับว่าเรามักคิดอะไรดีๆ ได้หลังตื่นนอน คิดได้ทั้งที่ไม่ตั้งใจคิด และในที่แปลกๆ เช่น ระหว่างอาบน้ำ 

4. Prefrontal Cortex พีระมิดขั้นสุดท้ายใช้ไฟเปลืองสุด คือสมองส่วนหน้า 

สมองส่วนนี้มีไว้วางแผน แก้ปัญหา ตัดสินใจ วิเคราะห์ทางเลือก สรุปผลเป็นเป้าหมาย และวินัยในการบังคับตนเองไม่ให้วอกแวก แม้จะกินพลังงานหน่อยแต่ทักษะเหล่านี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเอาตัวให้รอด 

ดังนั้น หากเราไม่ก้าวไปข้างหน้าเท่ากับเราถอยหลัง ความกล้าที่จะก้าวออกจาก Comfort Zone ของตน หยุดผลัดวันประกันพรุ่ง เลิกบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร แล้วเปิดใจรับรู้รักเรียนสิ่งใหม่ๆ โดยไม่ด่วนตัดสิน มองโอกาสแห่งอนาคตมากกว่าอุปสรรคที่มากับอดีต ล้วนเป็นทักษะชั้นสำคัญของผู้นำสมอง 

สมองเจ้าธีร์ประหยัดพลังงานจนหลับไปแล้วครับ!