แข็งก่อนค่อยอ่อนไหม? ข้อสังเกตบางประการต่อ #softpower แบบไทย

แข็งก่อนค่อยอ่อนไหม? ข้อสังเกตบางประการต่อ #softpower แบบไทย

ผมเข้าใจว่ากระแส #softpower ในประเทศไทยได้ถูกปลุกขึ้นเมื่อสัก 2 ปีก่อน โดยนักร้อง "มิลลิ" โชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงในงานแสดงคอนเสิร์ตจนกลายเป็นไวรัลไปทั่ว จนปัจจุบันคำว่า “soft power” กลายเป็นคำฮิต ติดเทรนด์

การผลักดัน soft power เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลแสดงความตั้งใจ ถึงกับตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนด้านนี้โดยเฉพาะ ด้วยความเชื่อที่ว่าการเผยแพร่คุณค่าแบบไทยให้รู้จักในสากล จะช่วยสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกและความน่าดึงดูดใจให้แก่ประเทศ จนสุดท้ายทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

หลายองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยต่างตอบรับนโยบายนี้ มีการจัดอีเว้นท์ในชื่อ soft power มากมาย ซึ่งแรงจูงใจในการร่วมขบวนนโยบายนี้คงมีหลากหลาย

บางคนอาจร่วมด้วยความชอบพอทางการเมืองได้เกาะเกี่ยวกับผู้มีอำนาจ บางคนอาจร่วมด้วยเพราะได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือเพราะถูกเจ้านายบังคับ บางคนอาจร่วมด้วยเพราะเชื่ออย่างบริสุทธิ์ว่า soft power มีความจำเป็นในการขับเคลื่อนประเทศ 

ใครจะร่วมแบบไหน และด้วยแรงจูงใจอย่างไรผมคงไม่พูดถึงเพราะยากที่จะหยั่งถึงใจคน แต่ประเด็นที่อยากชวนให้คิดในวันนี้คือ ท่ามกลางกระแส #softpower ที่เอ่อล้นไปทางเดียว ราวกับว่าทุกๆ คนเห็นดีเห็นงามกับมันไปด้วยนี้ พวกเราได้ลืมฉุกคิดถึงอะไรบางอย่างไปหรือไม่ จึงขอรวบรวมข้อสังเกตบางประการเอาไว้

แข็งก่อนค่อยอ่อนไหม? ข้อสังเกตบางประการต่อ #softpower แบบไทย

ประเด็นแรก soft power ตามความหมายตั้งต้นที่น่าจะทราบทั่วกันคือ “ความสามารถสร้างอิทธิพลต่อผู้อื่นและทำให้ได้รับผลลัพธ์ที่ต้องการ ด้วยการดึงดูดและจูงใจ ไม่ใช่ด้วยกำลังบังคับหรือใช้เงินซื้อ” ดังนั้นปฏิบัติการ soft power จึงต้องตั้งอยู่บนการใช้ “อำนาจยินยอม” (consent power) และหนึ่งในอำนาจยินยอมก็คือการชักจูงด้วยวัฒนธรรม

สิ่งที่เข้าใจผิดและพบเห็นมากคือ เรามักพูดถึง “สินค้าวัฒนธรรม” ราวกับว่ามันเป็น soft power ในตัวเอง ซึ่งไม่จริง สินค้าวัฒนธรรมอาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ soft power ได้ แต่ตัวมันเองไม่ได้เป็น soft power เสมอไป

บางสินค้าทางวัฒนธรรมที่ฮิตก็อาจจะมีความ exotic บางอย่างทำให้คนตื่นตา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างพลัง soft power ได้ 

ประเด็นที่สอง หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักอ้าง Joseph Nye เรื่ององค์ประกอบที่จำเป็น และความหมายที่เปลี่ยนแปลงและเติบโตได้ของ soft power (จำได้ว่าคุณแพรทองธารก็เคยพูดถึง) ตรงนี้ไม่ผิด แต่สิ่งที่ Nye เน้นตลอดคือ soft power มันไม่ใช่ normative concept ที่ความหมายเลื่อนไหลไปเรื่อย หรือเป็นการใช้เพื่อแสดงถึงอุดมคติว่าแบบนั้นดี แบบนั้นงาม มันควรเป็นแบบนี้หรือแบบนั้น ฯลฯ

คุณสมบัติที่เป็น “แก่น” ของ soft power ผูกโยงกับการใช้อำนาจ ดังนั้น จึงไม่ได้เกี่ยวกับด้านที่น่าปรารถนาอย่างเดียว เพราะอีกด้านหนึ่ง คนมั่วๆชั่วๆ ก็สามารถใช้ soft power ได้เช่นกันเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายและผลลัพธ์บางอย่าง

ผมจึงไม่แน่ใจว่าการใช้ soft power โดยโยงใยไปสู่เป้าหมายอุดมคติเรื่องเศรษฐกิจก้าวหน้าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยฝ่ายการเมือง โดยมีเหล่านักธุรกิจและนักวิชาการตอบรับอย่างล้นหลาม มันดูเหมือนเป็นการป้ายด้านความปรารถนาที่เกินจริงไป และไม่ช่วยให้เกิดความรู้เท่าทัน soft power อย่างที่ควรเป็น  

ประเด็นที่สาม การผลักดัน soft power ต้องมีจุดหมายปลายทางที่ไม่ใช่แค่ทำให้สินค้าทางวัฒนธรรม และ/หรือ กิจกรรมท้องถิ่นบางอย่างได้รับการยอมรับ แต่มันควรที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานะทางการเมืองและสังคมของผู้ใช้อำนาจใน “วงการ” ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง

เช่น ถ้าผลักดันเรื่องหมอลำ ปลายทางอยู่ตรงไหนเรามองเห็นภาพแวดวงอาชีพแบบฟิลฮาร์โมนิกหรือซิมโฟนีออเครสตาหรือไม่ ถ้าผลักดันอาหารไทย ปลายทางต้องไปถึงดาวมิชลินหรือไม่ ถ้าผลักดันมวยไทย ปลายทางต้องไปถึงการบรรจุโอลิมปิกหรือไม่

แข็งก่อนค่อยอ่อนไหม? ข้อสังเกตบางประการต่อ #softpower แบบไทย

ฟังแล้วอาจดูเหมือนไม่เปิดกว้างและกำหนดมาตรฐานคงตัว แต่อย่าลืมว่าหลายประเทศที่มีพลัง soft power ล้วนมีสถานะอำนาจนำในวงการต่างๆในระดับโลกทั้งสิ้น ถ้าจะแค่ว่าได้การยอมรับแบบ “ลอยๆ” โดยไม่มีสถานะ “อำนาจนำ” (hegemony) ตามมา ก็ไม่น่าจะเกิดมรรคผลใดในการผลักดันนี้

ประเด็นที่สี่ soft power ไม่อาจทำได้ถ้าไม่มี “ปัจจัยแข็ง” ที่ดี ผมขอเรียกลำลองไปก่อนว่า hardware ก็แล้วกัน ซึ่งก็คือโครงสร้างพื้นฐานและการทำงานของสถาบันเศรษฐกิจสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนา

ญี่ปุ่นอาจถือได้ว่าเป็นประเทศที่การพัฒนา soft power เห็นผลประจักษ์ในหลายเรื่อง เช่น การที่วงการฟุตบอลพัฒนาอย่างมาก ส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับวัฒนธรรมมังงะ (manga culture) ใช้การ์ตูนกระตุ้นความมุ่งมาดปรารถนา

แต่อีกทางที่สำคัญมันก็เกี่ยวกับ hardware ที่แข็งแรงด้วย คือ ญี่ปุ่นมีการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด (catching-up process) และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมให้ภาคส่วนที่ต้องการเกิดความก้าวหน้า

ฟุตบอลดีได้ไม่ใช่แค่เพราะมีคนเขียนการ์ตูนให้คนอ่านแล้วคึกแล้วเตะบอลเก่งขึ้นเอง แต่ ecosystem การสร้างระบบความเป็นมืออาชีพและมีเงื่อนไขแรงจูงใจให้แก่นักกีฬาอาชีพ การสร้างมาตรฐานเรื่องโค้ช ทีม สนามแข่ง การสปอนเซอร์โดยบริษัทชั้นนำ ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้มันต้องไปพร้อมกับกระบวนการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม เพื่อปรับเส้นทางการพัฒนา จนเกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับในวงการที่ผู้ใช้เกี่ยวข้อง ซึ่งตัวอย่างที่พูดมานี้ก็เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงอันดับในฟีฟ่าของญี่ปุ่น และสถานภาพของวัฒนธรรมมังงะ (manga culture) ที่พูดได้ว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก

แข็งก่อนค่อยอ่อนไหม? ข้อสังเกตบางประการต่อ #softpower แบบไทย

ซึ่งคำอธิบายตรงนี้ก็เป็นการช่วยขยายความประเด็นแรกที่ว่าลำพังแค่การโปรโมทสินค้าทางวัฒนธรรม เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง หมอลำ ผ้าไทย เยาวราชลิซ่า อาหารไทย หรือ เหล้าพื้นบ้านไทย มันก็ไม่อาจไปบรรลุเป้าหมายของ soft power ได้ หากเงื่อนไขที่เป็น hardware ต่างๆ ไม่อำนวยที่จะส่งเสริมการแข่งขันในระดับโลก 

ประการสุดท้าย ผมคิดว่านโยบาย 1 ครัวเรือน 1 soft power นี่ตลกมาก เพราะมันเป็นการทำให้ soft power เป็นเรื่องเชิงปัจเจก ทั้งๆ ที่การสร้างมูลค่าให้งานสร้างสรรค์และวัฒนธรรมนั้น มันเป็นเรื่องที่ผู้คนในชุมชนต้องมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน

นโยบายนี้ดูไปก็คล้ายเป็นเรื่องของการแสดงโชว์ทางวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดการหลุดพ้นปัญหาเชิงปัจเจก หรือไม่ก็กลายเป็นการเชิดชู soft power ในนามของอัจฉริยภาพแห่งบุคคล (เหมือนที่เราได้ทำมาตลอด คือ ชอบชูตัวตนศิลปินและสิ่งที่พวกเขาทำ) ไม่ใช่การยกระดับโครงสร้างการสร้างสรรค์ของภาคส่วนนั้นทั้งระบบ

ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ soft power จึงเป็นนโยบายที่ต้องใช้เวลา ประเทศที่มีความสำเร็จในการส่งผ่านวัฒนธรรมไปทั่วโลกอย่างกลมกลืน ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี หรือ อังกฤษ ใช้เวลาเป็นหลายสิบปีกว่าจะเกิดผล ไม่ใช่สิ่งที่เป็นประกายไฟให้ตื่นตาเพียงชั่วครู่ จนอาจเป็นได้เพียงแค่ buzzword ตามยุคสมัยทางการเมือง แต่ไม่ได้เกิดเพื่อเป็นการพัฒนาอย่างระยะยาวแท้จริง.