พำนักในอารามเกาหลี อีกเรื่องของ Soft Power | ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ
หากพิจารณาประวัติศาสตร์ศาสนาในคาบสมุทรเกาหลี จะพบว่าคาบสมุทรเกาหลีเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายในคติความเชื่อและความศรัทธา
แนวคิดทางศาสนาแรกเริ่มในบริเวณคาบสมุทรเกาหลีปรากฏขึ้นภายใต้ลัทธิชาแมน อันเป็นรูปแบบความเชื่อในมิติทางจิตวิญญาณเรื่องพลังอำนาจศักดิ์สิทธิเหนือธรรมชาติ จากนั้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 พระพุทธศาสนาและลัทธิขงจื่อได้เริ่มเผยแพร่จากอารยธรรมจีนเข้าสู่คาบสมุทรเกาหลี
พระพุทธศาสนาได้กลายเป็นความเชื่อทั้งสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้และการหลุดพ้นสู่โลกหน้า ในขณะที่ลัทธิขงจื่อได้กลายเป็นรากฐานสำคัญในการปกครองของเกาหลี จนพัฒนาไปสู่ลัทธิขงจื่อใหม่ ( Neo Confucianism) ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบการเมืองการปกครองในสมัยอาณาจักรโชซอน
ในขณะที่คริสตศาสนาได้รับการเผยแพร่จากราชสำนักจีนเข้าสู่อาณาจักรโชซอน ในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 ภายใต้ความสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองระหว่างสองอาณาจักร จนกลายเป็นส่วนสำคัญในการช่วยนำวิทยาการความรู้สมัยใหม่ของโลกตะวันตกเข้าสู่คาบสมุทรเกาหลีในช่วงเวลานั้น
ในจุดเริ่มแรก พระพุทธศาสนามีบทบาทในฐานะที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ด้วยคำสอนที่มุ่งให้ความสำคัญกับการมีชีวิตในโลกนี้ และคำสอนที่มุ่งสู่การหลุดพ้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นหมุดหมายที่สำคัญของพุทธธรรมคำสอน
ส่งผลให้พระพุทธศาสนามีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างออกไปจากวิถีชีวิตของปุถุชนโดยทั่วไป เช่น การตั้งอารามในเขตป่าเขาสงบที่ไกลจากชุมชน การมุ่งปฏิบัติวิปัสสนาเพื่อความหลุดพ้น และการดำรงชีวิตอยู่อย่างสันโดษภายใต้การต่อสู้ดิ้นรนของกลุ่มนักบวช
อย่างไรก็ตามภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ พระพุทธศาสนาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและการสร้างความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของปุถุชนในสังคม
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในเหตุการณ์วิกฤติทางการเงินครั้งสำคัญของเกาหลีในช่วงปีพ.ศ. 2540 ซึ่งส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในภาพรวมเกิดความสั่นคลอนอย่างรุนแรง
ภายใต้วิกฤติดังกล่าว ประธาธิบดี คิมแดจุง ได้เริ่มแนวคิดในการปรับเปลี่ยนทิศทางของนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มให้ความสำคัญกับการส่งออก “สินค้าทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นกลไกหลักในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
ในแง่นี้พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ จึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายดังกล่าวอย่างมีนัยที่สำคัญ
บทบาทของพระพุทธศาสนาในลักษณะดังกล่าวปรากฏขึ้นชัดเจนเมื่อเกาหลีใต้และญี่ปุ่นร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 (FIFA WORLD CUP 2002) ในปีพ.ศ. 2545
ในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลเกาหลีใต้มีความกังวลต่อจำนวนของนักท่องเที่ยวและนักเดินทางจำนวนมหาศาล ที่จะหลั่งไหลเข้าสู่กรุงโซลจนโรงแรมที่พักอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ
รัฐบาลเกาหลีจึงได้ร่วมประชุมปรึกษากับองค์กรพระพุทธศาสนานิกายโช-กเย อันเป็นพระพุทธศาสนานิกายหลักของเกาหลี โดยร้องขอให้เปิดอารามของพระพุทธศาสนาเป็นที่พักของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว
ข้อร้องขอนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาภายใต้การเสนอข้อแลกเปลี่ยนที่สำคัญในการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวทางศาสนาซึ่งรู้จักกันในนามกิจกรรม “การพำนักในอาราม” หรือ Templestay ให้เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าพักในอารามดังกล่าว
ในช่วงปีแรกมีผู้เข้าร่วมโครงการราว 1,000 คน ในอีกเพียง 4 ปีต่อมา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้เพิ่มมากขึ้นถึงราว 70,000 คน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2558 จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทะยานพุ่งขึ้นไปถึงราว 5000,000 คน
ในมุมมองทางเศรษฐกิจ พบว่ากิจกรรมดังกล่าวได้กระตุ้นรายได้ของอารามทางพระพุทธศาสนา ในขณะที่ภาพรวมของกิจกรรมดังกล่าวได้สะท้อนให้รัฐบาลเกาหลีตระหนักถึงศักยภาพของการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ
ในขณะที่มุมมองทางวัฒนธรรมก็ได้ชี้ให้เห็นว่าอารามในพระพุทธศาสนาได้ปรับตัวต่อความอยู่รอดในโลกยุคปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นการปรับ “วิธี” ในการอธิบาย สัจธรรมของศาสนาให้เรียบง่ายและเหมาะสมกับความเข้าใจของปุถุชนโดยทั่วไป
เช่น การศึกษาธรรมะผ่านทางเส้นทางการเดินศึกษาธรรมชาติ หรือการจัดช่วงเวลาในการร่วมประกอบอาหารอารามเกาหลี (Korean Temple Food) ซึ่งเป็นไฮไลท์ที่โด่งดังมากของกิจกรรมการพำนักในอาราม
จนนำไปสู่การสร้างสารคดีระดับโลกเกี่ยวกับอาหารอาราม สามารถสร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกได้เป็นอย่างดี
ในแง่นี้ เป็นไปได้ว่าความช่วยเหลือและร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างภาครัฐและหน่วยงานทางศาสนา คือรากฐานที่สำคัญของความสำเร็จ ซึ่งทำให้กิจกรรมการพำนักในอารามของพระพุทธศาสนาเกาหลีกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลัง Soft Power ที่สำคัญของเกาหลีในปัจจุบัน
ประเทศไทยเอง ในฐานะที่เป็นประเทศหลักที่นับถือพระพุทธศาสนาและมีวัฒนธรรมที่งดงามอาจจะต้องถอดบทเรียนในเรื่องความสำเร็จของกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งเชื่อได้ว่าจะสามารถนำมาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทั้งในเชิงเศรษฐกิจรวมถึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรทางศาสนาของเราได้เป็นอย่างดี.